สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมดยุค ดอกเบี้ยขาขึ้น

จาก โพสต์ทูเดย์

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ของไทยทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

โดย...ทีมข่าวการเงิน

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ของไทยทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจใน อีก 2 นัดที่เหลือของปี คือ วันที่ 19 ต.ค. และวันที่ 30 พ.ย.นี้ ได้รับการจับตาอย่างมากว่า กนง.จะมีการปรับทิศแบบ 360 องศา จากที่มีการเข้มงวดในการดูแลเงินเฟ้อด้วยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่องมา ตั้งแต่ต้นปีหรือไม่

มาถึงนาทีนี้ น่าจะถึงเวลาที่ กนง.จะต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อเป็นตัวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ตั้งแต่ไทยเคยเจอน้ำท่วมมา

มีการเปรียบเทียบว่า ความเสียหายน้ำท่วมของไทยครั้งนี้ เทียบชั้นได้กับความเสียหายที่ประเทศญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเลย ทีเดียว

นอกจากบ้านเรือนทรัพย์สินประชาชนที่เสียหายจำนวนมาก ยังมีพื้นที่เกษตรเสียหายนับ 10 ล้านไร่ และยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศและภูมิภาคอีก 4 แห่ง ที่จมน้ำเสียหาย 100% ไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมที่ยังลุ้นกันนาทีต่อนาทีว่า จะรอดหรือจมตามนิคมอุตสาหกรรมอื่นไปในที่สุด

มีการประเมินกันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้กว่า 1 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าถึงที่สุดความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นอย่างน้อย

แน่นอน ความเสียหายจำนวนมหาศาลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในปีนี้แบบ ทันควัน มีการคาดกันว่าไม่น้อยกว่า 1% หรืออาจไปถึง 2% จากความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรม การลดการจ้างงาน การลดผลลงของผลผิตทางการเกษตรจำนวนมาก จากที่คาดว่าจะเติบโตได้ 45% อาจเหลือเพียง 3% เท่านั้น

 

ที่สำคัญ เศรษฐกิจปี 2555 ที่คาดว่าโตได้ 45% จะโดนพิษน้ำท่วมแบบเต็มๆ เพราะกว่าน้ำจะลดเข้าสู่สภาพปกติยังใช้เวลาอีกนับเดือน และการฟื้นฟูประเทศทั้งชาวบ้านหรือนิคมอุตสาหกรรม ต้องใช้เวลาอีก 10-12 เดือน

ฟันธงลงไปได้เลยว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เริดหรูอย่างแน่นอน

แค่ปัจจัยภายในประเทศไทยอย่างเดียว ก็บ่งชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้ามีแต่ทรุดกับทรุด

ยังไม่รวมกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่คลังประเมินว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจในปีนี้หายไป 0.2% ต่อปีในปีนี้ สำหรับปีหน้าคาดว่ากระทบไม่น้อยกว่ากันบนพื้นฐานเศรษฐกิจโลกไม่ลุกลาม มากกว่าที่เป็นอยู่

ผลของปัจจัยลบทั้งหมดที่รุมสกรัม ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศให้โคม่าเพิ่มขึ้นอีก

ดังนั้น กนง.มีความจำเป็นที่ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนไม่ต้องตีความว่า จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ต่อปี ไปจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ และวางแผนการเงินในการฟื้นฟูความเสียหายได้

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) โดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ต้องการให้ กนง.หยุดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ ธปท.ยังต้องการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว และดูเหมือนต้องการขึ้นดอกเบี้ยทิ้งทวนอีกสัก 1 ครั้ง หรือ 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า การดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.92% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 4.03% ให้อยู่หมัดอีกสักครั้ง

แต่มาถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก แม้ว่าจะผ่านมาไม่ถึง 2 เดือนเท่านั้น

ถึงตอนนี้การดูแลอัตราเงินเฟ้อต้องถือเป็นเรื่องรองกว่าปากท้องของคนในชาติเสียแล้ว

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายหลายแสนล้านบาท ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนับปี จะต้องได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ควบคู่ไปมาตรการทางการคลัง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

การที่ กนง.จะมาปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ คงต้องปิดประตูไปตลอดปี เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนับจากนี้ไป ก็จะมีการสลับขั้วจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสูง มาเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากการผลิตสินค้าไม่เพียงพอ ที่เป็นปัญหาลูกโซ่จากน้ำท่วม

ภาวะเงินเฟ้ออย่างนี้ น่าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ทำให้ กนง.ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เป็นอุปสรรคกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถึงนาทีนี้ถ้า กนง.ยังจะขึ้นดอกเบี้ยอีก จะทำให้ทั้งประชาชนลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น เพราะต้องแบกภาระเงินกู้จนหลังแอ่น ทั้งจากหนี้เดิมที่ไม่มีโอกาสหาเงินมาจ่าย และต้องกู้เงินมาใหม่เพื่อฟื้นฟูทรัพย์สิน รายได้ที่เสียหายไปจากอิทธิฤทธิ์ของน้ำท่วมเมือง

ขณะที่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยหาบเร่แผงลอย จำนวนนับไม่ถ้วนเสียหายยับนับ 45 แสนราย

พวกเขาเหล่านั้นต้องการสินเชื่อหลายหมื่นล้านบาทมารซ่อมแซมความเสียหายของโรงงานหรืออาชีพเพื่อให้ดำเนินการต่อ

หากต้องมาแบกภาระดอกเบี้ยมากๆ ก็ทำให้การฟื้นฟูมีปัญหาล่าช้า หรือต้องล้มหายตายจากไป

การหยุดดอกเบี้ยของ กนง. จึงเป็นดังน้ำทิพย์ชโลมใจ ซับน้ำตาน้ำท่วม ให้ทุกชีวิตได้ลุกขึ้นยืนสู้อีกครั้ง

แต่หากยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป คนไทยคงต้องการจำหน้าตาและจิตใจของผู้ตัดสินใจเป็นแน่แท้..

ไม่เชื่อลองขึ้นดอกเบี้ยดู...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : หมดยุค ดอกเบี้ยขาขึ้น

view