สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผ่าแผน!อุ้มกทม.ผันน้ำเข้า บางปะกง

ผ่าแผน!อุ้มกทม.ผันน้ำเข้า'บางปะกง'

รัฐบาล ระดมกำลังป้องกันกรุงเทพฯ สั่งเร่งระบายจากเจ้าพระยาผ่านคลองแสนแสบ-พระโขนง-สำโรง ลงแม่น้ำบางปะกง"รอยล" บอกให้ทำใจน้ำท่วมกรุง
  นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ที่กรมชลประทาน ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว เพื่อบรรเทาปริมาณน้ำเหนือที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมหาศาลจากการเร่งระบายน้ำเพิ่มขึ้นของเขื่อนภูมิพล


 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงให้กรมชลประทานผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองพระโขนง คลองแสนแสบของกรุงเทพมหานคร และคลองสำโรง ที่ไหลผ่าน จ.สมุทรปราการ และจ.ฉะเชิงเทรา เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยทางแม่น้ำบางปะกง

 นอกจากนี้  ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเรือดันน้ำ กรมชลฯรับผิดชอบติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำด้วย

 “การผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่แม่น้ำบางปะกง  จะไม่ทำให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯได้รับผลกระทบ เพราะนี่คือโครงการเดิมที่กรมชลฯ ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นผู้ดูแลเข้าไปขุดลอกคลองสำโรงให้การระบายน้ำทำได้ง่ายมากขึ้น”นายธีระกล่าว

 นายธีระ กล่าวว่า หากดูจากสถานการณ์ปริมาณน้ำจากภาคเหนือผ่านลุ่มน้ำสำคัญ รวมทั้งปริมาณฝนและอิทธิพลของพายุ ณ ขณะปัจจุบันจะส่งผลให้น้ำท่วมที่อยุธยากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากขึ้น และระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

 "ยอมรับว่า วันที่ 13-14 ต.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ จะสูงกว่านี้คือจะไปถึงระดับ 4,500-5,500 ลูกบาศก์เมตร แต่ตัวเลขวันนี้คาดการณ์ยาก ต้องเรียนตรงไปตรงเนื่องจากน้ำแผ่ลงไปในทุ่งต่าง ๆ ตอนนี้ก็ประเมินจากพื้นที่ต่างๆ อยู่ด้วย จากนั้น น้ำจะมา จ.ชัยนาท ในวันที่ 13-14 ต.ค. และวันที่ 16-17 ต.ค. ปริมาณน้ำจะมาที่ อ.บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา โดยมวลน้ำจะอยู่ที่ 3,600-3,700 ลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำจะแผ่กระจายในพื้นที่ช่วงบนก่อน"

 ขณะนี้  ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3  กลุ่มคือ พื้นที่แรก คือ จ.สิงห์บุรี ขึ้นไป และจะมีพื้นที่ขยายน้ำท่วมไปอีก พื้นที่ที่สองคือ พื้นที่น้ำท่วมในวันนี้อยู่แล้วและจะดูแลอย่างไร พื้นที่ที่สามคือพื้นที่ชายทะเลที่จะผลักดันน้ำลงทะเลให้เร็วจากเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ

 นายธีระ กล่าวด้วยว่า  กรมชลประทานพยายามผลักดันน้ำอย่างเต็มที่ โดยมีเครื่องจักรต่างๆ รวมร้อยกว่าเครื่อง จะช่วยได้ในบางพื้นที่ เช่น แม่น้ำท่าจีน และพื้นที่ตะวันออกเพื่อผลักดันน้ำลงทะเล เช่น คลองสำโรงในโครงการระบายน้ำสุวรรณภูมิ

 ส่วนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นไม่มีปัญหาเพราะระบบการระบายน้ำนั้นจัดทำเต็มระบบแล้วและยังสูบน้ำไม่เต็มศักยภาพ ส่วนพื้นที่ กทม. นั้น ทาง กทม.แจ้งว่าป้องกันได้ เพราะว่า กทม.กับกรมชลประทานประสานงานกันทำงาน

 นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯขณะนี้ต้องทำใจ และต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา ให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลง

 "กรมชลประทานต้องประสานกับกรุงเทพฯ เพื่อเร่งระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกของฝั่งเจ้าพระยาให้มากที่สุดเนื่องจากยังพื้นที่รับน้ำได้อีกมากผ่านคลอง ท่อระบายน้ำ และช่องทางอื่นๆ และลดการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกที่ขณะนี้ไม่มีพื้นที่รับน้ำแล้ว หากทำได้ดีการระบายน้ำออกสู่ทะเลจะทำได้เร็วขึ้น"

 นายรอยล  กล่าวว่า  การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม กทม. คงทำได้เฉพาะระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาว 4-5 ปีข้างหน้า ต้องเร่งดูแลเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งคลอง เขื่อน ประตูระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อให้เครื่องมือที่มีอยู่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่อย่างปีนี้จะไม่เกิดขึ้น แม้จะไม่มีการเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาก็ตาม ดังนั้นการดูแลแหล่งน้ำ คลอง ต่อจากนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญ

 นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาวัดที่ประตูระบายน้ำ อ.บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4,397 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มจากเมื่อวานนี้ 666 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 วัดได้ 4,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มจากเมื่อวาน 31 ลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาวัดที่ปากคลองตลาดสูงสุด 1.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

 นายสัญญา  กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า  กทม.กันน้ำไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ เป็นผลให้จังหวัดโดยรอบประสบน้ำท่วมนั้น อยากให้เข้าใจว่า กทม.ได้เตรียมการพัฒนาเรื่องน้ำมาตั้งแต่ปี 2526 โดยมีการทำโครงการและพัฒนาศึกษาวิจัยมาโดยตลอด ทั้งการสร้างสถานีสูบน้ำ แนวคันกั้นน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ พื้นที่แก้มลิง รวมทั้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ซึ่งล้วนแต่ใช้เวลาในการวางแผน จึงทำให้ปัจจุบัน กทม. สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้

 นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิริ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้มีการประสานงานร่วมกับกองทัพเรือและเอกชน  เพื่อนำเรือขนาดใหญ่มาเร่งระบายน้ำออก โดยเฉพาะบริเวณคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อดันน้ำลงทะเลในช่วงน้ำทะเลยังไม่หนุนสูง ระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคกลาง จะสามารถระบายน้ำและทราบถึงระดับน้ำที่ลดลงได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา

Tags : ผ่าแผน อุ้มกทม. ผันน้ำ บางปะกง

view