สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระราชดำรัสในหลวง...ป้องกันน้ำท่วม ปี 2538

จาก โพสต์ทูเดย์

โพสต์ทูเดย์ขออัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2538 เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ ให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี

วันที่ 18 ก.ย. 2538 ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ พายุดีเปรสชันไรอัน ทำให้ฝนตกมากเหนือประเทศไทยและกรุงเทพฯ น้ำเหนือไหลบ่าลงมาจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ การระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ทำมากกว่าเขื่อนภูมิพล สร้างปัญหาน้ำจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ ปี 2538 ทันที ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 19 ก.ย.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการ ด่วน ทรงอธิบายต่อที่ประชุมฉุกเฉินข้าราชการกรมชลประทาน (อธิบดีและรองอธิบดี-ปราโมทย์ ไม้กลัด สวัสดิ์ วัฒนายากรรุ่งเรือง จุลชาต) ผู้ว่าฯ กทม. (กฤษฎา อรุณวงษ์ ณอยุธยา) ปลัด กทม. (ประเสริฐ สมะลาภา) และองคมนตรี ที่มีความชำนาญเรื่องน้ำและวิศวกรรมรวมทั้งข้าราชการผู้ชำนาญเรื่องน้ำอีก หลายท่านและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับร่วมโต๊ะประชุมแบบล้อมวงรีกับ ทุกคน

พระองค์มีรับสั่งให้เร่งแก้ปัญหา พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดทางวิชาการ วิธีทำงานป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติของน้ำ ทรงให้ขุดตัดถนนที่ขวางทางน้ำ ขุดใต้ทางรถไฟ หาทางให้น้ำไหลลอดออกลงคลองระบายน้ำเพื่อให้ลงทะเลไปโดยเร็ว รับสั่งทำให้เสร็จใน 3 วันโครงการใหญ่ระยะยาวก็ทรงให้เตรียมการขุดขยายคูคลอง ระบบประตูระบายน้ำและสูบน้ำต่างๆ

การทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาจต้องเสียสละ และอาจต้องโยกย้ายออกจากที่สาธารณะริมคลองต่างๆ มีพระราชประสงค์จะให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของโครงการ เขื่อนแก่งเสือเต้นของกรมชลประทาน และโครงการอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ในภาคเหนือ

อันนี้เป็นอันดับแรกที่จะต้องสูบน้ำให้แห้ง ชายทะเลนี้ให้แห้ง แห้งผาก เท่าที่ทำได้ แล้วก็ต่อไปก็มีเครื่อง อย่างที่ว่ามีเครื่องเร่งน้ำ โดยเฉพาะเร่งน้ำใกล้คันกั้นน้ำที่จะเข้าพระนคร เข้าด้านในคลองแสนแสบคลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง

คลองพวกนี้ต้องไม่ควรจะรับน้ำที่จะลงมาจากอยุธยา ถ้าน้ำรับเฉพาะในเขตพระนคร กทม.สามารถที่จะต่อสู้ได้แล้ว แสดงให้เห็นฝนตกหนักเมื่อวานนี้แห้งได้เร็ว ยังมีที่ท่วมอยู่ก็แห้ง นับว่าเร็ว แต่ถ้าน้ำอันนี้มาแล้ว กี่เดือนก็ไม่หมด ฉะนั้นทำ ต้องทำอันนี่ ที่จะเสียหาย ก็ที่ว่าไม่มีที่ที่จะขุด แก้ไขด้วยใช้คลองเป็นซ้ำ หรือถ้ามีที่ขุดอะไรเวนคืน

ที่อยู่ตรงนี้ ต้องให้ทราบว่า ในสมัยเก่านี้ ท่านทั้งหลาย หลายคนก็คงทราบแล้ว สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ท่านเวนคืนเอาไว้ ท่านสงวนเอาไว้เป็นของรัฐ แล้วก็คนที่ไปอยู่ในนี้ ผิดกฎหมายทั้งนั้น คนที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย รวมทั้งคนที่ไปซื้อจากชาวบ้านก็ผิดกฎหมาย ฉะนั้น การที่จะขุดรูจะไปทำโครงการสาธารณะ ไม่ผิดกฎหมาย ทำเพื่อที่จะป้องกัน เพราะว่าปีที่แล้วก็เกิด ปีก่อนๆ ก็เกิดปีหน้าก็จะเกิดอีก ต้องทำโครงการฟลัดเวย์เนี่ย(Flood Way)

ขอโทษที่ต้องพูดภาษาฝรั่ง ฟลัดเวย์ เพราะว่าเหมือนที่อเมริกา ที่ซานฟรานซิสโก เขามีฟลัดเวย์ใหญ่ตอนที่ไม่มีน้ำ แล้วไม่มีน้ำมาหลายปี ที่แคลิฟอร์เนียเขาอดน้ำจะแย่ ไอ้ฟลัดเวย์ก็อยู่ แต่ฝนตกเมื่อไร ไอ้ฟลัดเวย์ก็เต็มไปเลย แล้วไม่มีใครกล้าไปอยู่ในนั้นตอนนี้ถ้าใครกล้ามาอยู่ในนี้ แล้วฟลัดเวย์มันผ่านไป ก็กรวดน้ำให้เขา คือว่า ต้องเรียกว่า จะหาว่าใจร้ายก็ใจร้าย แต่จะป้องกันไม่ให้มีความหายนะ

ทรงตรัสถามผู้เข้าประชุมว่า ที่นี่กี่หมื่นไร่ เป็นที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ตอบว่า โดยพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ 5 ที่ 6 มี 5.6 หมื่นไร่ พระองค์ทรงถามย้ำ กี่หมื่นไร่นะ ถึงเหรอ 5.6 หมื่นไร่ เดี๋ยวนี้ เหลือที่เป็นของสาธารณะ เป็นของราชการดูเหมือนจะ 3,000 ไร่

อันนี้เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ถ้ากล้าทำ ก็จะแก้ปัญหาที่มีอยู่ เดี๋ยวนี้ เขาเป็นห่วง ประชาชนขวัญเสีย แล้วก็ทางโทรทัศน์ก็ออก รัฐมนตรีต่างๆ ก็บอกว่า ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ถ้าน้ำท่วมแล้วจะให้เงินสำหรับฟื้นตัวเหมือนว่าน้ำท่วมมีแน่ ใครจะไม่ขวัญเสีย เพราะการช่วยของราชการ เขาก็รู้ว่าจะได้ช่วยอีกปีสองปีก็ไม่รู้

ท่านรัฐมนตรีคลัง บอกมีเงินเอามาให้ เอาเงินมาให้มันกินไม่ได้ ต้องสร้าง ต้องซ่อม ต้องทำอะไรกินเวลาเป็นเดือน แต่ว่าเราต้องป้องกันไม่ให้เกิดฉะนั้น ถึงว่ายอมเขาว่าเราทำผิดกฎหมายก็ยอม นี่เป็นขั้นแรก

ขั้นที่สอง คือ คลองต่างๆ เล็กๆ พวกนี้ จะต้องผ่านน้ำ ผ่านมากกว่าปกติ สองเท่า สามเท่า ตรงฝั่งอาจจะมีถล่ม จะมีความเสียหาย ต้องยอม คลองเล็กๆเวลาน้ำผ่าน มันย่อมต้องสึกหรอ ต้องพัง ต้องไป ก็ต้องยอมให้พัง

ยังไม่ได้พูดถึงอีกอย่าง เวลาสูบน้ำให้แห้ง อันนี้สอนสังฆราชนะ สอนท่านช่างชลประทานทั้งหลายเวลาเอาน้ำออกจากคลอง คลองมันผลัก เพราะเหตุว่า น้ำออกจากดินข้างคลอง โดยเฉพาะดินมีที่โปร่งน้ำจะออกจากข้างคลอง น้ำหนักของดินที่อยู่ข้างบนหรืออาคารที่อยู่ข้างคลอง จะกดลงไป จะถล่มลง จะต้องลง จะต้องมีความเสียหายของคลอง ของทางน้ำมีความเสียหายของบ้าน หรือที่ที่อยู่ข้างคลอง อันนั้นต้องยอม ในที่ที่เราดูดน้ำให้แห้ง จะต้องถล่ม ต้องลงจะเป็นแบบที่เขาเรียก กรุงเทพฯ ทรุด

อย่างที่เขาว่า สูบน้ำบาดาลทำให้กรุงเทพฯ ทรุดนี่คนละเรื่อง เพราะจะถล่มลงไปในขั้นบน ประมาณ1 เมตร จากพื้นดิน ลงไปถึงข้างล่าง ไม่ใช่กรุงเทพฯทรุด 20 เมตรข้างล่าง กรุงเทพฯ ทรุด นี่มัน 20 เมตรแรก ที่กรุงเทพฯ ทรุดไม่ใช่ข้างล่าง แต่นี่ อย่างนี้ เป็นลักษณะของกรุงเทพฯ ทรุด ประมาณ 1-2 เมตรเท่านั้นเอง จะต้องลดลงไป จะต้องทรุดลงไป

คลองอยู่อย่างนี้ ขอบคลองอยู่อย่างนี้ เมื่อขอบคลองลงไปนี้ก็ช่าง น้ำจะมีที่มาก จะมีที่ไหลลงมากกว่า แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นบ้าง อันนี้จะต้องเตรียมการ ดูตลอดทาง ที่จะดูจากเหล่าคลองรังสิตนี้จนถึงชายทะเล ในเขตประมาณ 10-15 กิโลเมตรในเขตนี้ หมายความว่า ระยะประมาณ 70 กิโลเมตรคูณ 15 กิโลเมตร อันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแล ในคลองที่มีชื่อว่า คลองหกวา

พวกจำพวกที่มีชื่อว่า คลองหกวา จะต้องดู ด้านบน ไม่จำเป็นมากเท่าไร แต่ด้านล่างจะเป็นมาก ด้านล่าง คลองมันหยุกหยิก หยุกหยิก เพราะที่มันราบต้องมีท่วมบ้าง มีถล่มบ้าง แต่ก็ต้องทำ นี่ทุกฝ่าย เขตกรุงเทพฯ หรือเปล่าด้านนอก ต้องดูแล

ทางหลวง ฝ่ายทางหลวง เคยมี เคยบอกแล้วให้ทำช่องน้ำให้กว้าง ก็ดูเหมือนจะทำขึ้นมาแล้ว อาจจะต้องทำให้กว้างขึ้นมาอีก ต้องยอมเจาะทาง โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ทำทางใหม่ ทำทางจะไปบางปะกงใหม่กำลังสร้าง ช่องมีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถ้ากำลังสร้างแล้วช่องไม่มีก็ขุดเลย ต้องขุด รถไฟ ก็ขวาง เคยไปดูรถไฟ เขาขวาง แล้วเขาไม่ยอมทำกว้าง รถไฟ เขาอยากจะให้รถแล่นไปได้ หรือจะห้ามไม่ให้ทำช่องน้ำถ้าห้ามทำช่องน้ำ รถไฟก็แล่นไปไม่ได้อยู่ดี เพราะรางจะหลุดไปหมดเลย ต้องเจาะใต้ราง รถไฟอาจจะต้องแล่นไปช้าๆ จะเป็นสะพานชั่วคราว จะต้องทำให้น้ำผ่านได้

 ชลประทานอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร พ่ะย่ะค่ะขุดคลองให้ลึก 3 เมตร เคยพูด อันนี้สอนสังฆราชนะขุด 3 เมตร น้ำผ่านได้เยอะ ผ่านไม่ได้ เพราะไม่มีความแตกต่างของระดับ คลองลึก 1 เมตร กับคลองลึก 3 เมตร มีผลเท่ากัน เพราะว่าระดับน้ำในคลองนั้น อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1 เมตร หรือน้ำทะเลขึ้น ซึ่งต่อไปจะมีปัญหาน้ำทะเลขึ้น น้ำทะเลขึ้นมา ระดับน้ำในคลองนั้น จะอยู่สูงกว่าทะเลสัก 10 เซนติเมตร จะทำคลองลงไป 3 เมตร ไอ้ 3 เมตรเหนื่อยเปล่า

ต้องทำกว้าง ถนน มีสะพาน มีคอสะพาน ทำซะสวยเชียว ข้างนั้น มันกั้นเป็นคันกั้นน้ำ เจาะ ต้องเจาะ เหมือนเคยทำแล้ว ให้เจาะ เขาก็ยอมเจาะหลายแห่ง ต้องออกทางกว้าง ไม่ใช่ลงทางลึก ลงทางลึกแพงด้วย และไม่มีประโยชน์ด้วย ฉะนั้น ไม่ทราบใครทางหลวงมาไหม ไม่ได้มา

ฝากแต่ละคน ไปกรอกหูช่างทางหลวงว่า ถ้าตรงไหนเห็นว่าคลองกว้าง ความกว้างไม่พอ สะพานกว้างไม่พอ ให้รีบทำ เพราะว่าคลอง สมมติคลองกว้าง 10 เมตร แต่ตรงที่สะพานนั้นกว้างเพียง 5 เมตรแล้ว เท่ากับคลองกว้าง 5 เมตรเท่านั้นเอง

แล้วก็ทำไปทำมา น้ำจะมาขังอยู่เหนือทางหลวงน้ำขังอยู่เหนือทางหลวงแล้ว น้ำมามากๆ จะผ่านข้ามทางหลวง ทางหลวงนั้นจะพัง จะต้องเสียกี่ร้อย กี่พันกี่แสนล้าน ที่จะซ่อมถนนบางนา-ตราดเนี่ย ก็คงต้องซ่อม สร้างมาใหม่ๆ สวยๆ พังหมด ฉะนั้น เจาะให้พัง แล้วใส่สะพานชั่วคราวดีกว่า ไปอธิบายให้ท่านฟัง

รถไฟเช่นเดียวกัน แล้วถนนต่างๆ ที่กำลังสร้างก็ยิ่งง่าย ทำได้ คือ ต้องให้น้ำที่จะลงมา มีจำนวน มีที่ที่จะทำจำนวนน้ำผ่านมาได้ ด้วย 2 ประการ ประการหนึ่ง ความกว้าง และประการที่ 2 ความเท ความเท ทำด้วยการสูบน้ำตรงชายทะเล ความกว้าง ทำโดยเจาะตรงที่สะพานให้กว้าง ที่อื่นกว้างพอ แต่ที่ใต้สะพานต่างๆ ไม่พอ

อันนี้ก็เป็นสรุปสถานการณ์และวิธีปฏิบัติ ส่วนตัวเลขที่มีก็กรมชลประทานเขียนไว้ในนี้ ยังไม่ได้อ่านเพราะเพิ่งมาเมื่อไม่กี่นาทีก่อน ก่อนจะมา มีแขกบ้านแขกเมืองมา เลยไม่มีโอกาสอ่าน แต่เคยได้เห็นแล้วได้คำนวณ ได้เขียนอะไรต่างๆ เรียบร้อย ซึ่งถูกต้องไม่ได้ละเลย

ที่เป็นห่วงก็ที่ได้กล่าวไปเมื่อตะกี้ คือ 1.ความเทให้มี 2.ความกว้าง ให้มี แล้วก็ถ้าอยากได้ความเร็วก็มีในนี้แล้ว ก็เครื่องเร่งน้ำ เครื่องเร่งน้ำ มีข้อพิสูจน์แล้ว ที่คลองช่องนนทรี ก็มีที่จะกล่าวเพียงอย่างนี้

ถ้ายกระดับน้ำ ก็หมายความว่า ข้างบนเขาจะต้องท่วม ถึงบอกว่าให้ดู จากล่างขึ้นไปบน ไม่ใช่แก้ปัญหาบนลงมาล่าง เพราะถ้าแก้ปัญหาจากบนมาล่าง ข้างบนนี่จะต้องเข็นน้ำให้ขึ้นสูง กว่าจะปล่อยลงมา มีประโยชน์อะไร มีประโยชน์สำหรับเขื่อนแก่งเสือเต้น เก็บน้ำเอาไว้ สำหรับเทมาหน้าแล้ง เก็บน้ำไว้หน้าฝน ไม่ให้ลงมาท่วม แต่ว่าแก่งเสือเต้นมีปริมาณน้ำ 1,175 ล้าน ที่นี่ถ้าเอา 1,175 ล้านนะ มันท่วมหมด เพราะน้ำมันเพียงเมตร 2 เมตร แต่โน่นมันลึกเป็น 10 เมตร

เขื่อนสูง 70 เมตร ถ้าเราทำเขื่อน 70 เมตรที่นี่แล้วเป็นอย่างไร แบบเดียวกันกับที่ออสเตรเลียจะมาทำ ซี แบร์เรีย ถ้าทำ ซี แบร์เรีย กรุงเทพฯ ก็ท่วมหมด แล้วไม่ใช่ท่วมธรรมดา ท่วมแบบน้ำโสโครกด้วยต้องทำตรงข้าม คือ คุณประเสริฐ ถูกพวกออสเตรเลียมันล้างสมองไป ของเราไปบอกเขาแล้ว ไม่ทำไม่ได้แต่สำหรับเรื่องโครงการเจ้าพระยาอะไรต่างๆ เรายังมีสงวนไว้ก่อน ทำเดี๋ยวนี้ไม่ได้

แต่ว่าสำหรับอันนี้ นึกถึงว่าจะกั้น ได้น้ำไหล อันนี้ใช้ภาษาฝรั่ง ต้องใช้ภาษาฝรั่งไหมว่า มันซิลี เพราะว่าเท่ากับส่งเสริมให้น้ำท่วม เพื่ออะไร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมข้างล่าง แต่ว่าเก็บน้ำไว้เยอะทีเดียว แล้วถึงเวลา ไอ้ข้างบนมันมาก ยกทัพมา มาฟัน ไอ้เขื่อนไอ้คันนี้ ทีนี้ก็ลง เทลงมา ทีนี้ ไอ้ข้างล่างก็สบายเลยข้างบนอาจจะแห้งลงไป แต่ข้างบนอาจจะแห้งหรือไม่แห้ง เพราะจะมีน้ำจากข้างบนลงมาอีกที

สรุป ไม่มีใครแห้งเลย แต่ถ้าทำ อย่างนี้ให้แห้งข้างล่าง เวลาน้ำมาลง ก็ลง ลง ไป ก็คือคงเข้าใจว่าทำไมเรามีความหนักใจ แต่ถ้าเห็นด้วย ในการที่จะมาทำให้แห้งข้างล่าง เพื่อรับน้ำใดๆ ที่จะลงมาแล้วไอ้ข้างล่างต้องทำ เขื่อนอย่างนี้จะแตกต่างจากเขื่อนที่เราทำมาแล้วในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใดๆที่เก็บน้ำไว้ข้างบน เพื่อจะเก็บไว้หน้าแล้ง หน้าฝนเก็บไว้ข้างบนไม่ให้ลงมาท่วม หน้าแล้งก็ปล่อยลงมาได้กิน ป่าสักก็ตาม นครนายกก็ตาม แก่งเสือเต้นก็ตาม เก็บน้ำไว้ข้างบน เพื่อจะไม่ให้ท่วมลงมา

เมื่อไม่ท่วมแล้ว เขาก็ทำกินได้ เมื่อหน้าแล้ง มีน้ำท่วมอะไรบ้างนิดหน่อย น้ำไปแล้ว ทางราชการไปช่วยอย่างที่คุณอำพลเคยเอาพืชผักอะไรต่างๆ ไปแจกมีน้ำสำหรับปลูก แต่ถ้าไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะเก็บน้ำไว้ข้างบน ไปแจกเมล็ดพันธุ์แล้ว มันก็แห้ง มันก็ไม่ขึ้นอันนั้นเป็นวิธีอย่างหนึ่งของการพัฒนา แต่นี่มันตรงข้าม ต้องเอาออกให้แห้ง

ชลประทานนี่ มีชื่อว่า ชลประทาน เขาประทานชล ให้น้ำ แต่นี่ตรงข้าม ต้องเอาน้ำออก เรื่องน้ำท่วมต้องเอาน้ำออกซะก่อน แล้วน้ำก็ไม่ท่วม

อันนี้ถึงย้ำและพูดรุนแรงหน่อยว่า แม้จะมีที่ที่คนจะว่าอะไร เป็นที่ของเขา ก็ต้องทำ ใช้กฎหมายใดที่จะพึงใช้ได้ หรือมิเช่นนั้นก็เอาเงินทุ่มก็ได้ แต่เชื่อว่าผู้ที่เป็นเจ้าของคราวนี้ คงเข้าใจ เขาต้องสละบ้าง และจะเป็นการแสดงความรักชาติ หรือความรักส่วนรวมของผู้เป็นเจ้าของที่ตรงนี้ และประชาชนก็จะมีความเห็นใจเขา แล้วก็อาจจะไม่ตำหนิติเตียนในเรื่องอื่น ก็อาจสบายขึ้นได้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ตรงข้ามกับชลประทาน ไอ้เรื่องการทางนี่ก็ไปกันกันไม่ได้ ต้องปล่อยให้ลง แต่ถ้าปล่อยให้ลงทางตะวันตกมันเดือดร้อนมาก เพราะไม่มีคลองเอาลงทะเล

อันสุดท้ายที่มีคือปลัดเปรียง ซึ่งเล็ก แต่ก็ต้องใช้เหมือนกัน แต่เขามาลงบางนากับสำโรง ก็แย่ เดือดร้อนเหมือนกัน ต้องทำนอกบางนา สำโรง ต้องเอาลงทะเล ถ้าไม่ก็โดน จ.สมุทรปราการ ที่จมน้ำอยู่แล้วต้องเลื่อนมาถึงที่บ้านหรุ

เจ้าหน้าที่ทูลถามพระองค์ว่า ถ้าทำอย่างนี้ คันกั้นน้ำอาจไม่จำเป็น แต่พระองค์ตรัสว่า จำเป็น คันกั้นน้ำยังคงจำเป็น เพราะทางนี้สูงกว่าทางนี้ แต่ถ้าท่วม20 เซนติเมตร เขาไม่ว่าหรอก แล้วไหลไป เป็นเหมือนคลองใหญ่ 10 กิโลเมตร

เคยบอกแล้วว่าควรจะทำกรีนแอเรีย ที่เรียกว่ากรีนเบลท์ ก็แปลเป็นภาษาไทยว่าแนวเขียว ซึ่งตั้งแต่สมัย 15 ปีแล้ว แต่กรีนเบลท์ กรีนมันไม่ค่อยกรีนละเพราะมีโรงงานไปสร้าง สร้าง สร้าง ไม่นึกถึงช่องน้ำแต่ถ้าสร้างแล้วมีช่องน้ำที่แคบ ขอให้เขาเอาเครื่องเร่งน้ำใส่ ที่มีกำลังดีๆ เพื่อที่สามารถปล่อยน้ำ ไล่น้ำลงมาในจำนวนที่จะพอเพียง

สมมติช่องน้ำ 10 เมตร ช่องน้ำที่โรงงานเหลือ 5 เมตร ความเร็วน้ำต้อง 2 เท่า ถ้าเร่งได้จำนวนก็จะได้ 2 เท่า จำนวนน้ำจะได้ 2 เท่าของ 5 เมตร ก็เป็น 10 เมตร ตลอดทาง มีผลดี เคยพูดมาตั้ง 10 ปีละ ปี 2523 15 ปีแล้ว ไม่ทราบทำหรือไม่ทำ เคยพูดแล้ว ที่ไปบางนาเห็นสร้างโรงงานบอกไม่มี ป่านนี้มีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถ้ามีช่องน้ำใส่เครื่องปั่นให้น้ำวิ่งถ้าน้ำวิ่งด้วยความเร็ว 4 นอต ตรงนั้นให้วิ่ง 8 นอตแก้ปัญหา

ขั้นแรกสำคัญ เรื่องริมทะเลต้องทำให้ได้ เพราะถ้าหากทำที่ริมทะเลแล้วสูบน้ำออกได้จริงๆ ทำให้น้ำลดลงไปในคลองริมทะเล ถ้าน้ำลดลงไปได้จริงสัก1-2 เมตร น้ำที่อยู่ข้างบนจะไหลลงมาเร็วกว่าเยอะเราก็ใส่เครื่องสูบเร่งน้ำมา จะไม่มีท่วมเลย น้ำมีมากน้ำฟู่ลงมาเดียว บางพระซึ่งบ่นว่าไม่มีน้ำ ไม่กี่ชั่วโมง2 เมตร น้ำขึ้นมา ที่นี่ถ้าทำไปทำมาน้ำ 2 เมตร จะทำยังไง คนจะอยู่ที่ไหน ด่วนที่สุด ทำคืนนี้เลย อันนี้ก็เสริมที่กล่าวเมื่อตะกี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พระราชดำรัสในหลวง ป้องกันน้ำท่วม ปี 2538

view