สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้วงตับคลังหลวงเมื่อไหร่ รัฐบาลอาจไปก่อนวัยอันควร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินนโยบายเชิงรุกและล่อแหลมอย่างมากในหลายด้าน

แม้จะยกคำอ้างว่าประชาชน 16 ล้านเสียงเลือกพรรคเพื่อไทยมา ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งประเทศยอมให้รัฐบาลทำนโยบายอะไรที่อาจจะเกิดความ สุ่มเสี่ยงกับคนทั้งประเทศไทย

ล่าสุด พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ประกาศนโยบายที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเอาไปตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่ง เพื่อลงทุนด้านพลังงานและด้านอื่นๆ

พิชัย อรรถาธิบายว่า รูปแบบของการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนจะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) ซึ่งไม่ได้จำกัดการลงทุนอยู่ในการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างชาติเท่านั้น แต่หมายถึงการกระจายความเสี่ยงถือครองสินทรัพย์ที่ความมั่นคงสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือเงินสกุลหยวน

เพราะจากการที่ศึกษาพบว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประเทศนั้น ควรมีไว้เพียงประมาณ 56 เดือนของปริมาณการนำเข้าเท่านั้น ที่เหลือควรมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศมากขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังจากนั้นไม่นานนัก ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ยกร่างนโยบายพรรคเพื่อไทย ก็สั่งให้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ไปศึกษาหาวิธีการตั้งกองทุนมั่งคั่ง ด้วยการดึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิด ขึ้นแก่ประเทศชาติ

ธีระชัย ไปไกลขนาดระบุว่า การตั้งกองทุนความมั่งคั่งนั้น ให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งออกมาจัดตั้ง โดยให้เป็นบัญชีต่างหากของภาครัฐบาลแยกออกมาจากบัญชีที่ ธปท.มีอยู่ ซึ่งอาจต้องแก้กฎหมายเพื่อให้นำเงินทุนสำรองออกมาใช้ได้ เพราะที่ผ่านมา การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น สร้างผลตอบแทนได้น้อย จึงเห็นว่าควรมีการบริหารให้เกิดความเหมาะสม

การตั้งกองทุนมั่งคั่งจะเป็นการบริหารร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. โดยมีกระบวนการใช้เงินผ่านการตกลงทางการเมืองหรือรัฐบาล และต้องมีข้อตกลงว่ากำไรจะนำไปทำอะไร ขาดทุนใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนขนาดกองทุนจะเป็นอย่างไร จะลงทุนในรูปแบบใด สัดส่วนเท่าใดก็ค่อยสรุปกัน

หน้าที่ของกองทุนมั่งคั่งนี้ ธีระชัยระบุว่า “ต้องการให้ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอาเซียน+3” ร่องเสียงนี้อาจแตกต่างกับพิชัยไป2-3 คีย์

เพราะพิชัยนั้นเน้นหนักไปใน การลงทุนที่อยู่ในรูปการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างชาติ และกระจายความเสี่ยงถือครองสินทรัพย์ที่ความมั่นคงสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือเงินสกุลหยวน

สะท้อนให้เห็นปัญหาแรกว่า ฝ่ายการเมืองผู้ทำนโยบาย ยังไม่ตกผลึกว่าจะดึงเงินทุนสำรองออกมาลุยไฟตั้งกองทุนความมั่งคั่งนั้น จะเอาเงินประเทศไปทำอะไรบ้าง

ประการต่อมาที่ต้องพินิจพิจารณาร่วมกันให้ถี่ถ้วนนั้นคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่สูงถึง 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐนั้น สูงจริงและสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่กระทบกับประเทศใช่หรือไม่

ผู้บริหาร ธปท.ยอมรับว่า ทุนสำรองของไทยนั้น ถ้าพิจารณาจากปริมาณถือว่ามากเป็นอันดับ 13 ของโลก สูงกว่ามาเลเซีย ที่มีทุนสำรองแค่ 1.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และสูงกว่าอินโดนีเซียที่มีอยู่แค่ 1.22 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่า ทุนสำรองที่มีอยู่ 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐนั้น ไม่ได้สูงเกินความจำเป็น และมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะนำไปลงทุนจนอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงได้

เพราะอะไรน่ะหรือ!

1.ทุนสำรองเราที่ถืออยู่บางส่วนมีไม่ต่ำกว่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เกิดจากการเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยซื้อเงินเหรียญสหรัฐมาเก็บไว้ เพื่อพยุงค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนกระทบถึงรายได้ของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า

2.ทุนสำรองประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นทุนสำรองที่ ธปท.ต้องกันไว้ตามกฎหมายเพื่อหนุนหลังการออกธนบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ออกมาให้ใช้ภายในประเทศตามปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบ

ทุนสำรองส่วนนี้ กฎหมายบังคับไว้ชัดเจนว่าจะนำออกไปใช้ไม่ได้ ยกเว้นมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา

3.ทุนสำรองบางส่วนซึ่งเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มีไม่ต่ำกว่า 4.5-6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นฮอตมันนีหรือเงินร้อนที่นักลงทุนต่างประเทศขนมาลงทุนสั้นๆ เพื่อหากำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทย หรือเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อหากำไรสูง

เงินทุนก้อนนี้มีพฤติกรรมที่ชัดเจนคือ เข้าเร็วออกเร็ว และจะไหลเข้าไหลออกในห้วงเวลาที่ใกล้ๆ กัน

นี่คือเงินที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะเคลื่อนย้ายกันแต่ละครั้งมาเป็น โขลงไปเป็นโขลงเช่นกัน หากไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงยากแก่การควบคุม

เพราะการจะไปจะมาขึ้นกับโอกาสในการทำกำไรเป็นด้านหลัก

4.มาตรฐานการปฏิบัติของธนาคารกลางทั่วโลกจะต้องดำรงทุนสำรองไว้เพื่อรอง รับการนำเข้าอย่างน้อย 3-6 เดือน ถ้าพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าเฉลี่ยของไทยก็ตกเดือนละ 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หมายถึงว่า ไทยต้องดำรงเงินไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างน้อย 3-3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

รวมแค่นี้ก็พอเห็นภาพว่า ทุนสำรองที่ไทยมีอยู่และจำเป็นต้องรักษาไว้มีอยู่ 1.52-1.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนที่เกินมาจากข้อจำกัดในการดูแลหรือพร้อมที่จะนำไปลงทุนนั้นมีเพียง 1.5-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

นี่คือภาพความจริงที่แม้แต่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการ ธปท.ผู้ซึ่งเคยมีความคิดและผลักดันให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาในการจัดตั้งกอง ทุนไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเห็นข้อมูลก็ยอมรับและถอยกรูดไม่เป็นท่า

“เจ้าหน้าที่เขาชี้แจงว่าเงินทุนสำรองเราที่มีอยู่นั้นไม่มากพอ จะเอาไปเสี่ยงลงทุนเช่นนั้น” หม่อมเต่าอธิบายถึงการถอย

ลึกลงไปในรายละเอียดกว่านั้นอีก ที่น่าจะเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่รัฐบาลคือ ไทยมีความจำเป็นในการตั้งกองทุนชุดใหญ่ด้วยการนำทุนสำรองที่เป็นเสมือนหลัก ประกันความแข็งแกร่งของประเทศไปลุยไฟกันหรือ

ขนาดกองทุน Kuwait Investment Authority (KIA) ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 2.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ยังเจอผลขาดทุนจากการลงทุนจากวิกฤตของ Merill Lynch สหรัฐไปกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท

กองทุน Temasek, GICSingapore, China Investment Corp และ Korea Investment Corp ก็ขาดทุนจากการลงทุนเฉลี่ย 73.2% หรือมากถึง 3.03 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากวิกฤตซับไพรม์ เพราะกองทุนเหล่านี้เข้าไปลงทุนในสถาบันการเงินที่มีปัญหาเช่น UBS, Citigroup, Morgan Stanley และ Merrill Lynch จนต้องประกาศตัดขาดทุนให้ช็อกกันทั้งตลาด

นี่คือภาพของการวิเคราะห์ในทางกลยุทธ์เพื่อการตัดสินใจลงทุน

ยังไม่นับผลทางจิตวิทยาของสังคมที่จะทรงพลานุภาพเป็นอย่างยิ่ง

นั่นคือการที่รัฐบาลจะเข้าไปแตะเงินคลังหลวงที่มีการสะสมกันมาตั้งแต่พระ บุรพมหากษัตริย์ที่ตั้งใจจะสะสมไว้เพื่อปกปักรักษาประเทศ และมีการบันทึกกันไว้ว่าเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ ผู้ใดจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ไม่ได้

ยังไม่นับกองทัพธรรมที่เป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่ร่วมกันทอดผ้าป่าด้วยความศรัทธาชนิดใครมีแหวนถอดแหวน ใครมีสร้อยทองถอดทองออกจากคอ เพื่อมอบทองคำให้กับ ธปท.ร่วม 13 ตันเศษ เพื่อนำไปเป็นทุนสำรองในห้วงเวลาที่ประเทศเจอวิกฤตหนักคงจะพาเหรดกันออกมา คัดค้านอย่างหนักหน่วงแน่นอน

ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล้าเล่นกับของร้อนก็ต้องพร้อมที่ตะเก็บฉากไปก่อนเวลาได้

อย่าเสี่ยงกับศูนย์รวมจิตใจคน...

Tags : ล้วงตับ คลังหลวง เมื่อไหร่ รัฐบาล อาจไปก่อนวัยอันควร

view