สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คืนภาษีรถคันแรกรูโหว่โผล่ให้กินเพียบ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. มีมติอนุมัติการคืนเงินภาษีสำหรับรถยนต์คันแรกในวงเงินรายละไม่เกิน 1 แสนบาท พร้อมอนุมัติเงินงบประมาณประจำปี 2556 จำนวน 3 หมื่นล้านบาทเพื่อคืนเงินเท่ากับภาษีตามที่จ่ายจริง ก็มีคำถามกันทั้งเมืองในหลายประเด็นว่า จำเป็นแค่ไหนจะต้องใช้งบประมาณมากขนาดนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีประชาชนซื้อรถใหม่มาเพิ่มปริมาณการจราจรให้ติดขัดมากขึ้น

ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไปเต็มๆ

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในนโยบายคืนเงินรถคันแรกของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างหนัก เพราะหากพิเคราะห์ในเชิงลึกแล้ว พบว่า นโยบายนี้ มีรั่วในหลายจุดที่เอื้อให้เกิดการตักตวงผลประโยชน์โดยมิชอบ

ปมปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายแจกแหลกชุดนี้ ต้องยอมรับกันว่า มีช่องโหว่มากมายเหลือคณานับ

หนึ่ง วงเงินที่นำมาคืนเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก แทนที่จะเป็นภาษีสรรพสามิตที่ผู้ซื้อต้องจ่าย กลับเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ต้องไปเกลี่ยดูแลคนในชาติ

 

สอง วงเงินที่ตั้งขึ้นมาพิเศษถึง 3 หมื่นล้านบาท นั้นถือว่า มากโข มากขนาดรัฐบาลสามารถที่จะนำงบประมาณดังกล่าวไปลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อขนคน คนงาน ขนสินค้าเชื่อมระหว่างพัทยาแหลมฉบังกทม. ซึ่งจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศได้มากมาย

แต่รัฐบาลมือเติบกลับนำงบประมาณดังกล่าวไปมอบให้กับคนอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยเสียภาษีให้กับหลวงมาซื้อรถขับเล่น

สาม เงื่อนไขที่มีการขีดเส้นเริ่มดำเนินการโครงการในวันที่ 16 ก.ย. 2554 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 นั้น กรมสรรพสามิตก็ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า จะเริ่มคิดจากการจองรถยนต์ที่ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 เป็นต้นไป และการสิ้นสุดโครงการจะอนุมัติให้กับผู้ที่ยื่นเอกสารการซื้อรถยนต์ที่ สมบูรณ์ได้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2555 หมายความว่า ผู้ที่จองรถยนต์ไว้ก่อนหน้านี้และรอรับอานิสงส์จากนโยบายแจกดะก็จะไม่ได้รับ อนุมัติให้คืนเงิน แม้จะเป็นการซื้อรถยนต์คันแรกก็ตาม

ขณะเดียวกัน หากไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานการเป็นเจ้าของรถทั้งหมดได้ใน 31 ธ.ค. ปีหน้า ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติการคืนภาษีเช่นกัน

นั่นหมายถึงว่า มีคนได้และคนเสียจากนโยบายของรัฐ

ประการที่สี่ ที่น่าจะเป็นหัวใจหลักที่สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลคิดนโยบายไม่รอบคอบ การก่อตัวทางนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน

เนื่องจากนโยบายการคืนภาษีรถคันแรกขนาดไม่เกิน 1500 ซีซี นั้นได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหนัก

เพราะทำให้โครงสร้างตลาดถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง

เนื่องเพราะ เงื่อนไขมีการกำหนดการคืนภาษีรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่สูงกว่ารถอีโคคาร์ และได้รับมากกว่าปิกอัพที่น่าจะเป็นรากฐานของการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคน ฐานราก

รถยนต์นั่งขนาดเล็กเสียภาษีสรรพสามิต 25% จึงได้ส่วนลดมากกว่ารถปิกอัพที่เสียภาษีแค่ 3% จึงเป็นแรงจูงใจให้บุคคลทั่วไปหันไปซื้อรถเก๋งที่มีส่วนลดมากกว่า

โตโยต้า วีโก้ อีซูซุ ดีแมคซ์ ซึ่งเป็นโปรดักต์แชมเปียนของไทย มีส่วนลดภาษีให้เพียง 1.2-1.5 หมื่นบาท ขณะที่โตโยต้า วีออส ฮอนด้า ซิตี้ ฮอนด้า แจ๊ซ จะได้ส่วนลดไปเป็น 1 แสนบาท หรือกรณีรถนิสสัน มาร์ชที่เป็นอีโคคาร์ ที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนเมืองขับขี่ ก็คืนเงินน้อยกว่ารถซิตี้คาร์ ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กกันมากขึ้น

ไม่แน่ว่า ถ้ามีการจองรถกันมาก อาจกระทบต่อการผลิตรถปิกอัพที่เป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมานานนับ หลาย 10 ปี และอีโคคาร์อาจมีปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้

นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์มือสอง ที่มีสต๊อกเก่าอยู่ไม่น้อย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่สามารถขายรถได้เลยนับแต่มีข่าวนี้ออกมา

นโยบายแบบคิดไม่รอบที่ถูกค่อนแคะจากผู้ประกอบการว่า พ่อแม่รังแกฉันนั้น มันสั่นสะท้านไปทั่ว

ใช่หรือไม่ว่า ที่ต้องออกนโยบายรถ 1500 ซีซี เป็นเพราะบรรดาผู้ประกอบการรถยนต์ล็อบบี้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายอย่าง หนักเพื่อขอรับเค้กจากงบประมาณก้อนนี้

ประการต่อมา ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือมาตรการป้องกันการสวมสิทธิของผู้เป็นเจ้าของรถยนต์มาก่อนแล้ว และสอดแทรกมาซื้อรถใหม่ยังเป็นเรื่องทำได้ยาก

แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบ และบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในระบบคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน ต่อจากนั้นส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรกและสำเนาคู่มือการจด ทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิต เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป แต่ทางกรมการขนส่งทางบกออกมายอมรับว่า ฐานข้อมูลผู้จดทะเบียนรถจัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ย้อนหลังไปแค่ปี 2549 เท่านั้น

ดังนั้น ผู้ครอบครองรถยนต์คันแรกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนต่างจังหวัด จึงมีโอกาสจะใช้สิทธิซื้อรถคันแรกโดยที่รัฐจะต้องสูญเสียงบประมาณมาอุดหนุน เป็นมูลค่ามหาศาล

รูรั่วให้มีผู้เอื้อประโยชน์จึงมหาศาล

ยังไม่หมดเท่านั้น ยังมีปัญหาให้ต้องกุมขมับอีกว่า การที่รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อโดยตรงในสิ้นปีที่ 1 จะทำให้เกิดอาเพศของหนี้เสียในระบบได้หรือไม่

ถ้าเด็กอายุ 21 ปี คนหนึ่ง ควักเงินสะสม 2-3 หมื่นบาท มาจองซื้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่รับสิทธิการคืนภาษี 1 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 8,000 บาท เท่ากับว่า ผ่อนไปจริงแค่ 9.6 หมื่นบาท แล้วเกิดผ่อนไม่ไหว เพราะเด็กเหล่านี้เพิ่งเข้าสู่การทำงานสร้างอาชีพ หรือบางคนยังเป็นนิสิต นักศึกษาอยู่เลย จะทำอย่างไร

รัฐมิต้องจ่ายเงินภาษีหรืองบประมาณฟรี 1 แสนบาท ให้กับคนเหล่านี้ไปหรือ

เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตเสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณจำนวนร่วม 500 ล้านบาท มาใช้ในการติดตามการสวมสิทธิและดูแลหนี้เสียนั้น มิใช่เป็นชนวนก่อให้เกิดการทำมาหากินกับนโยบายนี้ดอกหรือ

ยิ่งมีการเปิดทางให้ธุรกิจเช่าซื้อและสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ หรือที่เรียกกันว่า ไฟแนนซ์ สามารถยึดรถคืนมาขายทอดตลาด ยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลรังแกเด็ก

เนื่องเพราะเด็กอายุ 21 ปี งานการก็ยังไร้หลักประกัน ถ้าเกิดผ่อนไม่ไหวจริงๆ จากวิกฤตหนึ่งวิกฤตใด หรือความผิดพลาดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาแล้วต้องถูกยึดรถยนต์ออกไปขายทอด ตลาด หากได้ราคาขายต่ำกว่ามูลหนี้ที่เด็กคนนั้นได้กู้ไป มิต้องเกิดปัญหาการฟ้องร้องอนาคตของชาติที่หลงใหลได้ปลื้มกับนโยบายแจกแหลก ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือ

นี่คือความยุ่งยากของการเล่นกับไฟชัดๆ

หลากปัญหาหลายรูรั่วของนโยบายแจกงบประมาณของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มุ่งหวังแต่เพียงคะแนนนิยม แต่ไม่คิดให้รอบคอบนั้นอันตรายอย่างยิ่ง

แม้กรณีที่ระบุว่า ต้องเป็นรถที่ผลิตภายในประเทศ จะก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากผู้ผลิตรถยนต์หลายรายโดยเฉพาะค่ายโปรตอน และผู้นำรถยนต์จะร้องว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าแบบหนึ่ง ซึ่งผิดต่อข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา อาจถูกฟ้องร้องนั้น อาจจะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติและเล่ห์เหลี่ยมของข้อกฎหมาย

ยังมีประเด็นหนึ่งที่ยุ่งยากในการอรรถาธิบาย และสร้าง 2 มาตรฐานขึ้นในแนวปฏิบัติของหน่วยงานราชการ คือ การคืนเงินรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาทนั้น ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกที่ได้รับเงินคืนตามจำนวนภาษีที่ซื้อรถแต่ละคันต้องนับ เป็นเงินได้พึงประเมินเช่นปกติหรือไม่

ถ้านับเป็นเงินได้พึงประเมินตามปกติของคนไทยทั่วไปที่ได้ของรางวัล ได้เงินมาก็ต้องเสียภาษี พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องนำเงินไม่เกิน 1 แสนบาทที่รัฐบาลจ่ายออกไป มาคำนวณเป็นรายได้รวมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

ถ้าไม่นับเป็นเงินได้ เพื่อจะได้ยกเว้นภาษีให้คนกลุ่มนี้ รัฐบาลเศรษฐี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอธิบายกับ นาย ก. นาย ข. นาย ค. ที่ทำมาหากินอย่างยากลำบาก โดยอาศัยลำแข้ง ลำขาและชายโครงอย่างไร

หรือว่าพวกเขาเหล่านั้น มีหน้าที่หาเงินมาเสียภาษีให้หลวง เพื่อที่หลวงจะได้นำเงินจากหยาดเหงื่อแรงกายของคนจำนวนมากเหล่านั้นไปแจกคน โดยไร้สำนึก

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกดะของรัฐบาลหญิง ยิ่งลักษณ์ รูปโฉมภายนอกของนโยบายอาจดูงดงาม แต่ความจริงแล้ว คนไทยได้ประโยชน์อะไร?

ลองใช้สมองนั่งคิดตรึกตรองก็พอมองเห็นภาพ

Tags : คืนภาษีรถคันแรก รูโหว่โผล่ กินเพียบ

view