สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดข้อมูลมั่นคงแดงปลุกเร้าขาดสติหวังผลเปลี่ยน

จาก โพสต์ทูเดย์


ข่าวกรองทำเนียบฯระบุ นปช.เตรียมปลุกเร้ามวลชนขาดสติหวังผลแนวร่วม.กทม.และปริมณฑล มีอิทธิพลชี้ชะตารัฐบาล จับตา 13-14 มี.ค. สถานการณ์เปราะบางที่สุด พบ 5 กลุ่มเตรียมสร้างสถานการณ์ ห่วงชุมชนตอบโต้ล้างแค้น

ฝ่ายความมั่นคง  ได้ประเมินสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ(นปช.) ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. เสนอนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาใน เชิงนโยบาย

ข่าวกรอง ระบุว่า  การชุมนุมใหญ่ของ นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 53 เป็นต้นไป เมื่อประเมินจากการเตรียมการของบรรดาแกนนำ นปช. ในส่วนกลางและต่างจังหวัด รวมทั้งท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร แล้ว   น่าจะเป็นการชุมนุมให้แตกหักภายในช่วงเวลาสั้นๆไม่ยืดเยื้อ หวังผลจะกดดันให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน 7-8 วัน คาดว่าสถานการณ์จะตึงเครียดที่สุดในช่วงระหว่าง 14-17 มี.ค. 53 

ลักษณะการชุมนุมแม้จะรุกเพื่อกดดันรัฐบาลพร้อมกันทั้งในและต่างจังหวัด  แต่กลุ่มที่จะมีผลต่อการแพ้-ชนะน่าจะเป็นมวลชนในเขต กทม.ปริมณฑล และภาคกลาง ส่วน นปช. จากต่างจังหวัดที่เคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ กทม. นอกจากเป็นกำลังเสริมแล้ว ยังอาจหวังใหเกิดจุดอ่อนต่อฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องแบ่งกำลังไปสกัดกั้นจนทำ ให้พื้นที่ กทม.มีปัญหา รวมทั้งขัดขวางการส่งกำลังทหาร และตำรวจจาสกต่างจังหวัดมาเสริมพื้นที่ กทม.

ข้อมูลยังระบุผลกระทบจากการชุมนุม ประเมินตามห้วงเวลา  ระบุว่า  1. ช่วงการรวมพล ใน 12 มี.ค. 53 สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรง เนื่องจากแป็นการนัดหมายรวมตัวตามจุดนัดพบในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศในเวลา 12.12 น. การเคลื่อนมวลชนไปยังจุดรวมพลจะเริ่มที่ภาคเหนือ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อน โดยจุดรวมพลของภาคเหนืออยู่ที่จ. นครสวรรค์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ จ.นครราชสีมา ส่วนในพื้นที่ กทม. จะเริ่มการชุมนุมกลุ่มย่อยตามจุดต่างๆซึ่งใช้เป็นจุดรวมพล รวม 6 จุด ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  อนุสาวรีย์หลักสี่  พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6  หน้าสวนลุมพินี สน.ทุ่งสองห้อง ถ.กำแพงเพชร 7  สี่แยกบางนา สนามกีฬาไทย-ญ่ปุ่น ดินแดน ถนนมิตรไมตรี ปริมณฑล ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี  ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ  รังสิตคลอง 4 และลำลูกกาคลอง 4

2.ช่วงการเคลื่อนมวลชนเข้า กทม.ใน 13 มี.ค. 53 นปช.ทุกภาคจะเคลื่อนมวลชนมา กทม. โดยใช้ถนนสายหลักของทุกจังหวัด สถานการณ์ช่วงนี้จะมีผลกระทบต่อสภาพการจราจรอย่างมาก เนื่องจากเป็นวันเสาร์ที่สภาพการจราจรมีความหนาแน่นอยู่แล้วเป็นปกติ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่ม นปช.

3.การชุมนุมใหญ่ที่ กทม. ตั้งแต่ 14 มี.ค. 53 มวลชน นปช.จากต่างจังหวัดทุกกลุ่มจะเดินทางถึง กทม. ขณะที่ กลุ่มนปช.ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะเคลื่อนมวลชนจากจุดรวมพล 10 จุดรอบ กทม. เดินทางเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมใหญ่ ซึ่งกำหนดไว้ที่บริเวณแยกผ่านฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง ลานพระราชวังดุสิต และพื้นที่ใกล้เคียง (ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชุมนุม)  สถานการณ์ในห้วงดังกล่าวจะเกิดปัญหาด้านการจราจรอย่างมาก และหากการเคลื่อนขบวนของ นปช. จะมีการกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม หรือมีการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม อาจเกิดความรุนแรงได้ง่าย

“ 4.ช่วงที่มีความเปราะบางน่าจะเริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ 13-14 มี.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีมวลชนรวมตัวเข้ามอย่างต่อเนื่อง การควบคุมมวลชนจะมีปัญหามากที่สุด และหากมีการปลุกเร้ามวลชนมากขึ้นจนขาดสติ มีความเสี่ยงสูงที่มวลชนจะกลายสภาพเป็นม็อบที่ขาดการควบคุม จนอาจมีการเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ  และเอกชนได้  นอกจากนี้ กลุ่มมือที่สามก็อาจจะเลือกใช้เวลานี้สร้างสถานการณ์  เพื่อนำไปสู่การก่อเหตุจลาจลได้” ฝ่ายความมั่นคง ระบุ

นอกจากนี้มีการสรุป ถึงจำนวนมวลชนและยานพาหนะ ว่า  ประเมินจนถึงช่วง  10 มี.ค.53 คาดว่า จะมีมวลชนเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 70,000 คน (สูงสุดประมาณ 100,000 คน ) ยานพาหนะทุกประเภทประมาณ 5,000 คัน สำหรับจำนวนมวลชนที่จะเดินทางเข้าร่วมการชุมนุม แยกตามภาค มีดังนี้ ภาคเหนือ ประมาณ 5,800 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 20,000 คน ภาคกลางและภาคตะวันตก ประมาณ 2,500 คน ภาคตะวันออก ประมาณ 10,000 คน ภาคใต้ ประมาณ 500 คน และ กทม.ปริมณฑล 30,000 คน อย่างไรก็ตาม การประเมินจำนวนรถทำได้ยาก เพราะนปช.ในพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑลอาจนำรถเข้าไปเองโดยไม่ลงทะเบียน

กลุ่มที่อาจสร้างสถานการณ์ น่าจะมี 5  กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายของนายทหารและอดีตนายทหารที่นิยมแนวทางรุนแรงและไม่ พอใจรัฐบาล หรือประธานองคมนตรีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ได้แก่ กลุ่ม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง ) พล.อ.พัลลภ  ปิ่นมณี  กลุ่มนายทหารรุ่น 10 ที่มีพฤติกรรมเชื่อมโยงกลุ่มมาเฟีย  นายทหารในสังกัด พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทะ และกลุ่มของนักการเมืองที่ใกล้ชิด  พ.ต.ท.ทักษิณ และมีประวัติชอบใช้ความรุนแรง

จุดมุ่งหมาย วิธีการ และเป้าหมายของกลุ่มสร้างสถานการณ์  มีความเป็นไปได้ที่จะใช้การก่อเหตุเพื่อกระตุ้น/ยั่วยุ ให้สถานการณ์การชุมนุมทวีความทร้อนแรง ทั้งการวางเพลิง ลอบวางระเบิด/ขว้างระเบิด หรือ ซุ่มยิง M-79 เข้าใส่สถานที่ราชการหรือแม้กระทั่งในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยอ้างว่าฝ่ายรัฐบางเป็นฝ่ายสร้างสถานการณ์เองเพื่อที่จะปราบปรามประชาชน นอกจากนี้ จากที่กลุ่ม นปช.เป็นเที่เกลียดชังของกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม เช่น บุคคลในย่านชุมชนใกล้ทำเนียบรัฐบาลที่เคยถูกกลุ่ม นปช. ทำร้าย  จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะตอบโต้ล้างแค้นได้เช่นกัน

เครื่องมือด้านสงครามข่าวสาร เครื่องของกลุ่ม นปช. มีความหลากหลาย ทั้งการใช้วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ของกลุ่ม สื่อสิ่งพิมพ์ของกลุ่ม เว๊ปไซต์ การส่งข้อความสั้น( SMS )  และการประชุมกลุ่มย่อยเป็นช่องทางสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสาร ปลุกเร้า/ปลูกฝังความคิดอุดมการณ์แก่สมาชิกของกลุ่ม และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังใช้เครือข่ายแท็กซี่เผยแพร่ข้อมูลผิดๆแก่ประชาชนที่ใช้บริการ นอกจากนี้ การสร้าสถานการณ์ให้ปรากฎเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอ  ยังมีผลทำให้สื่อมวลชนทั่วไป ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ให้ความสนใจรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.มาโดยตลอด

ส่วนเครื่องมือด้านสงครามข่าวสารของฝ่ายรัฐ ส่วนใหญ่เป็นวิทยุ โทรทัศน์ในเครือของกรมประชาสัมพันธ์  และวิทยุชุมชนในเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ขณะที่สื่ออื่นๆ มีการรายงานข่าวสารอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวถูกวิจารณ์ว่าขาดความเป็นกลาง  ดังนั้น การทำสงครามข่าวสารของฝายรัฐจึงเสียเปรียบ นปช.และยังไม่สามารถโน้มน้าว/ชักจูงให้กลุ่มบุคคลที่หลงเชื่อข้อมูลของ นปช.ปรับเปลี่ยนความคิดได้

 

view