สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลองลัดโพธิ์ พระอัจฉริยภาพแก้น้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

“ผมอยากเรียนเรื่องนี้ จากการที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำว่า ประตูลัดโพธิ์เป็นตัวอย่าง ถ้าเราขยายผลไปสู่ที่อื่นได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก”

โดย ธรรมสถิตย์  ผลแก้ว

สถานการณ์อุทกภัยมีทีท่าจะรุนแรงมากขึ้น กระทบหลายพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่หัวใจทางเศรษฐกิจ “กรุงเทพมหานคร” กำลังเป็นที่จับตามองด้วยความเป็นห่วง   แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นแนวทางการแก้ไข ปัญหาอุทกภัย จึงมีโครงการพระราชดำริให้ขุดคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคะนอง จ.สมุทรปราการ เพื่อเป็นทางลัดระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว

พระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นที่ประจักษ์  นับตั้งแต่ปี 2549  มีสัญญาณน้ำหลากหวั่นเกรงน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ แต่เมื่อคลองลัดโพธิ์เปิดใช้งานพอดีสามารถทำให้กรุงเทพมหานครผ่านพ้นวิกฤติ ไปได้ 

ชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน

ชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน   เปิดใจโพสต์ทูเดย์ว่า  พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาอุทกภัย พระองค์ท่านมีพระราชดำริหลายเรื่องที่นำมาใช้ระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้มลิงภาคตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ  ซึ่งส่วนนี้มีโรงสูบน้ำทางด้านชายทะเลที่จะสูบน้ำออก  น้ำที่สูบออกคือน้ำที่ผันออกเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทางด้านตะออก ตะวันตก นอกจากนั้นยังมีเขื่อนในพระราชดำริที่สำคัญ เขื่อนแควน้อยที่พิษณุโลก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ลพบุรีเป็นเครืองมือทั้งนั้น แต่สุดท้ายน้ำก้อนใหญ่ต้องระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านกรุงเทพ จะมีบริเวณหนึ่งที่ต.ทรงคะนอง ลักษณแม่น้ำจะวกเป็นลักษณะที่เราเรียกว่ากระเพาะหมูออกอ่าวไทย ระยะ18 กิโลเมตร  ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างทางเดินของน้ำจะยาวมาก ใช้เวลาระบายน้ำนานมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระดำริเมื่อปี 2538 ให้กรมชลประทานไปศึกษา ว่า มีคลองเล็กๆอยู่บริเวณกระเพาะหมู เรียกว่าคลองลัดโพธิ์ ซึ่งปกติลักษณะความกว้างไม่เกิน 10 เมตร เป็นคลองตื้นเขิน ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้เห็นความสำคัญตรงนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็น จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานไปศึกษาพิจารณา และปรับปรุง สร้างประตูคลองลัดโพธิ์ด้วย กรมชลประทานก็ไปขุดคลองให้ขยายกว้างขึ้น น้ำสามารถผ่านคลองลัดโพธิ์ได้  500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   

“เราไปขุดคลองยาว 600 เมตรและทำประตูขนาด 4 ช่องควบคุมน้ำ เวลาน้ำลงเปิดประตูแทนที่เวลาน้ำจะผ่านกระเพาะหมู 18 กิโลเมตร ก็จะผ่านเข้าคลองลัดโพธิ์เหลือ 600 เมตรเท่านั้นเอง ขณะที่น้ำขึ้นก็ปิดประตูคลองลัดโพธิ์ เพื่อหน่วงน้ำให้อ้อมตรงกระเพาะหมูช้าหน่อย ตรงนี้กรมชลประทานได้ก่อสร้างปี 2545 สร้างเสร็จปี 2549 ปีนั้นภาคกลางมีน้ำใหญ่พอดี เพราะฉนั้นถ้าจะบอกว่าโครงการพระราชดำริสร้างเสร็จก็ใช้ประโยชน์เลย ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

 “เรามีการศึกษาเปรียบเทียบ ก่อนและหลังมีคลองลัดโพธิ์เป็นอย่างไร ผลการศึกษาได้ผลว่า เมื่อมีคลองลัดโพธิ์ระดับน้ำก่อนเข้าคลองลัดโพธิ์จะต่ำกว่าปกติ  ตรงนี้พิสูจนได้จากปี 2553   ถ้ายังจำได้ปีนั้นเรามีความเป็นห่วงกันว่า กทม.จะท่วมหรือไม่ท่วม เราก็ยืนยันไม่ท่วมแน่นอน เพราะจากการคำนวณที่มีคลองลัดโพธิ์ด้วยเป็นเครืองมือบริหารจัดการน้ำ และสุดท้ายน้ำไม่ท่วมกทม. นี่คือประโยชน์จากคลองลัดโพธิ์”

นอกจากประโยชน์จากการระบายน้ำ โครงการพระราชดำริประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ยังเป็นตัวอย่างของการผลิตกระแส ไฟฟ้า   อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ประโยชน์จากคลองลัดโพธิ์มีพลังงานมหาศาล ถ้าหากใช้พลังน้ำคลองลัดโพธิ์มาทำประโยชน์อย่างอื่น  ทำให้กรมชลประทานศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ศึกษาความเร็วของน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า

 “ ผลการศึกษา มีการทดลอง ทำเครื่องมือใบพัดมาวางหน้าประตู ใช้ใบพัดปั่นกระแสไฟ้ฟ้าได้ผลมากกว่าที่คำนวณไว้กว่าตอนศึกษา ขณะนี้กำลังขยายผลจากคลองลัดโพธิ์ไปยังประตูน้ำอื่นๆของกรมชลประทาน ที่มีมากหลายร้อยประตู ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร ในพื้นที่ที่อย่างน้อยจะมีไฟฟ้าใช้”

ชลิต บอกว่า  ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คลองฃัดโพธิ์ ยังไม่มีที่ไหนในโลกที่มีความคิดอย่างพระองค์ท่านตรงนี้ เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้พลังงานศักย์คือใช้ความสูงของน้ำมาปั่น  แต่ที่ลัดโพธิ์ใช้ความเร็วของน้ำ ซึ่งความเร็วก็ไม่มากประมาณหนึ่งลูกบาศก์เมตรเปอเสก

แนวทางนี้จะทำพื้นที่อื่นหรือไม่ อธิบดีกรมชลฯ เผยว่า  เราต้องการขยายผลคลองอื่นๆที่มีปัญหา  เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า ตามคลองต่างๆเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดหรือบรรเทาอุทกภัย และตามแม่น้ำต่างๆ หลายสายมีลักษณะคดเคี้ยวเหมือนคลองลัดโพธิ์ อย่างแม่น้ำท่าจีน ที่มีทางยาวพอสมควร แล้วก็เป็นคุ้งน้ำต่างๆ ถ้าตัดคุ้งน้ำต่างๆ จะสามารถร่นระยะเวลาระบายน้ำท่าจีนได้พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามเรื่องพวกนี้ จะทำหรือไม่ทำ ทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วยเหมือนกัน

“ผมอยากเรียนเรื่องนี้ จากการที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำว่า ประตูลัดโพธิ์เป็นตัวอย่าง ถ้าเราขยายผลไปสู่ที่อื่นได้ ก็จะเป็นประโยชน์มาก”

น้ำฝน-น้ำมือมนุษย์ เหตุวิกฤติ

แม้กรมชลประทานจะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็น ระบบ ตั้งแต่มีศูนย์เฝ้าติดตาม การวางแผนกำหนดเส้นทางน้ำผ่านคลองชลประทาน การกักเก็บและระบายน้ำออกจากเขื่อน แต่ปัจจัยทางธรรมชาติปรวนแปร  และฝีมือมนุษย์ปลูกสร้างที่พักอาศัยขวางทางน้ำ ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

ชลิต ยอมรับว่า  ปีนี้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร สาเหตุแรก เพราะฝนมาไวปกติประมาณสองเดือน ลักษณะฝนที่ลงเป็นช่วงๆ หมายความว่าเวลาฝนลงครั้งแรกเราระบายน้ำส่วนหนึ่งแล้วแต่ยังไม่หมดฝนช่วงที่ สองก็ลงมาซ้ำอีก เพราะฉนั้นลักษณะเป็นอย่างนี้ ทำให้น้ำสะสมอยู่บริเวณกว้างพอสมควร เช่นพื้นที่บางระกำ พิจิตร นครสวรรค์ ภาคกลางบางส่วน โดยเฉพาะขณะนี้รุนแรงบริเวณจังหวัดลพบุรี

สาเหตุที่สอง  เมื่อฝนมาไว หลายพื้นที่ยังไม่เก็บเกี่ยวข้าว ทำให้เราต้องช่วยเกษตรกรส่วนนี้ไว้เหมือนกัน  ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วส่วนใหญ่อยู่ ระหว่างริมแม่น้ำกับแนวคันกั้นน้ำ  กับราษฎรที่เป็นเกษตรกรที่อยู่ระหว่างแนวคันกั้นน้ำไปถึงด้านในซึ่งเป็น พื้นที่ปลูกข้าว 

“ต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่ง จะเห็นว่าเกิดความขัดแย้งตรงนี้สูง เพราะต้องกันทั้งเมืองเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันพื้นที่เศรษฐกิจก็เป็นพื้นที่นาข้าวด้วย  “

อีกปัจจัยสำคัญ ชลิตเปิดเผยว่า ระยะหลังมานี้ หมู่บ้านและสิ่งก่อสร้างลงไปอยู่ทางน้ำ  หน้าแล้งเราจะไม่รู้ แต่พอหน้าฝนเราจะรู้เลยว่าตรงนี้เป็นทางน้ำ ลองขึ้นเครื่องบินมองลงมา จะรู้ทันที อย่างเช่น แถวรังสิต หมู่บ้านจัดสรรเหมือนอยู่ในท้องนา

ปีที่แล้วกับปีนี้ต่างกัน เราต้องติดตามสถานการณ์ธรรมชาติประเทศไทย เมื่อก่อนภาคเหนือเป็นที่ราบสูง มีต้นไม้เยอะ เวลาฝนตกป่าไม้ซับน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เหลือเป็นน้ำท่าลงแม่น้ำลำคลอง เมื่อก่อนตลิ่งสูง และลาด ท้องน้ำชันเพราะฉนั้นเมื่อก่อนน้ำจะไม่ท่วมแล้วพอลงมาภาคกลางจะมีทุ่งรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ  ทุ่งโพธิ์ทะเล ทุ่งอ่างทอง แต่ตอนหลังสภาพภูมิประเทศเปลี่ยนไปหมด ภาคเหนือป่าไม้ลดน้อยลง น้ำมาฝนตกร้อยเปอร์เซนต์แทนที่จะลงยี่สิบเปอร์เซนต์ น้ำซับไว้แปดสิบเปอร์เซนต์ปรากฎว่าลงมาเต็มร้อยเปอร์เซนต์เลย และเกิดดินถล่มประจำ

“ความเจริญบ้านเมืองขวางทางน้ำ แทนที่น้ำจะลงแม่น้ำลำคลองได้ ก็มาขวางเป็นน้ำขัง เห็นว่าหลังๆพอน้ำท่วมจะผ่านเมืองตลอดเพราะข้างนอกจะขวางทางน้ำหมด ตัวผ่านเมืองได้คือถนน จะเห็นถนนคือคลองเลย พอมาภาคกลางการใช้ประโยชน์ที่ดินก็เปลี่ยนไป ทำการเกษตร ที่อยู่ของน้ำก็ไม่มี ก็ท่วมไปหมด”

สถานการณ์ปีนี้  กทม.จะมีผลกระทบหรือไม่  อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า ถ้ามองว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ ต้องดูที่สถานีวัดน้ำที่บางไทร ถ้าเกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป กทม.ก็เริ่มมีผลกระทบ จากคันกันน้ำกทม.บวก2.5  แต่จากการบริหารจัดการน้ำกรมชลประทาน วันนี้(28ก.ย.)เรามีน้ำผ่านบางไทร 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลืออีก 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้ยืนยันกทม.ยังไม่มีปัญหา ยกเว้นหลังจากนี้ถ้ามีพายุเข้ามาก็ต้องว่ากันอีกที”

อธิบดีกรมชลประทานอธิบายเส้นทางน้ำว่า ถ้าเราไล่  เอาว่าแม้น้ำเจ้าพระยาเป็นสายหลักเกิดจากปิง วัง ยม น่าน ปิงมีเขื่อนภูมิพล แม่น้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม แม่น้ำยม ยังไม่มีเขื่อนต้นน้ำ แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิตติ์  ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเกิดพายุสองลูก เป็นพายุที่เกิดจากภาคเหนือตอนล่าง ต้นน้ำ มีเขื่อนภูมิพล สิริกิตติ์สามารถชลอน้ำในเขื่อนเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าไม่มีสองเขื่อนนี้ สถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันจะรุนแรงกว่านี้เยอะ พอชลอน้ำแล้ว น้ำส่วนหนึ่งที่ตกท้ายเขื่อนด้วย พอน้ำลงมาแล้วก็มากองที่นครสวรรค์   บางสายน้ำมีตัวบริหารจัดการด้วย ตัวอย่างเช่น แม่น้ำน่าน ด้านบนมีเขื่อนสิริกิตต์ ชลอน้ำพอลงมาแล้วมีเขื่อนนเรศวร  ซึ่งเป็นเขื่อนบริหารจัดการน้ำผันน้ำเข้าคลองชลประทานได้เพื่อลดปริมาณน้ำ ที่จะผ่านตัวจังหวัดพิษณุโลก  ต่ำมาหน่อย  มีเขื่อนแควน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา ก็ชลอน้ำเพื่อไม่ให้เติมแม่น้ำน่านได้ ตรงนี้ก็ลดน้ำที่จะผ่านจังหวัดพิษณุโลกไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

ขณะเดียวกันพิษณุโลกก็ลงมาที่พิจิตร นครสวรรค์ ตรงนี้ถ้าน้ำไม่มากการบริหารจัดการสามารถตัดน้ำได้เยอะ แต่ปีนี้น้ำมากก็เลยมีปัญหาที่พิจิตร กับนครสวรรค์ โดยนครสวรรค์จะมีน้ำส่วนหนึ่งจากแม่ปิงมาด้วย  พอจากนครสวรรค์จะลงมาผ่านหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ก่อนหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีลำน้ำสะแกกรังมาเสริมอีกซึ่งปีนี้มีปริมาณเยอะ พอถึงหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเราจะผันน้ำออกฝั่งซ้ายฝั่งขวาเพื่อลดปริมาณน้ำที่ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ฝั่งซ้ายผ่านคลองบรมธาตุ ผ่านแม่น้ำสุพรรณ ผ่านแม่น้ำน้อย ฝั่งขวาจะผ่านคลองชลประทานต่างๆ  มาออกคลองระพีพัฒน์ ออกคลองชายทะเลมาออกแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำนครนายก ส่วนฝั่งขวาออกทางด้านท้ายน้ำ ที่เหลือผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 

ขอความเป็นธรรมให้เขื่อน          

ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุของปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ หรือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยขวางทางน้ำทำให้น้ำท่วม แต่อีกด้านก็มักจะเพ่งเล็งไปที่การปล่อยน้ำจากเขื่อนสำคัญๆต่างๆ ทำให้น้ำท่วมทะลักหลายพื้นที่ เข้าทางฝ่ายต่อต้านการสร้างเขื่อนออกมาโจมตีทันที  เขื่อนจึงต้องตกเป็นจำเลย!

สภาพเขื่อนที่รับน้ำขณะนี้เป็นอย่างไร  อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า แต่ละเขื่อนรับน้ำเต็มที่แล้วก็ต้องปล่อย ถ้าคิด ณ วันนี้ ต้องบอกว่าเขื่อนต้องปล่อย เพราะเราพร่องน้ำไว้เยอะก่อนฝนมา เพราะฉนั้นฝนมาสองเดือน เขื่อนรับน้ำเต็มที่แล้ว หลังจากนี้มาเท่าไหร่ก็ต้องผ่านเขื่อนแล้ว  เมื่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนแล้วต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการน้ำใหม่

ชลิต อธิบายประโยชน์ของการมีเขื่อนว่า   อย่างปีที่แล้ว ถ้าไม่มีเขื่อน อาจเละกว่านี้ กรุงเทพฯอาจจะไปแล้วก็ได้   กรณีของเขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนภูมิพล สามารถเก็บน้ำรวมกันไว้ได้ถึงเก้าพันล้านลูกบาศก์เมตร เกือบร้อยเปอร์เซนต์ หรือเท่ากับเขื่อนป่าสักฯ 10 เขื่อน จำได้เมื่อปีก่อน จากเขื่อนที่ไม่มีน้ำ  เราประกาศเลื่อนการปลูกข้าว  แต่ปีนี้มาปีเดียวน้ำเต็มเขื่อนเลยซึ่งไม่เคยปรากฎเลยตั้งแต่สร้างเขื่อนมา

การสร้างเขื่อนแต่ละตัวไม่ได้ง่ายๆ ประเด็นปัญหาถามว่าเขื่อนจำเป็นไหมตอบว่าจำเป็น แล้วเพราะอะไร ตอบได้สองกรณีด้วยกัน  หนึ่งเวลาฤดูน้ำสามารถบรรเทาอุกทกภัยได้ และน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้งก็จะเป็นส่วนช่วยในฤดูแล้ง    อย่างแม่น้ำยม เวลามีน้ำอาจเยอะแต่หน้าแล้งแห้งเลย  แต่เรื่องปัญหาอุทกภัย เขื่อนเป็นตัวชลอไม่ใช่ยาสารพัดประโยชน์

 “ผมพูดอย่างนี้ เพราะปัจจุบันพื้นที่ทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ เรามีพื้นที่ที่มีเขื่อนแค่ 28 ล้านไร่ เพราะฉนั้นอีก 200 กว่าล้านไร่ เอาหล่ะเป็นภูเขา ที่ราบ สองร้อยล้านไร่เราบริหารด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทุกครั้งเกิดน้ำท่วม คนมองว่าเขื่อนปล่อยให้น้ำท่วมหรือเปล่า แต่เราไม่เคยมองว่าพื้นที่ส่วนใหญ่สองร้อยกว่าล้านไร่ คือตัวปัญญหาเพราะเราไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเขื่อนด้วย คูคลอง ตื้นเขินขึ้น สิ่งก่อสร้างสร้างไปขวาง ป่าไม้ถูกทำลายทำให้พื้นที่น้ำท่วม ตรงนี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าต้องช่วยกันตรงนี้นะ”

“ ถ้าคิด ณ  ปัจจุบัน โอเคเขื่อนต้องปล่อยน้ำ แต่ถ้าคิดก่อนหน้านี้สักเดือนสองเดือนเขื่อนทำหน้าที่ของมันนานแล้วที่จะทำ หน้าที่ชลอน้ำให้ลงมา คือต้องให้ความเป็นธรรมกับเขื่อนด้วย” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวทิ้งท้าย 


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คลองลัดโพธิ์ พระอัจฉริยภาพ แก้น้ำท่วม

view