สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Financial Edge:สภาวะเศรษฐกิจโลกแห่งความไม่แน่นอน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

พรเทพ ตังคเศรณี แห่ง สีลม แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่

ในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบลงอย่างไร เพราะผลพวงของความเสียหายที่ประมาณกันว่าหลายแสนล้านบาทนั้นเป็นมูลค่ามิใช่น้อย

ขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่หมดไป วิกฤติเศรษฐกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากภาระหนี้จำนวนมหาศาลของประเทศกรีซ และอีกบางประเทศในยุโรป ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะสามารถบรรเทาได้บ้าง แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาอีกระลอก เหมือนน้ำท่วมที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

ย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งปีก่อน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศบราซิล ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤติของค่าเงิน โดยแสดงความกังวลถึงผลกระทบหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะชะลอตัว และทำให้การใช้จ่ายลดลง จะส่งผลให้ค่าเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า

ในทางกลับกันก็จะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตัวอย่างเช่น เงินเรียลของบราซิล ในเดือน ส.ค.2554 แข็งค่าขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หรือแม้แต่เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์

การแข็งค่าของสกุลเงินในแต่ละประเทศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศนั้นๆ เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกมีราคาขายสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องเข้ามาจัดการการไหลของเงิน เพื่อชะลอการแข็งค่าของสกุลเงินของตัวเอง และคงความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการส่งออก

แต่ในปัจจุบันเมื่อวิกฤติหนี้สินของกรีซเริ่มแสดงอาการหนักขึ้น และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโลก ความกังวลว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ กลับเปลี่ยนข้างกลับกัน

วิกฤติการเงินในกรีซ และอีกหลายประเทศในยุโรป ที่กระจายผลกระทบไปสู่หลายประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นกับระบบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มถดถอย นักลงทุนและกองทุนทั้งหลายเริ่มเทขายเงินยูโร และหันไปถือเงินสดในสกุลเงินอื่นที่มีความมั่นใจมากกว่า ซึ่งคงหนีไม่พ้นเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น

นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าว ยังครอบคลุมไปถึงการถือครองทรัพย์สิน ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออก และมีระบบเศรษฐกิจที่มีความผันผวนตามปัจจัยภายนอก ทำให้คาดการณ์กันว่าประเทศเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยูโรโซนด้วยไม่มากก็น้อย

นักลงทุนและกองทุนเริ่มมีการขายหลักทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ เพื่อถือครองเงินสด โดยมีการเทขายตั้งแต่ทองคำ ไปจนถึงหุ้นของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ผลก็คือ ราคาทองคำที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วกว่า 200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จาก 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เหลือเพียง 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

หุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างร่วงลงทั่วโลก และทำให้ดัชนีเอ็มเอสซีไอ ลดลงกว่า 20% ใน ส.ค.และ ก.ย. ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ก็ลดลงไปกว่า 200 จุด จากระดับ 1,000 กว่าจุด ลงไปแตะ 800 กว่าจุดในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

การอ่อนตัวของค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่าง เรียล รูปี หรือแม้แต่เงินบาท แม้จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกมากขึ้น จากราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง แต่มูลค่าการส่งออกของประเทศเหล่านี้ในทวีปอเมริกาใต้และเอเชีย ก็ยังไม่เท่ากับระดับก่อนช่วงวิกฤติ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ได้รับผลพวงจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และซ้ำเติมอีกครั้งด้วยวิกฤติการเงินในยุโรป นำโดยกรีซ

การชะลอตัวของมูลค่าการส่งออก ส่งผลกระทบแม้แต่ยักษ์ใหญ่ของโลกใหม่ อย่าง จีน โดยจากผลการสำรวจของ เอชเอสบีซี พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing Purchasing Managers Index) ซึ่งบ่งบอกถึงมูลค่าการผลิตสินค้าในจีน มีการลดลงจากปี 2552 และ 2553 ประมาณ 5 จุด จากระดับ 55 จุด เหลือเพียงประมาณ 50 จุด

อย่างไรก็ตาม เอชเอสบีซี ยังเชื่อว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะยังเป็นบวก โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 9.5-9% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจจีนไม่ได้พึ่งพาการส่งออกเช่นในอดีต ขณะที่อัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วงครึ่งปีแรก

นักวิเคราะห์จาก โกลด์แมน แซคส์ ประมาณการว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งจีน จะสามารถช่วยเยียวยาเศรษฐกิจโลกได้ถึง 5.1% หากประเทศเหล่านี้ ยอมให้ค่าเงินอ่อนตัวลง และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
 แต่บทเรียนสำคัญของเหล่าประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คือ ฟองสบู่ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2533 ทำให้หลายประเทศระมัดระวังในการดำเนินแผนการใดๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้น ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ภายใต้วิกฤติการเงินในยุโรป รวมทั้ง สถานการณ์ของเศรษฐกิจอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ น่าจะยังไม่ดีเช่นเดิม เนื่องจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ยังไม่สามารถแสดงบทบาท ที่จะทดแทนการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้วในสหรัฐ และยุโรป

กระนั้นก็ดี การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยไม่เกิดฟองสบู่เช่นในอดีต อาจเป็นการเดินทางที่เหมาะสม และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งในอนาคต ประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ อาจเปลี่ยนโฉมหน้าผู้นำของระบบเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : Financial Edge สภาวะเศรษฐกิจโลกแห่งความไม่แน่นอน

view