สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหตุสุดวิสัยหรือ Force Majeure อันเนื่องจากน้ำท่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์



ในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการระหว่างประเทศ ส่วนมากจะมีข้อกำหนดในสัญญา ยกเว้นความรับผิดของคู่สัญญาที่ส่งมอบสินค้าล่าช้า

หรือไม่สามารถส่งมอบสินค้าตามสัญญา อันเกิดจากเหตุที่เรียกว่า Force Majuere หรืออาจเรียกได้ว่า เหตุสุดวิสัยไว้ด้วย ข้อกำหนดของสัญญาเช่นนี้เรียกว่า Force Majeure Clauses คำว่า Force Majuere เป็นศัพท์ฝรั่งเศส เมื่อประมวลความหมายจากแหล่งต่างๆ และคำนิยามศัพท์ทางกฎหมายของบางประเทศ อาจให้ความหมายโดยรวม คือ เหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดล่วงหน้าได้ เป็นเหตุการณ์นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา ที่ทำให้คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่หรือพันธะตามสัญญาได้ เช่น ภัยธรรมชาติที่เรียกกันว่า Acts of God หรือโดยข้อกำหนดของรัฐ เช่น การห้ามการส่งออกตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการจลาจลหรือภาวะสงคราม ข้อกำหนดเรื่อง Force Majuere ไม่มีมาตรฐานตายตัว นอกเหนือจากภัยธรรมชาติแล้วอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญา ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความตกลงของคู่สัญญา 
 

แบบสัญญาซื้อขายข้าวไทย ที่สมาคมค้าธัญพืชและอาหารสัตว์ (THE GRAIN AND FEED TRADE ASSOCIATION : GAFTA) แห่งประเทศอังกฤษ จัดทำขึ้น คือ แบบ Gafta No.120 ได้กำหนดเรื่อง Force Majeure Clauses ไว้ในข้อ 19 คือ ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบในความล่าช้าของการส่งมอบสินค้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเนื่องจากเหตุ Acts of God การนัดหยุดงาน การขัดขวางหรือปิดกั้นการทำงาน การจลาจล เครื่องจักรชำรุด   เพลิงไหม้ หรือเหตุอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ว่าเป็น Force Majeure จะเห็นได้ว่า Gafta กำหนดเรื่อง Force Majeure  ไว้ค่อนข้างกว้าง ซึ่งคู่สัญญาสามารถปรับให้เป็นไปตามที่ตกลงกันได้
 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะนิติกรรมหรือสัญญา และเอกเทศสัญญาลักษณะซื้อขาย มิได้มีบทบัญญัติกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดของคู่สัญญาอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง  แต่ได้กำหนดความหมายของคำว่าเหตุสุดวิสัยไว้ในมาตรา 8 คือ "คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่าเหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้บุคคลต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น"
 

คำว่าเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว เป็นคำกลางที่สามารถนำมาพิจารณาใช้กับ กรณีการใช้สิทธิหรือการปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ไม่สามารถใช้สิทธิหรือปฏิบัติภายในกำหนดเวลาได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย เช่นตามกฎหมายการบัญชี บริษัทจำกัดมีหน้าที่ต้องยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชีภายในหนึ่งเดือนนับแต่งบการเงินนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่ แต่เกิดเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถยื่นงบการเงินภายในกำหนดเวลาได้ ก็อยู่ในข่ายได้รับการขยายเวลาให้ยื่นงบการเงินได้ หรือกรณีต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งต้องยื่นคำอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน หากเกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาดังกล่าว ก็อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ นอกจากนี้ คำว่าเหตุสุดวิสัยยังสามารถนำมาปรับใช้กับกรณีการยกเว้นความรับผิดของคู่สัญญาที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ภายในเวลาที่กำหนด อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้เช่นกัน เป็นต้นว่า การทำสัญญาซื้อขายสินค้าหากผู้ขายไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อได้ภายในเวลาที่กำหนด อันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิด
 

ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง เป็นภัยธรรมชาติที่มีกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งการดำรงชีวิตของประชาชน การเกษตรกรรม การประกอบธุรกิจต่างๆ ทั้งการผลิต การค้า การบริการ การขนส่ง และการส่งออก ภาวะน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติ แต่ภาวะน้ำท่วมจะถือเป็นเหตุสุดวิสัย หรือ Force Majeure หรือไม่ คงต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งอาจใช้คำพิพากษาฎีกา ที่ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้เป็นแนวได้ คือ
 

ในคดีแรงงานคดีหนึ่ง นายจ้างหยุดทำงานผลิตสินค้า และจะไม่จ่ายจ้างให้คนงาน ระหว่างที่หยุดผลิตสินค้า โดยอ้างว่าน้ำท่วมต้องปิดกิจการหยุดงานชั่วคราว เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถโทษนายจ้างได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าโรงงานจำเลยเป็นโรงงานผลิตขนมปังสำเร็จรูป จริงอยู่น้ำท่วมเป็นอุปสรรคในการผลิตก็เพียงแต่ทำให้การเข้าออกโรงงาน รวมถึงการขนถ่ายวัตถุดิบเป็นไปด้วยความยากลำบากเท่านั้น ตัวโรงงานมิได้ถูกน้ำท่วมด้วย (ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย) (คำพิพากษาฎีกาที่ 118/2525)
 

ในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้ว 1 วัน อ้างเหตุว่า
 

ไปต่างจังหวัดเพื่อหาเงินมายื่นอุทธรณ์ ขากลับน้ำท่วมถนนและฝนตกหนักทำให้ทางขาด การเดินทางกินเวลา 2 วัน และมาถึงศาลในวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอุทธรณ์ แต่พ้นเวลาราชการแล้วเพราะการจราจรติดขัด  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากรณีนี้ โจทก์มีทนายที่สามารถยื่นอุทธรณ์แทนได้ ไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะขอขยายกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2094/2514)
 

ในคดีรับจ้างถมดินที่ผู้รับจ้างไม่สามารถถมดินได้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า แม้ฝนจะตกทุกปีในฤดูฝน แต่สำหรับปลายปี 2526 ฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงกว่าปีก่อน เป็นเหตุให้น้ำท่วมบริเวณที่ดินที่จะถม ดังนั้น แม้โจทก์จะหาแหล่งดินอื่นมาถมได้ แต่เมื่อบริเวณที่จะถมน้ำท่วมและเส้นทางขนส่งลำเลียงดินน้ำท่วมโจทก์ก็ไม่อาจทำการถมดินให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า เป็นเหตุสุดวิสัย (คำพิพากษาฎีกาที่ 7588/2538)
 

จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวอาจถือเป็นแนวได้ว่า การที่ไม่สามารถใช้สิทธิหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือสัญญา หากไม่ใช่ผลโดยตรงจากการเกิดน้ำท่วม และมีช่องทางอื่นดำเนินการได้ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะได้รับการยกเว้น แต่ถ้าหากน้ำท่วมมีผลกระทบโดยตรงทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิหรือตามกฎหมาย หรือตามที่กำหนดในสัญญาได้ เช่น กรณีที่ที่จะถมดินถูกน้ำท่วมทำให้เข้าไปถมดินไม่ได้  ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ได้รับการยกเว้นความรับผิดได้
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เหตุสุดวิสัย Force Majeure เนื่องจากน้ำท่วม

view