สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่ได้ สังคมก็อยู่ไม่ได้


โดย : ทศพร โชคชัยผล



คนพูดว่ายืดหมด นั้น ไม่ได้ศึกษากฎหมายให้ดี แสดงความคิดเห็นตามอารมณ์ บางคนว่าศาลตัดสินประนีประนอม ผมว่าไม่ใช่เขาตัดสินตามกฎหมาย

ผ่านไปแล้วกว่า 1 สัปดาห์ แต่การแสดงความเห็นทางกฎหมายก็ยังไม่จบ สำหรับคำพิพากษาประวัติศาสตร์ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทเศษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว

โดยเฉพาะปมร้อนที่ยกขึ้นโดยนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ชื่อดังหลายคน ที่ว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจการรัฐประหารหรือไม่ แถมด้วยวลีคลาสสิก "ผลไม้อันเกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ ผลของมันย่อมเป็นพิษด้วย" ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยยกมาอ้างครั้งหนึ่งแล้วในสมัยต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปีในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

แต่ประเด็นร้อนที่ว่ากันว่าแหลมคมอย่างยิ่งนี้ ก็มีเหตุผลโต้แย้งที่แหลมคมไม่แพ้กันจาก กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

O คิดอย่างไรกับข้อวิจารณ์ของหลายฝ่ายที่ว่า คำพิพากษาคดียึดทรัพย์เท่ากับเป็นการรับรองอำนาจคณะรัฐประหารโดยศาล?

เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ หรือ fruit of the poisonous tree ในเรื่องของระบบการปกครองมันคนละเรื่องกันกับความเป็นอิสระของศาล เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วัฒนธรรมองค์กรของศาลมีความเป็นอิสระ แล้วมันพัฒนามาร้อยกว่าปี เหมือนกับหมอ มันยากที่จะมีเหตุสงสัยว่ามีการซื้อขายกันได้ แน่นอนมันก็มีเหตุที่จะสงสัย แต่เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องไปแก้ไขกัน กำจัดจุดที่บกพร่อง

แต่ว่าเมื่อเราดูประวัติศาสตร์ของศาลไทย เราต้องรู้ว่าเรามีจุดแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ศาลเราตลอดเวลาเขาต้องการเป็นอิสระ ในยุคเผด็จการเขาก็พยายามไม่ตัดสินปัญหาการเมือง ด้วยเหตุนี้เขาถึงไม่ก้าวก่ายไปวินิจฉัยว่ารัฐประหารผิดหรือไม่ผิด หลักกฎหมายมันก็มีอยู่เหมือนกัน กฎหมายต้องคุ้มครองว่าคุณต้องรักษาความสงบ หลักนั้นก็ต้องนำมาใช้กับการยึดอำนาจการปกครอง คุณมีอำนาจการปกครอง การที่คุณจะได้รับการยอมรับมีเงื่อนไข 2 อย่าง คือคุณยึดอำนาจได้ รักษาความสงบ ประชาชนไม่ต่อต้าน นี่คือเงื่อนไขอันที่หนึ่ง

เงื่อนไขข้อที่สอง คุณมีเจตจำนงที่จะรักษากฎหมายและเคารพกฎหมาย อันนี้ต่างหาก อันหลังที่มันเป็นอำนาจการปกครองได้ เพียงแต่มีอำนาจครอบงำเด็ดขาด ยังถือว่าเป็นอำนาจปกครองสูงสุดไม่ได้ มันต้องมีเจตนาว่าที่จะใช้อำนาจการปกครองนั้นภายใต้กฎหมาย

ในต่างประเทศก็มีการถกเถียงในเรื่องนี้ คือการปกครองระบอบเผด็จการ อย่างน้อยนักวิชาการในศตวรรษที่ 20 ก็สรุปว่ากฎหมายบางทีมันก็ไม่ยุติธรรม มันอยู่ที่ว่า หนึ่งมันถูกใช้เสมอภาครวมถึงกับผู้ที่ออกกฎหมายด้วย สองมันแสดงเจตจำนงที่จะรักษาให้เป็นกฎเกณฑ์ สามต้องพิพากษาให้มันเป็นกฎหมายได้โดยอาศัยกฎเกณฑ์ที่ว่ามันบังคับกันโดย เสมอหน้า และหากกฎเกณฑ์นั้นถูกบังคับใช้ในทางที่ไม่เป็นธรรม อันนั้นก็จะใช้ดุลยพินิจของศาลในการสกัดกั้นหรือลดทอนความไม่เป็นธรรม เช่น ป้องกันการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน เผด็จการเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลบางคน ศาลจะพยายามให้มันใช้ไม่ได้ไปเลย เพราะกฎหมายต้องใช้อย่างเสมอหน้า

O ประเด็นยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร อาจารย์คิดว่าอย่างไร?

ต้องดูว่าคุณภาพมันคืออะไร คุณภาพของมันคือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ส่วนข้อโต้แย้งการรัฐประหาร ผมก็เข้าใจนะ ปล่อยให้อำนาจรัฐประหารตั้งตำรวจพิเศษหรือตั้งหน่วยสอบสวนพิเศษได้ เพราะว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกลั่นแกล้งกัน นี่เป็นประเด็น แต่ว่าเขาไม่ได้ยกประเด็นนี้ว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง ประเด็นอยู่ที่ว่ามันใช้อย่างเสมอภาคหรือเปล่า อันนี้ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) เล่นงานทักษิณคนเดียวหรือเปล่า หรือ คตส.เล่นงานการใช้อำนาจโดยมิชอบทั้งหมด ถ้าเจตจำนงเป็นเจตจำนงทั่วไปที่จะดำเนินการกับการใช้อำนาจโดยมิชอบทุกกรณี มันก็เป็นกฎหมายนะ เพราะอันนี้เป็นหลักกฎหมาย

ที่สำคัญคือใครจะเป็นผู้ออกกฎหมาย ประมวลแพ่ง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ของเราออกโดยอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประมวลกฎหมายอาญาของเราก็ออกโดยอำนาจของรัชกาลที่ 5 ที่ไม่มีใครค้านได้ แล้วเป็นกฎหมายที่ดี ก็เป็นปัญหาอยู่ว่าผู้ตรากฎหมายมีการใช้โดยเจตจำนงใช้เป็นการทั่วไป และตัวเองผูกพันตามกฎหมายด้วยหรือไม่

ในแง่นี้ แนวคิดผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษมันจึงใช้ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมายกย่องอำนาจรัฐประหาร ประเด็นของผมอยู่ที่ว่ารัฐประหารนั้นมันไม่ได้ทำให้ศาลสูญเสียอำนาจอิสระ หรือศาลสูญเสียความยุติธรรมเพราะเหตุเพียงแค่การรัฐประหาร ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าคุณภาพของสิ่งที่เขาเอามาใช้เป็นคุณภาพทางกฎหมายหรือ ไม่ หรือเป็นคุณภาพตามอำเภอใจ ถ้าเป็นคุณภาพตามอำเภอใจ ศาลต้องพยายามบอกว่าไม่ให้มันมีผลเลย

แต่ก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด กรณีฎีกาคดียึดทรัพย์ปี พ.ศ.2536 (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) อันนั้นศาลบอกว่ายึดไม่ได้ ผู้พิพากษาบางคนที่ผมรู้จักบอกว่าโดยส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับการยึดทรัพย์นะ แต่การยึดทรัพย์ครั้งนั้นใช้ตามอำเภอใจ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและเปิดให้มีการไต่สวนอย่างเต็มที่ เป็นการดำเนินการข้างเดียว ผลที่สุดก็ตัดสินปล่อยไป

O อยากให้อาจารย์ประเมินคำตัดสินของศาลว่าศาลมีอิสระหรือไม่?

เท่าที่ฟัง ผมมีหลักอย่างนี้ อันที่หนึ่งต้องดูว่าการตัดสินทั้งหมดมันมีกลิ่นไหมว่าเขาใช้อำนาจตาม อำเภอใจ เช่น ตั้งธงไว้ก่อน เล่นงานอย่างเดียวโดยปราศจากเหตุผล หรือว่ามันมีเหตุผลพอฟังได้ หากเป็นการตัดสินที่มีเหตุผล ไม่ใช่ตามอำเภอใจ แล้วมันอยู่ในกระบวนการที่มีหลักประกันให้กับผู้ถูกกล่าวหาเพียงพอไหม

สรุปคือ หนึ่งเปิดโอกาสให้เขาต่อสู้ไหม สองพิจารณาโดยเปิดเผยไหม สามเมื่อมีการนำพยานหลักฐานมาปรักปรำหรือการกล่าวอ้างหลักฐานอะไรต่างๆ มีการไต่สวนเป็นที่พอใจไหม และข้อสุดท้ายในกรณีที่เราจะเรียกว่าศาลตัดสิน ได้ตัดสินให้เหตุผลในข้อโต้แย้งของผู้ที่ถูกกล่าวหาจนสิ้นกระแสความไหม ถ้าเขาโต้แย้งจนครบถ้อยกระแสความ คุณมีสิทธิโต้แย้ง เป็นเรื่องธรรมดา คุณก็ต้องยอมรับว่าอันนี้เป็นการตัดสินจากคนกลางนะ

หนึ่งเขาไม่ได้ตัดสินตามอำเภอใจ สองเขาตัดสินโดยกระบวนการที่ได้เปิดให้ต่อสู้แล้วจนเพียงพอ เปิดเผยต่อสาธารณชน เวลาตัดสินก็อ้างกฎหมาย แล้วกฎหมายที่อ้างก็มีข้อวินิจฉัย มีเหตุผลประกอบ เราก็ต้องยอมรับนะ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

O คนในกระบวนการยุติธรรมออกมาชี้แจงประเด็นนี้มาก แสดงว่าศาลเองก็หวั่นไหว...

ก็ดี ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ มันอธิบายได้ ไม่ใช่เรื่องอธิบายไม่ได้ มันเป็นเรื่องว่าคุณภาพของกฎเกณฑ์ที่ทรราชย์ออกมานั้นเป็นกฎหมายหรือเปล่า หากมีคุณภาพของกฎหมายก็ใช้ได้

O คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ อาจารย์คิดว่าเป็นอย่างไร?

มีคุณภาพทางกฎหมาย ไม่ใช่ธรรมดา แต่เป็นมาตรฐานโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยนะ อธิบายไว้แล้วว่าเป็นมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหประชาชาติรู้ตัวว่าเรื่องนี้ชัดเจนหลังเกิดดับเบิลยูทีโอ (องค์การการค้าโลก) เพราะหลังเกิดดับเบิลยูทีโอ ก็เกิดโลกาภิวัตน์ เกิดการยึดอำนาจรัฐ การที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปงาบรัฐเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทย

ในเมื่อเป็นอย่างนี้ สหประชาชาติ โออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) สหภาพยุโรป เห็นว่าเป็นต้นตอให้คนยากจนทั้งหลาย คนยากไร้ทั้งหลายจะต้องยากไร้ต่อไปอีก เพราะจะเกิดการดูดเอาทรัพยากรส่วนเกิน ดูดเอาเงินออม ดูดเอาทั้งหมดไปรวมศูนย์ไว้ในที่เดียว ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เพราะฉะนั้นเขาก็หาวิธีในการสกัดกั้นมัน ด้วยการสร้างหรือเสนอให้มีอนุสัญญาต่อต้านการคอร์รัปชัน หัวใจของมาตรการนี้คือว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่แผ่นดิน หรือคนที่ใช้อำนาจสาธารณะไปในทางที่ตนเองได้ประโยชน์ หรือทำให้รัฐเสียหาย หรือทำให้คนของตน ผู้ที่ใกล้ชิดตัวเองได้รับประโยชน์ ต้องริบทรัพย์เป็นของแผ่นดิน

O ทำไมเจ้าหน้าที่ศาลต้องออกมาชี้แจงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับคำพิพากษา แสดงว่ามีความกังวลใช่หรือไม่?

ไม่ใช่ เรื่องศาลเขาอ่อนไหว ตัวผู้ตัดสินคดีเขาไม่มีหน้าที่ต้องมาอธิบายอยู่แล้ว และเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของศาล แต่เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องทำหน้าที่อธิบาย หรือเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด เขาคงรู้สึกเหมือนผม ผมรู้สึกว่าสังคมกำลังลื่นไถลไปสู่การตัดสินกันอย่างฉาบฉวย ไม่ได้ใช้เหตุผลไตร่ตรอง เรียกสติของสังคมคืนมา ผมเชื่อว่าสติยังมี

O เป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมไหม?

ผมไม่เป็นห่วง เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นของประชาชน เขาไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเขาเองอย่างเดียว ถ้ากระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่ได้ สังคมมันก็อยู่ไม่ได้หรอก

O อาจารย์มองการเคลื่อนไหวถอดถอนผู้พิพากษาอย่างไร?

เขามีสิทธิที่จะทำได้ หากเขาไม่เห็นด้วย แต่เขาก็ต้องพิสูจน์ว่าผู้พิพากษาทำผิดกฎหมายอย่างไง...ถูกไหมครับ ในการที่คุณจะไปถอดถอนใคร เหตุก็คือ 1.ทุจริตต่อหน้าที่ 2.ฝ่าฝืนกฎหมาย 3.ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เวลาคุณจะถอดถอน คุณต้องยื่นทั้ง 3 อย่าง คุณคิดว่าประชาชนกินแกลบไหม หากประชาชนไม่กินแกลบ โอเค...เขาอาจจะโกรธชั่วครั้งชั่วคราวและยื่นมาก็ได้ คนที่รับเรื่องพวกนี้กินแกลบไหม

O สังคมได้อะไรจากคำพิพากษาคดียึดทรัพย์?

เรียนรู้ว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สาธารณะหรือผู้ที่ทำการแผ่นดินจะมีส่วน ได้เสียขัดกับแผ่นดินไม่ได้ หลักอันนี้เดิมเป็นหลักที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เพียงแต่ว่าเดิมเขาถือกันเคร่งครัด และต่อมามันหละหลวมไปเรื่อยๆ ในวันนี้คุณทำงานให้กับแผ่นดินแล้ว คุณต้องทำตามสัญญานั้น ก็คือว่าคุณจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประโยชน์ได้เสียขัดกับ ประโยชน์ของแผ่นดิน

O คำพิพากษาครั้งนี้ยังมีประเด็นที่ยังถกเถียงได้...

ผมคิดว่าเขาใช้หลักกฎหมายที่เข้าใจได้ เพียงแต่ว่าในหลายกรณีอาจอธิบายได้ชัดเจนกว่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าภายใต้เวลาอันจำกัด ศาลก็อธิบายได้ดีพอสมควร ยังมีบางตอนต้องอธิบายให้ชัดเจน เช่น คุณหญิงพจมาน (ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ) ควรจะได้สินสมรสไปครึ่งหนึ่ง แต่ศาลไม่ให้เป็นเพราะอะไร ศาลก็อธิบายเหมือนกันว่าคุณมีส่วนรู้เห็นมาตั้งแต่ต้น ถามว่าใช้กฎหมายอะไร ตรงนี้ศาลไม่ได้อธิบาย

ผมคิดว่าศาลต้องอธิบายว่าการที่บุคคลใดจะใช้สิทธิในการเรียกทรัพย์คืน ต้องใช้สิทธิภายใต้กรอบของความสุจริต ในเมื่อคุณร่วมมือ ร่วมหัวจมท้าย วางแผน คุณจึงใช้ไม่ได้ เพราะมันขัดกับหลักสุจริตตามมาตรา 5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ศาลไม่ยกให้เห็น ศาลสรุปตรงนี้ว่าคุณทำตรงนี้ขัดกับหลักสุจริต ประชาชนก็จะเข้าใจได้อีก แต่นี่บอกว่าคุณรู้เห็นจะเรียกไม่ได้ แต่เป็นเหตุผลที่ต้องคิดอีกชั้นหนึ่ง เหมือนกับตีขลุม เมื่อคิดให้ดีศาลไม่ได้ตีขลุม ศาลสรุปว่าทำเช่นนี้เป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต หากปล่อยให้มีการใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อให้ได้สิทธิ มันก็จะทำให้วันหนึ่งใครทำอะไรผิด ก็จะมาอ้างว่าตัวเองมีสิทธิได้เสมอ อันนี้เป็นสิทธิที่กฎหมายไม่ต้องการคุ้มครอง มันก็จะชัดขึ้น

O บางคนบอกว่าควรจะยึดทรัพย์ทั้งหมด อาจารย์คิดว่าอย่างไร?

อันนี้คิดแบบไม่สนใจกฎหมาย เพราะกฎหมายบอกว่าเป็นมาตรการยึดทรัพย์ ไม่ใช่มาตรการว่าคุณผิดอาญา จึงไม่ใช่คดีอาญานะ เป็นคดีเรียกทรัพย์คืนแผ่นดิน เรียกทรัพย์คืนแผ่นดินหมายความว่าอันไหนที่มันเพิ่ม คุณต้องคืน จึงออกมาอย่างนี้ จะออกอย่างอื่นไม่ได้ ก็มีนะเสียงข้างน้อยที่อยากจะยึดหมด ก็มีเหตุผลยึดหมด ต้องมีเหตุผลลึกกว่านี้อีก คือทรัพย์เดิมของคุณไม่มีแล้ว คุณทำลายมันแล้ว

เอาง่ายๆ คุณเอาเนื้อไปดักเสือ เมื่อคุณจับเสือมาได้ คุณจะเอาเนื้อคืนหรือ..ไม่ได้ เพราะเนื้อเป็นลาภที่หมดเปลือง มันสูญไปแล้ว แต่กรณีนี้มันไม่ใช่ หากศาลจะไปยึดหมด ก็ต้องอธิบายอย่างที่ผมว่าให้ได้ว่าที่คุณเอามาเป็นทุน คุณได้ใช้ทุนนั้นหมดเลย ที่คุณได้มานั้นคุณได้ใหม่ อย่างนี้ยึดหมดได้ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ศาลพิพากษา

คนพูดว่ายึดหมดนั้น หนึ่งไม่ได้ศึกษากฎหมายให้ดี ไม่ได้เอาใจใส่ เป็นแสดงความคิดเห็นตามอารมณ์ อย่างบางคนว่าศาลตัดสินประนีประนอม ผมว่าไม่ใช่ เขาตัดสินตามกฎหมาย

view