สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีทรัพย์สิน กับเหตุผลที่ไม่ควรมีข้อยกเว้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.โสภณ พรโชคชัย


ขณะนี้สำนักงาน เศรษฐกิจการคลังได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรียบร้อยแล้ว AREA ระบุไม่ควรมีการยกเว้น

ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรียบร้อยแล้ว และเสนอให้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนี้ในหลายกรณี บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เห็นว่า ไม่ควรมีการยกเว้นเพราะจะทำให้จัดเก็บลักลั่น ไม่ทั่วถึง ควรให้ทุกส่วนในสังคมมีส่วนรับผิดชอบท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย และอาจลดภาษีทางอ้อมด้านอื่นแทน

สำหรับความคืบหน้านั้นร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างทำหนังสือเวียนแจ้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อรอบรรจุเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าที่ประชุมได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยภาษีดังกล่าวมีอัตราการจัดเก็บคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ประกอบการในเชิงพาณิชย์ จัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี อัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.05%  นอกนั้นจัดเก็บไม่เกิน 0.5%

อย่างไรก็ตามในร่างดังกล่าวให้มีการยกเว้น คือ ให้ยกเว้นแก่ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวาทั้งหลายและมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทในพื้นที่สำคัญ (กรุงเทพมหานคร หัวเมืองใหญ่และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา) มูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาทในพื้นที่เขตเทศบาล และมูลค่าไม่เกิน 3 แสนบาทในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล

จากการศึกษาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส มีความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลดังนี้:

1. การจัดเก็บภาษีไม่ควรมีการยกเว้น ไม่ว่าจะขีดเส้นแบ่งที่มูลค่าทรัพย์สินเท่าใด ก็ยังทำให้เกิดความลักลั่นอยู่ดี  อาจทำให้เกิดปัญหาการทุจริตด้วยการตีราคาให้สูงหรือต่ำเกินจริง  กรณีที่ทรัพย์สินราคา 1,000,001 บาทในเขต กทม.และปริมณฑลที่ต้องเสียภาษีเพียง 0.1% นั้นก็เท่ากับเสียเพียง 1,000 บาทต่อปีหรือ 83 บาทต่อเดือนเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นภาระแก่ประชาชนแต่อย่างใด  การยกเว้นภาษีเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ และเบื่อเบาไม่ให้ประชาชนเห็นว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่พลเมืองดี

2. อัตราภาษีที่จัดเก็บไม่ควรจะต่ำจนเกินกว่าต้นทุนในการเรียกจัดเก็บ อย่างกรณีภาษีโรงเรือนในปัจจุบัน ผู้เสียภาษีบางรายเสียค่าเดินทางไปเสียภาษีมากกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย  ต้นทุนในการจัดเก็บของรัฐก็ยังอาจไม่คุ้มทุนเช่นกัน  การจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมเท่าที่ควร

3. การจัดเก็บภาษี ควรจัดเก็บกันตามมูลค่าของทรัพย์สินตามศักยภาพที่ควรจะเป็นจะได้ไม่เกิดการ ลักลั่น  เช่น ในเขตเมืองเช่นในกรุงโตเกียวแต่ก่อนก็จัดเก็บตามการใช้สอย จึงมีผู้เลี่ยงภาษีด้วยการปลูกพืชผลในที่ดินใจกลางเมืองแทนที่จะปล่อยให้ ว่างเปล่า จะได้เสียภาษีแต่น้อย  แต่ที่ดินใจกลางเมืองคงไม่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม และในหลายกรณียังต้องตีความขนาดที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรมและอื่น ๆ เสียอีก  ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงควรจัดเก็บตามมูลค่าของที่ดินตามศักยภาพที่แท้จริง โดยการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถ้วนถี่ บวกด้วยสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ด้วย

4. รัฐบาลควรประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามราคาตลาด ไม่ใช่ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรม ธนารักษ์ซึ่งอาจแตกต่างจากราคาตลาดจริงในแต่ละท้องที่  ความเป็นไปได้ของการประเมินตามราคาตลาดนั้น อยู่ที่การมีฐานข้อมูลการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นในทางหนึ่งจึงควรลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนซึ่งเป็นภาษทางอ้อมเมื่อมี ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ประชาชนจะได้แจ้งราคาจริง นอกจากนี้ควรเปิดเผยราคาที่มีการซื้อขายจริง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินค่าทรัพย์สิน ไม่ควรปกปิดทั้งนี้เพื่อป้องกันการฟอกเงิน

นอกจากนี้ควรมีมาตรการการลงโทษการแจ้งราคาซื้อขายที่ผิดปกติจากราคาตลาด เพราะคงอาจมีการฉ้อฉลที่ซ่อนอยู่บางประการ  หากรัฐบาลสามารถดำเนินการตามนี้ได้ ก็จะเป็นเช่นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการจัดทำราคาประเมินตามราคาตลาดที่แท้ จริง

5. ควรส่งเสริมให้ลดทอนภาษีทางอ้อมทั้งหลายและส่งเสริมให้มีการจัดเก็บภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นภาษีทางตรงให้มาก เพื่อเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยทางตรง  ทุกวันนี้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้เพียง 10% ของค่าใช้จ่าย เงินพัฒนาท้องถิ่นส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง  จึงเกิดกรณี “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” เพราะท้องถิ่นไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน  แต่หากให้ประชาชนเสียภาษีทางอ้อมน้อยลง และเงินพัฒนาท้องถิ่นต้องมาจากทางตรงเป็นหลักเช่นในประเทศตะวันตก  เมื่อนั้นประชาชนในท้องถิ่นก็จะทำการตรวจสอบการใช้ภาษีของตนมากขึ้น  โอกาสการโกงกินก็จะน้อยลง  คนดี ๆ ในท้องถิ่นก็จะขันมาอาสามาทำงานการเมืองมากขึ้น  ประชาธิปไตยจากรากฐานก็จะเบ่งบาน

6. ควรส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทุกคนจึงควรตระหนักและมีส่วนสนับสนุนในฐานะหน้าที่พลเมืองดี  การนี้ควรดำเนินการอย่างกว้างขวางและอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นแบบ “ไฟไหม้ฟาง” หรือ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” หรือ “ผักชีโรยหน้า” เพื่อที่ประชาชนร่วมสนับสนุนการจัดเก็บภาษีแก่บุคคลทุกระดับในประเทศไทย

7. รัฐบาลควรมีนโยบายในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนภาษีมรดก ก่อนที่จะอนุญาตให้ต่างชาติมาถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เพราะในประเทศตะวันตก ทุกคนล้วนต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1-2% ของมูลค่าบ้านในแต่ละปี และเสียภาษีมรดกหลังการขายอีก 30-45% หรืออาจเสียเป็นภาษีกำไร (Capital Gain Tax)  หากรัฐบาลอนุญาตให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยโดยไม่มีข้อกฎหมายสากล เช่นนี้ ก็เท่ากับเราตัดแผ่นดินขายให้ต่างชาติไปแบบฟรี ๆ นั่นเอง

การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินมีความสำคัญเป็น อย่างมากในการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจากรากฐานระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)

view