สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความแตกแยกของสังคมไทยในช่วงวิกฤติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th


วิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาของบริการจัดการน้ำแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝั่งของรัฐบาลกับบุคคลที่ไม่ใช่คนของรัฐบาล จริงอยู่ที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็มีความแตกแยกระหว่างเสื้อแต่ละสีกันอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าจากวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ความแตกแยกที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากเรื่องของอุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่มาจาก
 

ความผิดพลาดในการบริหารจัดการอีกเช่นเดียวกัน
 

ประเทศไทยผ่านวิกฤติทั้งจากภัยธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์มาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะไม่มีครั้งไหนเลยที่วิกฤติจะนำมาสู่ความแตกแยกในสังคมไทยได้เช่นในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ในช่วงยามสงบคนไทยจะทะเลาะเบาะแว้งกันเองบ้าง แต่พอเกิดปัญหาหรือวิกฤติของประเทศแล้ว เราก็จะสมัครสมานสามัคคี เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติไปได้ แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคมไทยกันพอสมควรนะครับ
 

สาเหตุของความแตกแยกก็มีด้วยกันหลายประการนะครับ เริ่มตั้งแต่การที่ประชาชนได้มีช่องทางและโอกาสทั้งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของแต่ละบุคคลออกมาโดยอิสระมากขึ้น ในอดีตเราอาจจะติดตามข่าวสารของวิกฤติต่างๆ ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือ หนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีช่วงหรือระยะเวลาการนำเสนอข่าวที่ชัดเจน แต่จากสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีการรับรู้กันเป็นรายนาทีทีเดียว นอกจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว การแสดงความคิดเห็นในปัจจุบันก็มีมากขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นอิสระขึ้น สิ่งที่น่าสนใจอีก ก็คือ ปัจจุบันการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ยังไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้สื่อข่าวของสื่อมวลชนต่างๆ อีกเพียงแหล่งเดียว สังเกตนะครับ ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยสามารถทำตัวเป็นผู้สื่อข่าวที่ดีได้แล้ว เพียงแค่ไปพบเห็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดก็ตาม มีเพียงแค่โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ หรือสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปพบก็จะถูกกระจายไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
 

จากปรากฏการณ์ข้างต้น ทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้รับทราบในช่วงวิกฤติในอดีต กลายเป็นประเด็นที่รับทราบกันอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และที่สำคัญ คือ ไม่สามารถปิดบังประชาชนทั่วไปได้อีกต่อไป อาทิเช่น กรณีที่มีข่าวของบริจาคที่ประชาชนไปบริจาคให้ที่ดอนเมืองและถูกนำไปใส่ถุงที่มีชื่อของนักการเมือง หรือของบริจาคดอนเมืองที่ยังกองอยู่เต็ม ไม่ได้มีการนำไปบริจาคและกำลังถูกน้ำท่วม ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เมื่อแพร่กระจาย ไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ก็ทำให้คนที่ได้รับข่าวสารเหล่านี้เกิดความไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจต่อผู้บริหารประเทศหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 

สาเหตุของความแตกแยกประการต่อมา ก็คือ การขาดความไว้วางใจในตัวผู้บริหารประเทศครับ ในอดีตนั้น เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นต่อให้เราไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบใจต่อผู้บริหารประเทศ แต่เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นทุกคนก็จะรวมใจและสนับสนุนต่อผู้บริหารของประเทศอย่างเต็มที่ เหมือนในอดีตที่เราเคยท่องกันว่า "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" แต่ในยุคปัจจุบันดูเหมือนว่าความเชื่อถือและความไว้วางใจของประชาชน ที่มีต่อผู้บริหารประเทศนั้นกลับดูเหมือนจะไม่มั่นคงเท่าไร ซึ่งกลุ่มผู้บริหารประเทศก็คงต้องนั่งกลับมาทบทวนและพิจารณาตนเองครับ ว่า จะมีหนทางในการเรียกศรัทธาและความเชื่อถือของประชาชนกลับมาได้อย่างไร
 

คำว่าความไว้วางใจ หรือ Trust กับการบริหารไม่ว่าจะเป็นบริหารประเทศหรือบริหารองค์กร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งนะครับ ถ้าบุคคลในประเทศหรือในองค์กรขาดซึ่งความเชื่อถือและไว้วางใจต่อผู้บริหารของตนแล้ว ต่อให้ยังสามารถบริหารองค์กรอยู่ได้ด้วยความถูกต้องทางกฎหมาย แต่ก็ถือว่าความถูกต้องและชอบธรรมทางสังคมนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว และเมื่อขาดความเชื่อถือและไว้วางใจต่อตัวผู้บริหาร องค์กรนั้นก็ย่อมไม่พ้นที่จะก้าวไปสู่ความแตกแยก
 

ความท้าทายของผู้บริหารก็คือทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้ความไว้วางใจและศรัทธานั้นให้กลับคืนมาได้ คำถามที่อาจจะดูง่าย แต่ตอบยากนะครับ แต่เคล็ดในการแก้ไขปัญหานั้นง่ายนิดเดียว ขอให้ผู้บริหารทั้งหลายเริ่มต้นที่พื้นฐานการคิดก่อนเลยครับว่า การก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารนั้น ทำไปเพื่ออะไรหรือใคร ผู้บริหารองค์กรที่ดีจะต้องมีแรงจูงใจที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารเพื่อพัฒนา ปรับปรุง และนำพาองค์กรสู่ความก้าวหน้าเป็นหลัก ไม่ใช่ก้าวขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ตนเองหรือพวกพ้อง แค่นั้นแหละครับ ง่ายนิดเดียว


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

view