สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินยูโร ระเบิดเวลาลูกเก่า (1)

เงินยูโร ระเบิดเวลาลูกเก่า (1)

ทุกวันนี้มีการพูดถึงกันมากเรื่องวิกฤตการณ์หนี้ในยุโรป ที่เริ่มจากกรีซ ที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ต่างจากประเทศไทยนัก และลามไปสู่ ไอร์แลนด์ โปรตุเก

และทำเอานักลงทุนใจหายใจคว่ำ เมื่อมีข่าวว่าประเทศขนาดใหญ่อย่าง สเปน และอิตาลี ก็เริ่มมีชื่อเข้าไปในข่ายผู้ต้องสงสัยเสียแล้ว เพราะขนาดของประเทศและปัญหาไม่ “เล็ก” อีกต่อไป เริ่มจะเข้าไปสู่ขนาดที่เรียกได้ว่า too big to fail คือใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้เจ๊ง เพราะไม่มีใครมีปัญญาจะรับมือกับขนาดของปัญหาได้
 

ทำไมปัญหาหนี้สินถึงเกิดขึ้นกับประเทศในยุโรปพร้อมๆ กัน หรือไม่ไปเกิดที่อื่นกันบ้าง?
 

ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการคลังที่บางประเทศมีภาระการคลังสูง โดยเฉพาะการเป็นรัฐสวัสดิการทำให้ภาระค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนเมื่อตกงานและเกษียณอายุค่อนข้างมาก เมื่อเศรษฐกิจเริ่มซบเซารายได้ภาษีไม่พอกับรายจ่าย ทำให้หนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ส่วนบางประเทศเช่น ไอร์แลนด์เกิดจากภาระที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มระบบสถาบันการเงิน
 

แต่ปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่ง ซึ่งผมว่าเป็นปัญหาที่ซ่อนตัวมานาน และเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ จุดอ่อนของการขาดอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากการใช้เงินยูโรของหลายประเทศในยุโรป  จนทำให้บางประเทศเข้าสู่ภาวการณ์ขาดความสามารถทางการแข่งขันแบบถาวร สังเกตได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแบบยาวนาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเอามากๆ
 

ฟังดูแล้วอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกัน ผมขอย้อนเล่าเรื่องเงินยูโรให้ฟังสักหน่อยนะครับ
 

เงินยูโร เริ่มเป็นรูปเป็นร่างปลายทศวรรษ 1980s และต้นทศวรรษ 1990s โดยความคิดในการใช้เงินสกุลร่วมกันเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและลดต้นทุนจากความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรป ก่อนที่จะมีการใช้เงินสกุลยูโรอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999
 

ก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1992  ประเทศในประชาคมยุโรปได้ร่างสนธิสัญญา Maastricht เพื่อตั้งกฎเหล็กสี่ข้อไว้สำหรับประเทศที่ต้องการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน คือ
 

๐ เงินเฟ้อต้องต่ำ คือต้องไม่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำสุดในสหภาพยุโรปเกินร้อยละ 1.5
 

๐ ต้องมีวินัยทางการคลังดีเยี่ยม คือ ขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี และหนี้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP
 

๐ ต้องผ่านการทดสอบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ไม่น้อยกว่าสองปี กล่าวคือต้องเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า exchange rate mechanism (ERM) ที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยยึดค่าเงินไว้กับเงินยูโร (หรือเรียกว่า European Currency Unit-ECU ก่อนที่จะมีเงินยูโร)
 

๐ อัตราดอกเบี้ยระยะยาว ต้องไม่สูงกว่าประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำสุดเกินร้อยละสอง
 

กฎเหล็กสี่ข้อนี้ มีไว้เพื่อทดสอบว่าประเทศที่จะร่วมใช้เงินยูโร มีความสามารถในการสละนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของตนได้ (แต่ก็มีการแอบยกเว้นกฎบางข้อให้กับบางประเทศ)
 

ถ้ามองทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การสละเงินสกุลของประเทศ ก็คือก็การยอมสละนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไปด้วย  เพราะนโยบายการเงินจะถูกกำหนดโดย “ประเทศอื่น” ที่ไม่ใช่ธนาคารกลางของตนเอง (เช่นในกรณีของยูโร ก็คือธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB)
 

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ เพราะเท่ากับว่าประเทศนั้นๆ ไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงิน (ไม่สามารถตั้งอัตราดอกเบี้ยของตัวเองได้) และไม่สามารถเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองได้อีกต่อไป ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศตนจะเป็นอย่างไร
 

ทีนี้ปัญหาคือว่า  ถ้าประเทศในกลุ่มที่มีการใช้เงินสกุลเดียวกัน มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน ใครจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผมขอเขียนถึงเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้าครับ


บทความนี้ได้รับการอนุเคราะห์จาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

Tags : เงินยูโร ระเบิดเวลาลูกเก่า

view