สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธปท.เล่นเกมรุกคลังยันจุดยืน..ไม่รับหนี้กองทุนฯ 1.1 ล้านล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ธปท.เล่นเกมรุกคลัง...แจงเหตุผลละเอียดหยิบสาเหตุปฎิเสธข้อเสนอรับหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท.. พร้อมทีมาที่ไปกรอบเงินเฟ้อใหม่ 3%
หลังจากที่ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้หารือกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ ค่ำวันที่ 4 ต.ค.2554 ถึงการบ้าน4 ที่กระทรวงการคลัง ให้แบงก์ชาติไปดำเนินการก่อนหน้านี้ การบ้านในส่วน การดูแลตั๋วบี/อี จากแบงก์ชาติมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ดูจะไร้ปัญหาทั้งสองฝ่ายตกลงกัน แต่มี 3 ข้อแม้บางเรื่องจะสามารถตอบตกลงกันได้ แต่จำเป็นต้องบอกจุดยืนของธนาคารกลางให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรอบเงินเฟ้อใหม่

ขณะที่การจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund (SWF) แม้วันนี้แรงกดดันจะน้อยลง แต่แบงก์ชาติ ก็จำเป็นต้องตอกย้ำจุดยืนให้หนักแน่นเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องข้อเสนอการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท มาให้เป็นภาระของแบงก์ชาติ ดูเหมือนจะมองกันคนละกรอบคิด

ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เวปไซค์ของแบงก์ชาติ http://www.bot.or.th/Thai/Pages/BOTDefault.aspx ได้ทำเอกสารชี้แจงจุดยืนของธนาคารกลางออกมาอย่างชัดเจน

ถือเป็นการทำงานเชิงรุก..ในเชิงข้อมูลข่าวสารอีกระดับหนึ่ง!

เริ่มจาก...แนวทางแก้ปัญหาภาระหนี้ที่เกี่ยวโยงกับกองทุนฟื้นฟู

เอกสารข่าวระบุว่า...ผู้ว่าการ ธปท. ได้ข้อสรุปจากการหารือกับคณะกรรมการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกี่ยวโยงกับกองทุนฟื้นฟู สาระสำคัญมีดังนี้

ประการแรก ภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูเกิดจากการรับประกันผู้ฝากเงินและการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน ตามมติของคณะรัฐมนตรีในช่วงปี 2540-41 ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเชื่อมั่น ของประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ประการที่สอง กองทุนฟื้นฟูเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก ธปท. เป็นกลไกของภาครัฐที่มีหน้าที่ช่วยเหลือระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนจึงมีผู้ว่าการ ธปท. และ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและรองประธานโดยตำแหน่ง สะท้อนการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันของภาครัฐ ดังนั้น หนี้กองทุนฟื้นฟูจึงเป็นภาระหนี้สาธารณะที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล และไม่ใช่ภาระเฉพาะของ ธปท.

ประการที่สาม ความพยายามแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นแนวทางที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักสากล กล่าวคือ ภาคการคลังรับภาระการแก้ไขปัญหา (fiscalization) โดยในปี 2541 และ 2545 รัฐบาลได้ออกกฎหมาย2 ฉบับ เพื่อออกพันธบัตรกู้เงินมาชดใช้ความเสียหาย ยอดหนี้คงค้างปัจจุบันมีรวมกัน 1.14 ล้าน ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ภาระสุทธิทางการคลังที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สูงเกินกว่าร้อยละ 50 ของ GDP (ของไทยประมาณร้อยละ35 ของ GDP)

ประการที่สี่ ธนาคารกลางไม่สามารถรับภาระหนี้ดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจเก็บภาษี และที่สำคัญ หากธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้ (monetization) จะเป็นการผิดวินัยทางการเงิน กระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง และส่งผลเสียหายต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภาพรวม

ประการที่ห้า การนำส่งกำไรของ ธปท. เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการปกติทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐต้องนำส่งกำไรต่อรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินนำส่งนั้นให้ชัดเจน และไม่ถือเป็นการพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้

สำหรับแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ คือ (1) การโอนสินทรัพย์คงเหลือภายหลังการปิดกองทุนฟื้นฟูให้ กระทรวงการคลังเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว (2) ปรับวิธีบันทึกบัญชีของทุนสำรองเงินตราในการรับรู้ผลกำไรหรือขาดทุนเพื่อลดข้อจำกัดทางบัญชี ซึ่งจะเอื้อต่อการมีเงินนำส่งกำไรเพื่อชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรทำความเข้าใจกับสาธารณชนและควรกำหนดระดับขั้นต่ำของบัญชีสำรองพิเศษของทุนสำรองเงินตราที่ต้องมีเหลือไว้ เพื่อให้ทุนสำรองเงินตรายังคงมีเสถียรภาพ

---------
กรอบเงินเฟ้อใหม่...แบงก์ชาติชี้แจงว่า

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้ในปัจจุบันคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสระหว่างร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 และเป็นการปรับช่วงเป้าหมายให้แคบลงจากก่อนหน้าที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 3.5 ต่อปีการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับว่าประสบความสำเร็จ โดย ธปท. สามารถดูแล
เสถียรภาพด้านราคาได้ดี และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ระบุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หารือและ
ทำความตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไป ก่อนเสนอ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ในปีนี้ กนง. จึงได้มีการพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่
เหมาะสมสำหรับปี 2555 เพื่อใช้ในการหารือร่วมกับ รมว. คลัง และเห็นควรเสนอปรับเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมเป็น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 3.0 โดยสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลางนี้ได้ไม่เกิน ± ร้อยละ 1.5 ตาม
เหตุผลดังนี้


1. จากการที่ระยะหลังอัตราการขยายตัวของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสดแตกต่างจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
มาก การใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นดัชนีเป้าหมายแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะช่วยสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนได้ดีขึ้น และเนื่องจากเป็นดัชนีที่ครัวเรือนและธุรกิจใช้อ้างอิงในชีวิตประจำวัน จึงเอื้อต่อการสื่อสาร ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า

2. การกำหนดระยะเวลาของเป้าหมายให้ยาวขึ้นจากรายไตรมาสเป็นรายปี นอกจากจะสื่อถึงการมองไปข้างหน้ามากขึ้น ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินในการรองรับปัจจัยที่ไม่คาดฝัน (Shock) ต่างๆง่ายต่อการสื่อสาร และสอดคล้องกับระยะเวลาที่ใช้ในการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ 4 – 8 ไตรมาส รวมถึงการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทำเป็นประจำทุกปีด้วย

3. การกำหนดค่ากลางที่ชัดเจน จะเหมาะสมกว่าในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับการกำหนด
เป็นช่วงเป้าหมายที่มีเฉพาะขอบบนและขอบล่าง และการอนุญาตให้อัตราเงินเฟ้อสามารถเบี่ยงเบนไปจากค่ากลาง
เป็นการรักษาความยืดหยุ่นของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยค่ากลางและค่าความเบี่ยงเบนที่กำหนดนี้ได้พิจารณาให้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และมีความเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาว

--------

ส่วนการนำเงินสำรองไปจัดตั้ง SWF...ระบุว่า

หน้าที่ของเงินสำรองระหว่างประเทศกับการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund (SWF) ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระดับเงินสำรองระหว่างประเทศสะสมค่อนข้างสูง ขณะที่ผลตอบแทนจากการนำเงินสำรองฯ ไปลงทุนไม่สูงนัก รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะนำเงินสำรองฯ มาจัดตั้ง SWF เพื่อเพิ่มประโยชน์จากการใช้เงินสำรองฯ โดย ธปท. ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้ง SWF ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


ในการหารือเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ดังนี้.....
เงินสำรองฯ มีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และเป็น cushion รองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยสามารถนำไปใช้แทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินบาทในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของค่าเงินอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ดังนั้นหลักการบริหารเงินสำรองฯ เพื่อให้บรรลุหน้าที่หลักข้างต้นจึงต้องให้ความสำคัญกับรักษามูลค่าของเงินสำรองฯและการดำรงสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันการณ์เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน

หรือในยามคับขันที่ตลาดโลกผันผวนมาก ทำให้การนำเงินสำรองฯ ไปลงทุนต้องเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มี
ความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องของตลาดสูง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ สะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำ
ของการลงทุน

การจัดตั้ง SWF เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนสูง แปลว่าจะมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย การนำเงินสำรองมาจัดตั้ง SWF จึงอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารเงินสำรองฯ ทั้งนี้ แม้หลายประเทศมีการจัดตั้ง SWF แต่ส่วนใหญ่ถึง 2 ใน 3 เป็นประเทศที่มีทรัพยากรพลังงาน และเงินที่ใช้จัดตั้ง SWF มาจากรายได้จากการขายสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ได้มาจากเงินสำรองฯ นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ มีเป้าหมายการจัดตั้งที่ชัดเจนเช่น เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ หรือเพื่อรักษาความมั่งคั่งจากการขายทรัพยากรที่อาจไม่เหลือไว้สำหรับประชากรในอนาคต

ดังนั้น ข้อสรุปตามที่ได้หารือกับคณะกรรมการ ธปท. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ....

1. รัฐบาลจะต้องมีเป้าหมายการจัดตั้ง SWF ที่ชัดเจน และต้องมีความพร้อมรองรับในทุกด้าน เช่น มีรูปแบบโครงสร้าง
องค์กรที่เหมาะสม วางกรอบธรรมาภิบาลที่รัดกุม กำหนดระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพตลอดจนมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ SWF สามารถบรรลุเป้าหมายในการจัดตั้ง

2. หากจำเป็นต้องจัดสรรเงินจากเงินสำรองฯ ออกไปตั้ง SWF รัฐบาลควรออกพันธบัตรรัฐบาลขายในตลาด และนำเงินที่ได้มาแลกเงินตราต่างประเทศจากเงินสำรองฯ ซึ่งเป็นการสร้างระบบความรับผิดชอบที่ชัดเจนของรัฐบาล

3. สำหรับทางเลือกอื่น อาทิ แก้กฎหมาย ธปท. ให้จัดแยกบัญชีย่อยเพื่อให้สามารถจัดสรรเงินจากเงินสำรองฯ ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือร่วมลงทุนในต่างประเทศตามนโยบายรัฐบาลนั้น คณะกรรมการ ธปท.ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก 1) เป็นการลงทุนมีความเสี่ยงสูง ไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารเงินสำรองฯ 2) ธปท. ต้องรับความเสี่ยง แต่ไม่มีอำนาจบริหารจัดการโดยตรง 3) มีความห่วงใยด้านหลักธรรมาภิบาล เพราะแนวทางการบริหารในรูปแบบคณะกรรมการร่วมอาจทำให้ถูกแทรกแซงได้ และการชดเชยความเสียหายของรัฐบาลอาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และ 4) เป็นการสร้างกรณีตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การแก้กฎหมายเพื่อจุดประสงค์อื่นในอนาคต


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ธปท. เล่นเกมรุก คลัง ยันจุดยืน หนี้กองทุนฯ 1.1 ล้านล้าน

view