สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำสั่ง ยิ่งลักษณ์ อัมพาต ทักษิณ-บรรหาร-บ้าน 111 หน่วยชูชีพ-กู้ภัยน้ำท่วมรัฐบาล

คำสั่ง ยิ่งลักษณ์  อัมพาต ทักษิณ-บรรหาร-บ้าน 111 หน่วยชูชีพ-กู้ภัยน้ำท่วมรัฐบาล

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ภาพ-การบัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย ในนาม 5 พรรคร่วมรัฐบาล 299 เสียง

ยังมีเฉพาะภาพ "พรรคเพื่อไทย"

ทั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล-ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง ทั้งคณะกรรมการเฉพาะหน้า มีแต่หน้ารองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

มือซ้าย-มือขวา ของ น.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร จึงมีเฉพาะ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปฏิบัติงานควบคู่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ทั้ง ๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็อยู่ในการกำกับของรัฐมนตรีจาก พรรคชาติไทยพัฒนา ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา

กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรม อยู่ในการกำกับของรัฐมนตรีจากพรรครวมชาติพัฒนา ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

แต่การบัญชาการทั้งหมด ยังกระจุกอยู่ในมือของรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

การ บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ- คำสั่งที่ออกจากทำเนียบรัฐบาลจึงเป็นอัมพาต นานนับสัปดาห์ กว่าจะเกิดคณะกรรมการแบบ single command-ศูนย์รวมสั่งการ ที่สนามบินดอนเมือง

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย อธิบายปัญหา-อุปสรรค "การเมือง" ในการจัดการน้ำท่วม พ.ศ. 2554 ว่า เป็นเพราะที่ทำเนียบรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรี+รองนายกรัฐมนตรี+รัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี+โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองโฆษก เป็น "มือใหม่ทั้งหมด"

ทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์-นายยงยุทธ-น.พ.สุรวิทย์ คณสมบูรณ์-น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์-นางฐิติมา ฉายแสง ต่างเป็นคนใหม่ ไม่เคยเผชิญหน้าและแก้ปัญหาวิกฤตระดับชาติ

มีแต่เพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น ที่เคยมีประสบการณ์ เป็นรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ปรากฏชื่อ-ภาพ อยู่ในทีม "พิเศษ" เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

การ โอเปอเรชั่น สั่งการทีมทำงาน-ผลิตข้อเสนอ-แนวนโยบายระดับปฏิบัติการ จึงถูกส่งมาจาก "ทีมพี่เลี้ยง" กลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 เป็นหลัก

แต่ การปฏิบัติการในช่วงแรกไม่ ราบรื่นนัก เพราะกูรู-เรื่องน้ำ ในพรรคร่วมรัฐบาล มี "บรรหาร ศิลปอาชา" แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา บัญชาการอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง

เป็นการบัญชาการที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการปฏิบัติการของพรรคเพื่อไทย

จึงเกิดปัญหาระหว่าง นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่เปิดศึกกับนายบรรหาร เพราะเหตุน้ำไม่ท่วม จ.สุพรรณบุรี

กลาย เป็นญัตติด่วน เรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม ในสภาผู้แทนราษฎรที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจากเพื่อไทย ตะลุมบอนกับ ส.ส. ของพรรคชาติไทยพัฒนา พาดพิงไป ถึงการสร้างบึงฉวากเป็นเหตุหนึ่งของ น้ำท่วม

นายพายัพอธิบายว่า "สาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำไม่ท่วมสุพรรณบุรี มาจากการระบายน้ำน้อยเกินไปจากประตูน้ำพลเทพตรงแม่น้ำสุพรรณบุรี ส่งผลให้ น้ำไปเอ่อท่วมจังหวัดอุทัยธานี อ่างทอง และชัยนาท ทางผ่านของแม่น้ำสุพรรณบุรี มีบางพื้นที่ของสุพรรณบุรี น้ำท่วมบ้างจริง แต่อยู่ใน อ.เดิมบางนางบวช พื้นที่ของนายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคเพื่อไทย"

ก่อนศึกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจะบานปลาย "พ.ต.ท.ทักษิณ" ต้องสั่งการข้ามน้ำ ข้ามทะเลทราย มาจากนครดูไบ

คำ สั่งมีว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์มาประสานงานว่าอยากให้ ส.ส.พรรค เพื่อไทยยุติการแสดงท่าทีเกี่ยวกับ ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะการแสดง ความคิดเห็นพาดพิงพรรคชาติไทยพัฒนาในฐานะที่เป็นพรรคที่ดูแล กรมชลประทานหน่วยงานในสังกัด ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีส่วนสำคัญทำให้สุพรรณบุรีน้ำไม่ท่วม"

"สำหรับ ปัญหานี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะขอหารือกับนายบรรหารเป็นการ ส่วนตัว เพราะหากปล่อยให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็นกันต่อไปกังวลว่าอาจจะกระทบความสัมพันธ์กับพรรคร่วม รัฐบาลได้"

อ้างถึง-คำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ นำไปสู่การชี้แจงของนายบรรหาร มีใจ ความสำคัญว่าด้วย "สุพรรณบุรีน้ำก็ท่วมเหมือนจังหวัดอื่น"

ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปรึกษา นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา ต่างพากันชี้แจงเรื่อง จ.สุพรรณบุรี

"ยืนยันจังหวัดสุพรรณบุรีก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วม กินพื้นที่ความเสียหายไปแล้วประมาณ 3.4 แสนไร่"

ข้อ เสนอเฉพาะหน้าของนายบรรหาร คือ 1.ใช้โมเดลคลองลัดโพธิ์ สร้างประตูน้ำใหม่ 4 จุด 2.สร้างเขื่อนทุกจังหวัด เช่น จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท โดยเน้นการป้องกันเขตเทศบาลเมืองเป็นหลัก

ขณะที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย พลิกข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาขยายเป็นนโยบาย ที่เคยเสนอไว้ในวาระที่น้ำท่วมภาคใต้-ต้นฤดูร้อน 2554 นโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ มี 5 ข้อ อาทิ

1.สร้างเขื่อนและประตูกันน้ำทะเลหนุนและประตูเพื่อระบายน้ำลงทะเลรอบกรุงเทพฯ/สมุทรปราการ และสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นที่พักผ่อน

2.สร้างแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ในลุ่มแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ รวมไปถึงแม่น้ำโขงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูที่น้ำน้อย

3.ขุด เขื่อนแม่น้ำสายหลักที่ไม่ไกลกันมากเข้าหากันเหมือนที่เคยทำแล้ว โดยเชื่อมแม่น้ำยมเข้ากับแม่น้ำน่าน ทำให้สามารถผันน้ำไปตามปริมาณน้ำได้

4.สร้างป่าชุมชนขึ้น 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชน เพื่อเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น

5.พื้นป่าต้นน้ำ ปลูกหญ้าแฝกกันดิน (soil erosion) ตามแนวพระราชดำริ

ดัง คำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กล่าวออกรายการวิทยุว่า จำพลาดจากคำ "หญ้าแฝก" เป็น "หญ้าแพรก" จึงมีที่มา ข้อแนะนำของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้พี่ 5 ข้อนี้

ระหว่างที่ "คำสั่ง" จากรัฐบาลอัมพาต ไม่อาจลงสู่ระดับปฏิบัติการ

ระหว่าง ที่รอฟัง "ยิ่งลักษณ์" ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกทีวีคอนเฟอเรนซ์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด รายงานสถานการณ์น้ำท่วมทุกวัน

ข้าราชการ-ประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค 299 เสียง อาจต้องคอยเงี่ยหูฟัง "คำสั่ง" ข้ามทะเลทราย เสียงจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ด้วย


ยิ่งลักษณ์ ต้องบอกความจริงประชาชน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ภาพสะท้อนที่ชี้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต เมื่อบรรดาทีมกุนซือ 111+109 จากพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ต้องออกมาช่วยรัฐบาล โดยประชุมวางแผนช่วยทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบประชาชน

เพราะวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้เกินขีดความสามารถที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะคุมสถานการณ์อยู่ จำเป็นที่ทุกกลไกของรัฐบาลต้องระดมมือไม้มาช่วยกันเต็มที่

แม้แต่ฝ่ายค้านกับรัฐบาลยังต้องจับมือร่วมกันแก้ปัญหา

เกือบ 30 จังหวัดที่สาหัส เพราะเตรียมการตั้งรับไม่ทัน ไม่คิดว่ามวลน้ำจะมหาศาลเพียงนี้ และมีแนวโน้มว่าจะท่วมกรุงเทพฯ แน่ๆ

เขตชั้นนอกด้านตะวันออกกรุงเทพฯ โดนเจาะไปแล้ว 4 เขต มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา

 ทางเหนือ กทม.หลายเมืองแตกยับ จ.นคร สวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรี อยุธยา ส่วน จ.ปทุมธานี ด่านหน้าอีกแห่งก็สั่งระดมพลป้องกันเขตเมืองจ้าละหวั่น ไม่เว้นแม้แต่ฝั่งซ้าย จ.นนทบุรี และนครปฐม ที่มวลน้ำเริ่มทะลักหลายจุด

รัฐบาลตั้งศูนย์สั่งการแถลงข่าวความคืบหน้า แต่ยังบรรเทาความเดือดร้อนไม่ได้มาก เพราะอยู่ในสถานการณ์รับน้ำจากทุกสารทิศ

ปัญหาอุทกภัยที่ลามกระทบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้กุนซือ 111+109 นิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องโผล่มาช่วยบัญชาการที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ของรัฐบาล

หลายคนที่เคยหายหน้า ก็ปรากฏตัวในงานเป็นทางการครั้งแรก เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรย์เดช จาตุรนต์ ฉายแสง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล น.ต.ศิธา ทิวารี วราเทพ รัตนากร พวงเพ็ชร ชุนละเอียด สุรนันทน์ เวชชาชีวะ รวมถึง ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขาฯ ส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แกนนำ 111 รายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ครม.ยิ่งลักษณ์ ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีมือใหม่ ไม่มีประสบการณ์ สั่งการไม่เป็น เมื่อกลุ่ม 111+109 อยากเข้าไปช่วย ก็ถูกตีกันจากพวกเดียวกัน เพราะไม่ไว้ใจ เกรงจะชิงนำกันเอง แต่ถ้าปล่อยไป วิกฤตจะจัดการกับรัฐบาลจนไปไม่รอด

สิ่งที่ทีมกุนซือกังวลคือ ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการเต็มที่ ปล่อยให้ปัญหาน้ำยกระดับเกินจะแก้ไข การจัดระบบทำด้วยความยากลำบาก ทีม 111 จึงหวังเข้ามาอุดรอยรั่ว เร่งประสานงานกับข้าราชการให้การแก้ปัญหาน้ำบูรณาการในทิศทางเดียวกัน

พร้อมระดมสรรพกำลังในเครือข่ายทักษิณ รัฐบาลทีม 111+109 สส.พรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงแบ่งกันวิเคราะห์ปัญหา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมเท่าที่ทำได้

สำคัญที่สุด ณ เวลานี้ จะป้องกันเมืองหลวงอย่างไรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะถ้าท่วมขังทั้งกรุงเทพฯ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและปัญหาเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่

และพันไปถึงอนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์!

โดยเฉพาะช่วงระทึกขวัญปลายสัปดาห์นี้ วันเสาร์ที่ 15 ต.ค.–วันจันทร์ที่ 17 ต.ค. จะมีน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุนสูง และน้ำฝนประดังเป็นวิกฤตระลอกใหญ่ ซึ่งรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่าอาจจะเอาไม่อยู่

แต่ยิ่งมองก็เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะขนาดยังไม่ถึงช่วงวิกฤตสุด กรุงเทพฯ ก็ถูกโจมตีทุกทิศทางจนแตกตื่นกันทั้งเมือง ทั้งยังมีพายุที่คาดจะถล่มอีกลูกในเร็ววันนี้

ทีม 111 บางรายโยนว่า เหตุที่ระบายน้ำไม่ทัน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจาก กทม.ให้เปิดประตูน้ำ และถ้าน้ำท่วมกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรับผิดชอบ

เฉลี่ยทุกข์ไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกตำหนิฝ่ายเดียว

อีกด้านทีมยุทธศาสตร์พรรค จากกลุ่ม 109 นำโดย นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์แก้เกมว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องบอกความจริงกับประชาชน เพื่อให้คนกรุงทำใจรับมือถูก

“แม้จะเป็นข้อมูลที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดก็ตาม แต่นายกฯ ต้องบอกความจริง เพื่อเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที ทุกหน่วยต้องประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำที่สุด เพราะอีก 45 วัน จะมีน้ำเหนือไหลลงมา แล้วถ้ามาเจอกับพายุฝนอีก เหล่านี้รัฐบาลต้องประเมินให้ถูกต้อง”

สาระของนพดลยังกระทบชิ่งไปที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพรรคชาติพัฒนาดูแลอยู่ ที่เห็นว่ากั๊กข้อมูลระดับน้ำ การระบายน้ำ ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

ทีมกุนซือแก้เกมโยนให้พรรคร่วมรัฐบาลชาติไทยพัฒนารับผิดชอบ หากสถานการณ์น้ำวิกฤตเกินเยียวยา

ย้ำจุดเปราะบางในรัฐบาลที่มีการเปิดศึกก่อนหน้าระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ บรรหาร ศิลปอาชา ที่ไม่ยอมให้น้ำเข้า จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง พื้นที่ของชาติไทยพัฒนา

ถึงแม้จะปัดพ้นตัว แต่ถ้ามีการ “กั๊กข้อมูล” จริงดังว่า ก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เพราะตอกย้ำถึงปัญหาภายในรัฐบาลที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่วางแผนในภาวะวิกฤตปล่อยให้ต่างคนต่างทำ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน

แต่น่าสนใจว่า “ความจริง” นั้นเป็นอย่างไร เพราะแม้แต่ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ยังบอกว่า ประเมินจำนวนมวลน้ำใน จ.พระนครศรีอยุธยา ผิดพลาด จึงเกิดเหตุน้ำท่วมสูงขึ้น คำถามคือข้อมูลอะไรที่ทำให้ประเมินผิดพลาด

เวลาที่เหลืออยู่นอกจากงัดมาตรการตั้งรับสุดฝีมือ จึงต้องบอกความจริงรับกับสภาพวิกฤตที่เป็นอยู่

ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา คนปทุมธานี ชาวนครสวรรค์ ฯลฯ ได้รับคำเตือนจากรัฐบาลกระชั้นชิดเกิน จนทุกอย่างสายเกินแก้

บอกความจริง ถ้าไม่มั่นใจว่าจะเอาอยู่

กรุงเทพฯ ชั้นนอกโดนแน่ ส่วนชั้นในที่ว่าสบาย อาจไม่ใช่อย่างที่คิด...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : คำสั่ง ยิ่งลักษณ์ อัมพาต ทักษิณ บรรหาร บ้าน 111 หน่วยชูชีพ กู้ภัย น้ำท่วมรัฐบาล

view