สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฤษฎีกาปิดประตู พัลลภ นั่ง กอ.รมน.

จาก โพสต์ทูเดย์

เปิดบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่านายกฯไม่สามารถมอบอำนาจให้ "พัลลภ" ใช้อำนาจแทนในฐานะผอ.กอ.รมน.ได้

โดย...ทีมข่าวการเมือง

หมายเหตุ : เป็นบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1(นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน)ให้ความเห็นกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหารือว่า จะมอบอำนาจให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจแทนในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราช อาณาจักร(ผอ.กอ.รมน.) โดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

*************************

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0405 (ลน)/ 8505 ลงวันที่ 9 กันยายน 2554 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กำหนดให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร

 

พล.อ.พัลลภ

โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน กอ.รมน. และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน. รวมทั้งมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจดังกล่าว ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้ อำนาจแทนก็ได้

ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีจึงมีบัญชาให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีหากนายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติ หน้าที่และใช้อำนาจแทนในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรี “ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ได้บัญญัติเรื่องการมอบอำนาจของ ผอ.รมน. ไว้เป็นการเฉพาะ คือ มาตรา 5 วรรคแปด ที่อาจมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทน ได้ และมาตรา 8 ที่บัญญัติว่า นอกจากการมอบอำนาจตามกฎหมายว่า

ด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด หรือผู้อำนวยการศูนย์หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ ได้

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดใช้อำนาจแทนใน ฐานะ ผอ.รมน. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้บัญญัติหลักทั่วไปของการมอบอำนาจไว้ในมาตรา 38 ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด

อาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการ อื่นได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่าง อื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ และโดยที่มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ได้บัญญัติให้การดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน. ของนายกรัฐมนตรีเป็นการดำรงตำแหน่ง “ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” ซึ่งมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่และการมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว

ดังนั้น การมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ จึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 คือมอบได้แต่เฉพาะอำนาจในการกำกับการบริหารราชการ โดยมิอาจอาศัยอำนาจตามมาตราแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบททั่วไปได้  ทั้งนี้ เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว

view