สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายย้อนศรหั่นภาษีประกัน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบของ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ที่เปิดโพยออกมาเป็นบางส่วน สร้างความปั่นป่วนให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย

สิ่งที่เห็นได้ชัดนโยบายการปฏิรูปภาษีของ รมว.คลัง ไปขัดกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลที่ผ่านมาดำเนินการอยู่มาก

เริ่มตั้งแต่การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 โดยต้องไปลดสิทธิทางภาษีที่ผู้ประกอบการได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลง ทุน (บีโอไอ) ก็ไปสวนทางที่ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในไทย

หรือจะเป็นนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์แพงเป็นรายปี เพื่อให้เสียภาษีให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายคืนเงินภาษีรถคันแรกเท่ากับภาษีสรรพสามิตที่ ต้องเสีย ทำให้รัฐเสียรายได้ 3 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีของบุคคลธรรมดา รมว.คลัง มีแผนจะลดสิทธิการลดหย่อนต่างๆ ให้ลดน้อยลง โดยยกตัวอย่างการลดการหักลดหย่อนภาษีการทำประกันชีวิต ที่เห็นว่าปัจจุบันได้มากเกินไป

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเป็นการได้ประโยชน์ที่ซ้ำซ้อน คือ ซื้อประกันชีวิตสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้แล้ว ดอกผลที่เกิดจากการทำประกันยังได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย ทำให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ

แนวคิดการปฏิรูปในส่วนของการลดสิทธิลดหย่อนประกัน แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างใหญ่ของภาษี แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นนโยบายที่สวนทางของทุกรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชน ออมเงินในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการออมเงินในระยะยาวรูปแบบการทำประกันชีวิต ที่เมืองไทยยังมีคนทำประกันจำนวนน้อยมาก

ดังนั้น นโยบายการหั่นภาษีประกันชีวิตของ รมว.คลัง จึงมีคำถามมากมายว่า รัฐบาลไม่สนับสนุนให้คนสร้างหลักประกันให้กับชีวิตและครอบครัวแล้วหรือ !!!

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการประกันชีวิตต่อสู้อย่างหนัก ให้รัฐบาลสนับสนุนการทำประกัน และสิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต เพิ่งจะถูกปรับจาก 5 หมื่นบาท มาเป็น 1 แสนบาท เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมานี้เองเพื่อสนับสนุนให้มีการออมระยะยาว

ต่อมาปี 2553 ก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 1 แสนบาท เพราะรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ประชาชนที่พอมีกำลังออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ เพื่อลดภาระงบประมาณในการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในอนาคต

การทำประกันชีวิตไม่ได้เป็นเพียงการออมเงินไว้ใช้ในอนาคตเท่านั้น ยังมีเรื่องของการประกันสุขภาพ ที่เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่ต้องไปใช้สวัสดิการประกันสังคม ที่ระบบบริการล่าช้า และคุณภาพต่ำ เมื่อเทียบกับคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในระบบประกันชีวิต ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณส่วนนี้ได้ปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท

แนวโน้มของคนที่จะมาสร้างสวัสดิการให้ตัวเองโดยการทำประกันชีวิตเพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การประหยัดงบประมาณของประเทศเพิ่มเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการลดปัญหาสังคมทางอ้อม เพราะหากผู้ที่ทำประกันชีวิตเสียชีวิตไป ครอบครัวยังมีเงินก้อนในการตั้งหลักและมีเวลาในการวางแผนอนาคตกันต่อไปได้ คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุทธิ รจิตรังสรรค์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย หวังว่ารัฐบาลจะไม่มีการลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต เพราะประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งภาครัฐบาล ที่สามารถเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากตัวแทนขายประกันชีวิตที่มีอยู่ทั้ง ระบบ 3 แสนคน จากรายได้ค่านายหน้าประกันชีวิต และภาษีจากกำไรของบริษัทประกันชีวิต และประชาชนมีหลักประกันชีวิตให้กับตัวเองและครอบครัว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต มีประชาชนหันมาออมเพิ่มขึ้น และไม่ทิ้งประกันมีการส่งเบี้ยประกันในปีถัดๆ มา สะท้อนผ่านเบี้ยประกันชีวิตรับรวมที่เติบโตเกิน 15% ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2552 หรือ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเบี้ยประกันที่ได้ 90% จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งรัฐสามารถที่จะนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาโครงการระยะยาวของรัฐบาลโดยลดการกู้ เงินของประเทศ

การแสดงท่าทีจะทำการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการออมของ รมว.คลัง ของประเทศไทย ยังเป็นการสวนทางกับนโยบายของ รมว.คลัง นานาประเทศ ที่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดค่าใช้จ่ายภายในประเทศ และเพิ่มการออมของคนในประเทศเพื่อสร้างความมีเสถียรภาพทางด้านการคลัง

นโยบายของ รมว.คลัง ยังมองว่าเป็นการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามโมเดล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการกระตุ้นให้คนใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีเงินใช้รัฐบาลก็หาช่องหาเงินกู้หนี้ยืมสินมาให้ใช้

การลดสิทธิภาษีประกันจึงเป็นการบีบให้ประชาชนไม่สนใจออมเงิน นำเงินไปใช้จ่ายเหมือนกับโมเดลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ นำมาใช้กับบำเหน็จตกทอดของข้าราชการเกษียณ ที่ทายาทจะได้ตอนพ่อแม่เสียชีวิตไปเท่านั้น ก็มีการแก้ไขกฎหมายให้นำเงินครึ่งหนึ่งออกมาใช้ได้ก่อนตาย และอีกครึ่งหนึ่งให้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์

โมเดลลดภาษีประกันนี้จึงถูกขนานนามว่า ทักษิณคิด ธีระชัยทำ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการประกันออกมาเรียกร้องรัฐบาลว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน แบบเพื่อสร้างตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจก็ทำไป แต่ไม่ควรจะออกมาตรการที่ดึงเงินฉุกเฉินของคนไทยที่มีเพียงน้อยนิดออกมาใช้ ในสิ่งที่กินและบริโภคแล้วปล่อยเป็นซากลงแม่น้ำเล่น !!!

เพราะการดำเนินการดังกล่าว นอกจากทำให้ธุรกิจประกันเกิดการชะงักแล้ว ประชาชนก็จะเป็นคนที่อนาคตไร้หลักประกันเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันยังมีปัญหาเรื่องการเปิดเสรี เพราะปัจจุบันจำนวนบริษัทประกันชีวิตในไทยมี 25 บริษัท มีบริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100% มีเพียง 7 บริษัท อีก 18 บริษัทล้วนเป็นบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศ จากสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีผู้บริหารต่างประเทศนั่งบริหารอยู่แทบจะทั้งสิ้น

แต่พบว่าเบี้ยประกันยังแพงอยู่ เพราะกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัน ภัย (คปภ.) ยังไม่เปิดเสรีการคิดเบี้ยประกันภัยตามต้นทุนที่แท้จริง

ดังนั้น แทนที่รัฐบาลอยากจะเกาให้ถูกที่คัน ก็ไม่ควรไปยุ่งการหั่นภาษีประกันชีวิต แต่ควรไปแก้ปัญหาการเปิดเสรีค่าเบี้ยประกัน เพื่อทำให้ประชาชนที่ต้องการทำประกันชีวิตได้เบี้ยที่ถูกลงดีกว่า

โดยผู้เล่นรายใหญ่ 10 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งเบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบ 90% จากเบี้ยรับรวมเกือบ 3 แสนล้านบาท ได้หันมาเล่นสงครามลดราคาเบี้ย ทำให้ประกันชีวิตลดได้ทันที โดยไม่ต้องไปรอเปิดเสรี

ทุกวันนี้ที่บริษัทประกันชีวิตลดราคาเบี้ยไม่ได้ เพราะ คปภ.เป็นคนกำหนดราคาขั้นสูง ขั้นต่ำ ของอัตราการเสียชีวิต ค่าใช้จ่าย และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนหลักๆ ในการนำมาคิดเบี้ยประกันชีวิต นอกเหนือจากตัวแปรเรื่องอายุ เพศ จำนวนเงินเอาประกันภัย แบบของสัญญาและระยะเวลาของสัญญา

สำหรับต้นทุนด้านอัตราการเสียชีวิต หรืออัตราการตายของคนไทย ปรับเปลี่ยนยาก เพราะไม่มีการไปกำหนดควบคุมไม่ให้คนตายน้อยลงได้ แต่ต้นทุนค่าใช้จ่าย ถือว่าบริษัทประกันชีวิตสามารถที่จะกำหนดและควบคุมได้ โดยบริษัทที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากจะมีความได้เปรียบ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ การดูแลลูกค้า จะถูกกว่าบริษัทที่มีจำนวนลูกค้าน้อย

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสามารถคุมได้ในระดับหนึ่ง เพราะเบี้ยประกันที่สะสมอยู่ในบริษัทประกันชีวิตสามารถนำไปหาผลตอบแทนจากการ ลงทุนได้จำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมาทั้งระบบทำได้ถึง 5.5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลควรประกาศ “เปิดเสรีค่าเบี้ยประกันภัยตามต้นทุนที่แท้จริงของแต่ละบริษัท” เพราะเป็นการส่งเสริมการทำประกันชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีทั้งผู้ประกัน บริษัทประกัน และรัฐบาล

ดีกว่าเดินหน้านโยบายการหั่นภาษีประกัน ที่นโยบายสวนทางกับการส่งเสริมการออมของประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความปั่นป่วนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ทำประกัน บริษัทประกัน

แม้แต่รัฐบาลเองที่จะขาดความน่าเชื่อถือทำรัฐบาลกลับไปกลับมา เหมือนกับนโยบายหลายเรื่องที่ทำไปแก้ไปไม่เสร็จไม่สิ้น ทำให้นโยบายมาตรการจะเป็นประโยชน์กลับเป็นปัญหาเสียมากกว่า


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : นโยบายย้อนศร หั่นภาษีประกัน

view