สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสียงครวญข้าราชการทำเนียบฯ

เสียงครวญข้าราชการทำเนียบฯ

จาก โพสต์ทูเดย์

ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลไม่ต่างกับข้าราชการกระทรวงอื่นหรือแม้แต่ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยโดยทั่วกัน

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลไม่ต่างกับข้าราชการกระทรวงอื่นหรือแม้แต่ประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยโดยทั่วกัน   ยิ่งการทำงานของข้าราชการทำเนียบเวลานี้ ต้องปรับบทบาทไปช่วยสนับสนุนงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัย (ศปภ.) ด้วยแล้ว ทั้งช่วยสนับสนุนข้อมูลป้อนให้นายกฯ รองนายกฯ คอยแก้ไขปัญหาน้ำ แต่พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมด้วยแล้ว  พวกเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร

น้าควร เจ้าหน้าที่ยานพาหนะ สำนักนายกรัฐมนตรี  ซึ่งอาศัยอยู่ที่แฟลตย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ตอนนี้ สถานที่อาศัยของเขาต้องล้อมรอบด้วยทะเลน้ำจืดสูงเกินเอว ต้องขับมอเตอร์ไซค์ฝ่าคลื่นเพื่อมาให้ถึงทำเนียบรัฐบาลโดยเร็ว เพราะเขาจะต้องรับส่งข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกฯอีกจำนวนหนึ่งเพื่อไป ปฏิบัติงานในศปภ.

น้าควร บอกว่า “ไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะน็อคเมื่อไหร่ วานนี้น้ำยังไม่สูง ยังไม่เข้าท่อไอเสีย ก็ต้องไปลุ้นกันเย็นนี้แต่เห็นว่าน้ำคงขึ้นสูง"

ด้วยสถานการณ์และภาระหน้าที่แบบนี้  น้าควรยังไม่อาจคาดเดาได้ว่ายานพาหนะคู่ใจจะพาเขาไปถึงทำเนียบฯได้หรือไม่ 

"ทำไงได้ครับ เพราะมีหลายชีวิตที่เราต้องรับส่งให้ไปปฏิบัติงานกู้น้ำท่วมที่ศปภ. ก็ต้องออกมาทำงานอย่างงี่หล่ะครับ"

เจ้าหน้าที่ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ ประจำทำเนียบ ฯ เป็นอีกรายที่อยู่ในหมู่บ้านเสนา ย่านบางเขนตอนนี้น้ำท่วม แม้จะทราบข่าวการเตือนล่วงหน้าอุตสาห์ขนของขึ้นที่สูง แต่ไม่คาดคิดว่าระดับน้ำจะสูงมาก ทำให้ไม่สามารถพักอาศัยได้

เขาบอกว่า เส้นทางเดินทางมาปฏิบัติงาน ต้องฝ่าน้ำหารถเพื่อมาทำเนียบฯและไปที่ศปภ. ที่ย้ายไปที่กระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้การเดินทางมาลำบาก จึงตัดสินใจใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่หลับนอน 

แน่นอนว่า สถานที่แห่งนี้มีไว้สำหรับข้าราชการเข้าเวรเท่านั้น ไม่อนุญาติให้มานอนกันง่ายๆ   แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อต้องทำงาน และปฏิบัติหน้าที่ให้ทันการเขาก็จำเป็นต้องหาแอบมานอนที่ทำเนียบฯ โดยกลุ่มข้าราชการที่เข้าใจหัวอกต่างเก็บเรื่องเป็นความลับ

การทำงานของข้าราชการทำเนียบฯที่เปลี่ยนไปทำหน้าที่สนับสนุน ศปภ. ปัจจุบันหดหายลง เนื่องจากข้าราชการหลายรายได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บางรายต้องอพยพ พ่อแม่พี่น้อง ไปต่างจังหวัด ทำให้เหลือข้าราชการทำเนียบฯที่มาช่วยศปภ.ไม่ถึง 20 คน  จนมีเสียงครวญจากข้าราชการชั้นผู้น้อยส่งผ่านถึงระดับผู้ใหญ่ไปถึง พล.ต.อ.โกวิท  วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ควรจะจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้ข้าราชการที่มีใจเต็มร้อยในการช่วยงานศปภ. แต่มาถึงขณะนี้ ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากรองนายกฯโกวิท  แต่อย่างใด

ข้าราชการทำเนียบฯ ที่ทำงานศปภ.และยังไม่ต้องแอบมาหลับนอนเหมือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายโสต  แต่ทุกวันนี้พวกเขาก็มีอาการตุ้มๆต่อมๆ เพราะนอกจากคอยสนับสนุนข้อมูลให้กับฝ่ายการเมืองทำเนียบฯที่เต็มไปด้วยความ ตรึงเครียดแล้ว  แต่พวกเขาต้องคอยเช็คข่าวแต่ละวันด้วยว่า  จะมีประกาศให้ขนของขึ้นที่สูงหรือยัง  มีแถลงการณ์ให้อพยพหรือยัง  

จึงมีคำถามตามมาว่าทั้งที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานขนาดนี้ ฝ่ายนโยบายระดับรัฐมนตรี ได้หันกลับมาเหลียวแลบ้างหรือไม่

สำหรับ ทำเนียบรัฐบาล บริเวณทางเข้า-ออกโดยรอบทำเนียบรัฐบาลได้มีการวางแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ในระดับความสูงประมาณ 1 เมตร เนื่องจากอยู่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม โดยบริเวณปากทางเข้าทำเนียบฯ รถยนต์ที่เข้า-ออกต้องข้ามเนินกระสอบทรายสูง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังได้นำอิฐบล็อกคอนกรีตมาวางเป็นแนวริมรั้วเพื่อป้องกัน น้ำ

ขณะที่บรรยากาศการทำงานของข้าราชการภายในทำเนียบฯค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากข้าราชการบางส่วนต้องเดินทางไปช่วยทำงานที่ ศปภ. ส่วนที่เหลือก็ต่างร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมกันอย่างกว้างขวาง

 


วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมืองเอก

จาก โพสต์ทูเดย์

แม้จะมีน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร แต่ชาวเมืองเอกจำนวนหนึ่งก็ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่ให้ได้ท่ามกลางภัยพิบัติ

โดย......นิติพันธุ์ สุขอรุณ

การเดินทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปเมื่อระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ถาโถมเข้าท่วมไปทุกทิศทุกช่องทาง เอ่อล้นเข้าไปในบ้านถึงในห้องนอน และยิ่งกว่านั้นยังไหลเชี่ยวรุนแรง ผลักกระแทกได้แม้กระทั้งชายร่างใหญ่ ให้ล้มคว่ำอย่างง่ายดาย

การอพยพออกมาจากบ้านเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตและ ทรัพย์สินที่พอจะนำติดตัวมาได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าวิถีชีวิตจากนี้ต้องเปลี่ยนไป บางครอบครัวย้ายไปอาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด บ้างก็มุ่งหน้าไปศูนย์อพยพที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้

ทว่ายังมีอีกหลายครอบครัวเลือกจะอยู่ทวนกระแสน้ำ ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานวิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปโดยเร็วสะอาด พูลสวัสดิ์ ชาวบ้านในซอยคาเซย์ ใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก เล่าว่า เธอและครอบครัวรู้ข่าวถึงความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมบ้านอยู่ตลอด แต่ด้วยความที่เป็นแค่คนอาศัยในย่านสลัม ชุมชนแออัดไม่มีเลขที่ทะเบียนบ้าน คงเลือกอะไรมากไม่ได้เมื่อข้าวของที่หามาทั้งชีวิตด้วยอาชีพเก็บของเก่าไป ขายยังจมน้ำอยู่ภายในบ้าน นำออกมาได้เพียงข้าวปลาอาหารแห้ง เสื้อผ้าไม่กี่ชุด หมอน ผ้าห่ม และเตาถ่าน

เธอและครอบครัว ต้องย้ายมาอาศัยอยู่บนสะพานลอยใกล้ๆบ้าน กลายเป็นศูนย์อพยพพักพิงไปโดยปริยาย เพราะมีถึง 5 ครอบครับที่ขึ้นมาอาศัยอยู่ด้วย ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา หากตัวคนเดียวคงไม่ลำบากอะไรมาก แต่เพราะยังมี แม่วัย 70 ปี โรคประจำตัวรุมเร้า และลูกชายวัย 3 ขวบที่ต้องคอยดูแลสะอาด กล่าวพร้อมน้ำตาว่า “ตั้งแต่มาอยู่บนสะพานลอย ยังไม่มีใครมาช่วยเหลือ แม้แต่ข้าวถุงเดียวก็ยังไม่เคยได้ ที่มีอยู่ก็ซื้อเก็บไว้ก่อนน้ำจะท่วม ส่วนที่ไม่ได้ย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพก็เพราะกลัวว่าจะทำให้คนอื่นลำบาก ครอบครัวเรามีคนแก่ มีเด็กเล็ก ยังถือว่าโชคดีที่เราได้อยู่ที่สูงเหนือน้ำแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่เขาลำบากกว่านี้ แต่ปัญหาอยู่ที่เราอยู่ด้านหน้าเมืองเอก ซึ่งความช่วยเหลือที่เข้ามาจากดอนเมืองจะสิ้นสุดลงที่ตลาดสี่มุมเมือง พอเราลุยน้ำไปขอข้าวหรือผลไม้เขาก็บอกว่าหมดแล้ว”

การดิ้นรนใช้ชีวิตให้อยู่รอด ด้วยการหว่านแหจับปลาบนถนวิภาวดีที่น้ำท่วมขัง เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ กลายเป็นทางรอดเดียวเพื่อให้มีมื้อเย็นไว้กินทั้งครับครัว วันไหนจับปลาได้มากก็นำมาแบ่งคนอื่นด้วย

ในสถานการณ์วิกฤต ความเครียดมีมากขึ้นเมื่อพบศพชายสูงอายุลอยตามกระแสน้ำออกมาที่ปากทางเข้า เมืองเอก แม้ว่าจะมีรถบรรทุกของทหารวิ่งฝ่าน้ำเข้ามา กลับวิ่งผ่านเลยไปโดยไม่สนใจคันแล้วคันเล่า ไม่มีใครลงมาช่วยนำศพขึ้นรถบรรทุกไปด้วย จนท้ายที่สุดเด็กหนุ่มชื่อ “ป๋อง” ต้องว่ายน้ำเข้าไปนำร่างไร้วิญญาณขึ้นมาคลุมผ้าที่เกาะกลางถนน 

ความกลัวในยามค่ำคืนที่มืดมิด ไม่มีแสงไฟตามท้องถนนเหมือนที่เคย ทำให้คนบนสะพานต้องแบ่งเวรยามเฝ้าระวัง โจรผู้ร้าย 3-4 ที่เคยฉวยโอกาสขับเรือเข้ามาสอดส่องตามซอยบ้าน หากมีเรือแล่นเข้ามาระบบป้องกันตัวเองจะเริ่มด้วยการส่งเสียงตระโกนถาม พร้อมกับส่องไฟฉายไปที่เรือ สุดท้ายเรือลำนั้นก็เร่งเครื่องหายไปในความมืด จึงเป็นระบบการเฝ้าระวังภัยด้วยตัวเองในยามจำเป็น

ห่างออกไปจากปากทางเข้าเมืองเอกระยะทาง 1 กม. และยากลำบากเมื่อต้องเดินสวนกระแสน้ำเข้าไปพบศูนย์อพยพบนสะพานข้ามคลองเปรมฯ ใกล้วัดรังสิต อีกหลายชีวิตยังคงอาศัยอยู่ โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวที่นำมาจอดหนีน้ำเป็นที่อยู่อาศัย

ศร หนึ่งในผู้ที่ขึ้นมาอยู่บนสะพานข้ามคลองเปรม เล่าว่า บ้านของเขาอยู่ในหมู่บ้านเมืองเอก น้ำท่วมสูงถึงขอบบนของประตูบ้าน แม้ว่าจะเป็นบ้าน 2 ชั้น แต่เมื่อในบ้านถูกตัดไฟ และน้ำแล้วก็ทนอยู่ข้างในไม่ได้ จึงมานอนที่รถจักรยานยนต์ที่นำมาจอดหนีน้ำไว้ก่อนแล้ว กางเต้นท์นอนกับคนอื่นๆ

“ผมส่งพ่อกับแม่ไปอยู่ที่จังหวัด กาญจนบุรีก่อนแล้ว แต่ที่ผมไม่ไปเพราะเป็นห่วงบ้าน ห่วงรถ ผมอยู่บนสะพานนี้ได้เพราะยังมีไฟฟ้าต่อพ่วงจากวัดรังสิต ก็พอจะพ่วงกับคนอื่นๆที่อยู่ด้วยได้ ห้องน้ำก็ยังใช้ได้ สัก 2-3 วันครั้งผมก็จะขออาศัยติดเรือตำรวจน้ำเข้าไปดูความเรียบร้อยที่บ้าน เวลาที่เราตกทุกข์ได้ยากผมยังเชื่อว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ใครมีอาหารอะไรก็นำมาแจกจ่ายกัน ผมถึงนั่งอยู่เฉยๆไม่ได้ต้องตอบแทนด้วยการออกไปเป็นอาสาช่วยคนอื่น ยังมีคนเดือดร้อนกว่าเยอะ ผมไม่ขออะไรมากแค่อยากให้เรื่องนี้ผ่านไปเร็วเท่านั้น อยู่อย่างนี้ทุกวันมันเป็นไปไม่ได้ มันยากตรงที่เราต้องเจอกับสัตว์เลื้อยคลาน งู ทาก ผมคงทนตรงนี้ไม่ได้นาน” ศร กล่าว

การใช้ชีวิตของ ศร ไม่ได้หยุดนิ่งที่การรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขาอาสาออกไปช่วยชาวบ้านที่ต้องการอพยพขึ้นเรือตำรวจน้ำที่เข้ามารับ และใช้เส้นทางด้านหลังหมู่บ้านเมืองเอกออกไปยังหน้าวัดนาวง เพื่อส่งขึ้นรถทหารออกสู่โลกภายนอก เป็นการสื่อสารกับความช่วยเหลือที่เข้ามาเพื่อถ่ายทอดมาให้อีกหลายครอบครัว ที่พักอาศัยอยู่บนสะพานที่เดียวกัน

ผ่านไป 8 วันแล้วที่ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิม ยังคงมีศูนย์อพยพกระจายอยู่ในพื้นที่จำนวนมากกำลังต้องการความช่วยเหลือ เพราะนับวันปัญหายิ่งเพิ่มมากขึ้น อาทิ เชื้อโรคจากน้ำเสีย สัตว์เลื่อยคลาน ภาวะคาดแคลนอาหาร หากการแก้ปัญหายังไม่ทั่วถึง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทนรับสภาพที่เป็นอยู่ได้ยาวนานนับเดือน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เสียงครวญ ข้าราชการทำเนียบฯ

view