สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การขาดทุนของแบงก์ชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ


ผมได้อ่านบทความของ รศ.ดร.วิมุต วาณิชเจริญธรรม คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 8 กันยายน
สรุปใจความว่าต้องการให้ความรู้และข้อมูลที่มีความครบถ้วนเกี่ยวกับการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย ขยายความจากข้อมูลที่รัฐมนตรีคลังกล่าวถึงทุนติดลบของ ธปท. ที่มีสูงถึง 431,829 ล้านบาท ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ
 

1. การขาดทุนนี้ ธปท. ไม่ได้ปกปิดเป็นความลับแต่อย่างใดและเป็นการขาดทุนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการตีค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาทที่ลดลง เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น เงินดอลลาร์ในคลังของ ธปท. หาได้ลดลงไม่ ดังนั้นการนำเอาการขาดทุนทางบัญชี (ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง) “จึงไม่ต่างอะไรกับการบิดเบือนข้อเท็จจริง”
 

2. การขาดทุนสะสม “ไม่ได้มีความหมายอะไรต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและมิใช่ตัวเลขที่ใครจะให้ความสำคัญแม้แต่น้อย” และหากนำเอาบัญชีทุนต่างๆ ทั้งหมดมารวมกันฐานะทางการเงินที่แท้จริงก็จะไม่ติดลบ ดังนั้น การกล่าวว่า ธปท. มีทุนติดลบ “จึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว”
 

ผมขอแสดงความเห็น ดังนี้ครับ
 

1. การเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรที่จะมีการวิจารณ์ได้ การขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ยังเป็นการขาดทุน ผมจึงไม่เห็นว่าตรงนี้จะเป็นการบิดเบือนอะไร ธปท. ออกกฎเกณฑ์การสำรองหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่านี้มาก เช่น หากลูกหนี้เพียงผิดการจ่ายดอกเบี้ยเพียง 1 เดือนก็ยังต้องเริ่มตั้งสำรองแล้ว ในกรณีของทุนสำรองที่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงินดอลลาร์ ยูโรและเยนนั้นเป็นเงินของประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาลทั้งสิ้น สหรัฐเองก็ได้ถูกลดความน่าเชื่อถือโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือและอาจจะโดนลดอันดับอีกในอนาคตอันใกล้ ประเทศญี่ปุ่นก็โดนลดอันดับความน่าเชื่อถือมา 2 ครั้งแล้ว ส่วนยุโรปนั้นก็ทราบกันดีว่ากำลังปั่นป่วนจากการถูกกลไกตลาดกดดันให้แก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดังกล่าวที่ค่อนข้างอ่อนแอ จึงทำให้เชื่อได้ว่าค่าเงินของประเทศดังกล่าวน่าจะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้น 4 แสนล้านบาท อีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจขาดทุนเพิ่มอีกเป็นจำนวนมากได้
 

2. การขาดทุนนี้มีความสำคัญอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์จะเข้าใจดีว่าการสะสมทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในอดีตนั้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายฝืนการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (เว้นปี 2005) รวมกับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แปลว่าคนไทยผลิตสินค้าและบริการให้กับชาวโลกเกินกว่าที่เราซื้อและใช้บริการจากต่างประเทศ ทำให้มี “เงิน” เหลือในรูปของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การเก็บทุนสำรองไว้โดยไม่นำออกมาใช้ ทำให้สูญเสียโอกาสในการนำเอาเงินหรือกำลังซื้อดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญคือการที่ธนาคารกลางของสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น กำลังเร่งการพิมพ์เงินเพิ่มทำให้เงินที่ไทยถืออยู่ในขณะนี้มีแต่จะเสื่อมค่าลง เป็นการสูญเสียที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้วสมมุติว่าเราผลิตสินค้าชนิดหนึ่งราคา 40 บาทแล้วส่งออก ทำให้เราได้เงินดอลลาร์มา 1 ดอลลาร์ เราเก็บเงินนี้มา 10 ปี ปรากฏว่าอำนาจซื้อของเงินนี้ลดลงไป 25% เพราะวันนี้เงิน 1 ดอลลาร์นั้นแลกได้เพียง 30 บาท ทำให้ซื้อสินค้าชิ้นเดิมได้เพียง ? หน่วย เป็นต้น แล้วเราจะเก็บเงินส่วนเกินนี้เอาไว้ทำไมหากในอนาคตเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเป็น 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ถามกลับว่าหากเป็นเงินของเราเอง เราจะอยากเก็บเงินออมของตัวเองเป็นเงินดอลลาร์หรือเงินบาทในสภาวการณ์เช่นนี้? ทำไมจึงไม่นำเอาทุนสำรองมาใช้ เช่น ให้ทุนเด็กไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศก่อนที่ค่าเงินจะทรุดตัวลงไปอีก?
 

3. การขาดทุนสะสมของ ธปท. นั้น ผมรับรองได้ว่ามีความสำคัญและมีความหมายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญมากกับประเด็นนี้ นักเศรษฐศาสตร์ย่อมทราบดีว่าการขาดทุนของ ธปท. เกิดจากการสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้น เพราะทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นนั้นต้องแลกกับหนี้สินที่เป็นเงินบาทที่ต้องเพิ่มขึ้น กล่าวคือเมื่อแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าโดยการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์โดยการขายเงินบาท ก็ทำให้ปริมาณเงินบาทในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ธปท. ต้องดูดซับเงินบาทส่วนเกินดังกล่าวออกจากระบบโดยการออกพันธบัตร ธปท. ใน 8 ปีที่ผ่านมาเราเห็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ที่เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือการเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนล้านบาทเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท ปัญหาคือ ธปท.จะต้องพิมพ์เงินออกมาจ่ายดอกเบี้ย (เพราะดอกเบี้ยรับจากการนำทุนสำรองไปลงทุนต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ ธปท. ต้องจ่าย) สมมุติว่าดอกเบี้ยเท่ากับ 4% ต่อปี ก็แปลว่าต้องพิมพ์เงินออกมาจ่ายดอกเบี้ยเป็นหมื่นล้านบาท ทำให้การรักษาวินัยทางการเงินจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้นและปรับดอกเบี้ยในประเทศขึ้นพร้อมกันไป เพราะว่าถึงจุดหนึ่ง ธปท.ก็จะประสบปัญหาในการคุมปริมาณเงินบาทในระบบ
 

ดังนั้น จึงขอให้ทำความเข้าใจว่าการที่ประเทศไทยมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เพราะไทยผลิตสินค้าและบริการให้ทั่วโลก โดยแลกน้ำพักน้ำแรงดังกล่าวมาเป็น “กระดาษ” ในรูปของเงินดอลลาร์ เงินเยน เงินยูโร ตลอดจน “กระดาษ” ในรูปของพันธบัตรของรัฐบาลประเทศดังกล่าวที่ส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินที่น่าเป็นห่วง ซึ่ง “กระดาษ” ดังกล่าวนั้นนับวันจะเสื่อมค่าลงทุกวัน กล่าวคือยิ่งเก็บก็ยิ่งเสื่อมค่าลง (คนถึงแห่กันมาซื้อทองคำแทน) การสะสม “กระดาษ” ต่างประเทศดังกล่าวนั้นทำโดยการเพิ่มหนี้สินที่เป็นเงินบาทของ ธปท. ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้การบริหารนโยบายการเงินเกิดปัญหาขึ้นได้ ผมจึงเห็นว่าการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่มีอคติกับ “การเมือง” และ “นักการเมือง” จึงได้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมามากมายเพื่อให้ “ปลอดการเมือง” ซึ่งการปลอดการเมืองหรือการปลอดนักการเมืองแท้จริงแล้วแปลว่าการปลอดจากการตรวจสอบจากผู้แทนราษฎรหรือการไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนส่วนรวมของประเทศ แต่เป็นการยึดโยงกับแนวคิดของ “ผู้รู้” ที่อยู่ในวงจำกัด บางเรื่องก็เข้าใจได้เช่นการกำหนดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนักการเมืองที่หวังผลระยะสั้นจะทำให้เงินเฟ้อสูงเกินกว่าผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวได้ แต่ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการชี้นำการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ (เช่นกรณีของไทยนั้นการกดค่าเงินบาทให้ต่ำทำให้ประเทศไทยอาศัยการส่งออกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ดังนั้น ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นหน้าที่ของ “การเมือง” คือ กระทรวงการคลังของสหรัฐ ครับ

Tags : การขาดทุนของแบงก์ชาติ บัญชี ฝึกอบรม สำนักงานบัญชี ทุจริต ทำบัญชี ที่ปรึกษา สอบบัญชี การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน

view