สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิสิฐ เตือนรัฐระวังกับดักหนี้ ซ้ำรอยกรีซ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ศรัณย์ กิจวศิน

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มช. เตือนภาครัฐอย่าหลอกตัวเองหนี้ต่ำ ชี้อาจเจอกับดักหนี้แบบ "กรีซ" ได้ แนะกระทรวงคลังคิดนโยบายให้ตกผนึกก่อนประกาศใช้
เปิดฉากยิ่งใหญ่สำหรับนโยบาย "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1" โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากคนทุกชนชั้น ไล่เรียงตั้งแต่คนรายได้น้อยไปจนระดับมหาเศรษฐี และแน่นอนว่า นโยบายที่ออกมาล้วนแต่ต้องใช้เงินงบประมาณอย่างมหาศาล จึงไม่แปลกที่จะมีคำถามเชิงเป็นห่วงออกมาจากทั้งฝ่ายนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์จากทั่วประเทศ

พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ค่อนข้างกังวลกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยเขาให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนนำมาใช้ อยากให้คิดอย่างรอบคอบและพิจารณาจนตกผลึกก่อนนำมาใช้ เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญ ไม่อยากให้รัฐบาลคิดว่าหนี้สาธารณะของประเทศยังต่ำ เพราะเราอาจติดกับดักหนี้เหมือนกับที่กรีซกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ได้

"ทุกวันนี้ เรายังหลอกตัวเองว่าหนี้เราต่ำแค่ 40% ของจีดีพี แต่เราลืมไปว่า รายได้เราก็ต่ำด้วย แค่ 20% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นแม้เขาจะมีหนี้สาธารณะสูงถึง 80-90% แต่รายได้ต่อจีดีพีเขาก็สูงด้วย โดยเฉลี่ยอยู่ระดับ 40-50% ดังนั้น เราอย่าหลอกตัวเองอีกเลยว่าเรายังมีความสามารถในการก่อหนี้ เพราะเราอาจติดกับดักหนี้แบบที่กรีซเจออยู่ตอนนี้ก็ได้"

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังมีหนี้ที่ไม่ได้โชว์อยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะอีกมากมาย ซึ่งเป็นหนี้จากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าไปดูตัวเลขหนี้ตามโรงพยาบาลรัฐต่างๆ จะเห็นว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมไปถึงหนี้ที่อยู่ในรูปของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งถ้าเกิดปัญหามา รัฐบาลเองก็ต้องเป็นผู้ชดใช้อยู่ดี

สำหรับกลไกการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น "พิสิฐ" แนะนำว่า ก่อนจะออกมาตรการใดๆ รัฐบาลควรคิดให้ตกผลึกก่อนว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมาตรการนั้นๆ คือ อะไรกันแน่ อย่างกรณีของรถยนต์คันแรก รัฐบาลต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า ตกลงจะสนับสนุนในเรื่องอะไร ระหว่างการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานโดยหันมาใช้รถสาธารณะ หรือสนับสนุนให้เด็กจบใหม่มีรถยนต์ใช้ ส่วนในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น เขาย้ำว่าไม่ได้ต่อต้านในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง เพราะยังไงค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องเพิ่มอยู่แล้วในท้ายที่สุด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่การปรับขึ้นไม่ควรไปทำให้มันผิดธรรมชาติ เพราะจะทำให้กลไกต่างๆ บิดเบี้ยวไปหมด

"พิสิฐ" บอกด้วยว่า กรณีค่าแรงขั้นต่ำนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) นั้น อาจได้รับผลกระทบได้ จากเดิมที่ใช้ระบบจ้างงานตามปกติ ก็อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีเหมางานแทน หรือไม่ก็อาจใช้วิธีแอบจ้างงาน จนทำให้เกิดปัญหาแรงงานนอกระบบได้

"วิธีที่รัฐบาลควรทำมากที่สุด คือ ดึงแรงงานที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ โดยปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยมีทั้งหมด 38 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้อยู่ในระบบเพียง 14 ล้านคน ขณะที่อีก 24 ล้านคนล้วนอยู่นอกระบบ หากภาครัฐสามารถดึงแรงงานเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบได้ ก็จะถือเป็นประสบความสำเร็จอย่างมาก"

"พิสิฐ" ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐดันออกมา ไม่จำเป็นต้องห่วงในเรื่องการเลือกตั้งมากเกินไป เพราะยังมีเวลาเหลืออีก 4 ปี ดังนั้น จึงควรมุ่งบริหารเศรษฐกิจให้ดี และนโยบายต่างๆ ต้องชัดเจน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ที่สำคัญ การดำเนินนโยบายระหว่าง นโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ควรจะต้องไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

"ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่อง คือ แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง เพราะเงินเฟ้อมันสูงขึ้น แต่รัฐบาลกลับดำเนินนโยบาย ลด แลก แจก แถม ในเรื่องรถยนต์กับบ้าน โดยไม่รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรกันแน่ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลพยายามกระตุ้นการใช้จ่าย แถมให้ดอกเบี้ย 0% ขณะที่แบงก์ชาติพยายามขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง มันเลยทำให้เกิดคำถามว่า การผสานนโยบายระหว่าง การเงิน กับการคลังมีมากน้อยแค่ไหน"

สำหรับกรณีนี้ "พิสิฐ" ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของไทยช่วงที่ผ่านมา ยังไม่จำเป็นต้องใช้แรงกระตุ้นมากนัก เพราะถ้าดูการเติบโตก็ยังอยู่ระดับ 3-5% ซึ่งถือเป็นระดับที่ยังดี และเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ตกต่ำเหมือนที่อื่น ดังนั้น ความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นจึงไม่มากนัก ซึ่งดูแล้วนโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมาดูจะมองเศรษฐกิจทะลุได้ดีกว่า ขณะที่นโยบายการคลังเองอาจมีแรงบีบมากเกินไป

เขายังบอกด้วยว่า ถ้าดูเงินเฟ้อปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ระดับ 4% เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.5% ก็คงต้องลุ้นให้เงินเฟ้อไม่ปรับขึ้นไปสูงมากกว่านี้ เพราะถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้นถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เหมือนกับที่จีนและอินเดียเผชิญอยู่ คือ แม้เขาพยายามแตะเบรกทางเศรษฐกิจแต่เงินเฟ้อยังคงวิ่งสูงขึ้น

"เงินเฟ้อมันเหมือนกับ Snowball เวลามันเกิดแล้ว มันจะขึ้นต่อเนื่อง โตไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่สามารถหยุดมันได้ มันก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น มันไม่ได้เป็นแบบที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบอกกันว่า ปรับเงินเดือนแล้วเงินเฟ้อมันเกิดครั้งเดียวก็จบ แต่มันมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกจนมีผลต่อเนื่อง"

"พิสิฐ" ยังให้ความเห็นในเรื่องของการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) ด้วยว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ โดยทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดมาจากการค้าขายที่เกินดุล เงินที่ไหลเข้ามาลงทุน จนทำให้ทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน

เขากล่าวว่า ปัจจุบันแบงก์ชาตินำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในรูปของพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำมาก ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติเองก็มีหน้าที่ต้องดูแลปริมาณเงินในระบบ ต้องดูดซับสภาพคล่องกับมาเพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งการดูดซับสภาพคล่องก็ต้องมีการออกพันธบัตรขาย แบงก์ชาติจึงมีภาระต้นทุนที่ต้องดูแลในส่วนนี้ด้วย

"เราไปลงทุนในบอนด์ที่มีดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ต้องออกบอนด์ในประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่า เท่ากับเราสูญเสียโอกาสไปเท่าไร เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยทุกๆ 1% หมายความว่า ทุนสำรองที่เรามีอยู่ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ เราต้องสูญเสียดอกเบี้ยปีละ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินจำนวนนี้ สามารถนำไปลงทุนอะไรได้อีกเยอะแยะ"

นอกจากนี้ "พิสิฐ" ยังให้ความเห็นว่า รูปแบบการลงทุนของแบงก์ชาติในปัจจุบัน เหมาะกับช่วงที่ทุนสำรองอยู่ในระดับต่ำ แต่ช่วงที่ทุนสำรองสูงแบบนี้ ก็คงต้องถามว่าเราจะสะสมไว้เยอะแยะทำไม แล้วทำให้สูญเสียโอกาสในการหารายได้ให้กับประเทศด้วย
 

"พิสิฐ" ยังระบุด้วยว่า ถ้าดูประเทศเกาหลีใต้ พอเขามีทุนสำรอง สูงแตะระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เขาก็เริ่มกันเงินส่วนหนึ่งหรือประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เอาไปตั้งกองทุนในลักษณะนี้ขึ้นมา ประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ใช้วิธีลักษณะเดียวกัน

เขาบอกด้วยว่า หากเราจะตั้งกองทุน ไม่ได้หมายความว่าต้องไปแยกเงินออกมาจากแบงก์ชาติ ซึ่งเราอาจใช้วิธีจัดตั้งหน่วยงานพิเศษของประเทศขึ้นมา แล้วออกพันธบัตรขายกับแบงก์ชาติก็ได้ โดยที่หน่วยงานนี้ต้องทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ที่สำคัญ ปลอดพ้นจากการเมือง และก็นำเงินตรงนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าจะสร้างดอกผลที่ดีให้กับประเทศ

"ในความเห็นของผมแล้ว มองว่าตอนนี้เรามีทุนสำรองระดับ 1.8 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าดึงออกมาซัก 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็น่าจะโอเค เพียงแต่การบริหารต้องมีความเป็นอิสระ เพราะสิ่งที่อัตราที่สุดของเรื่องนี้ คือ การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจทำให้การบริหารงานไม่เป็นไปตามกลไกตลาด"



สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พิสิฐ เตือนรัฐ ระวังกับดักหนี้ ซ้ำรอยกรีซ

view