สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปรียบเทียบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เปรียบเทียบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ถ้านับจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) ปี ค.ศ.1688 จนถึงปีนี้ อังกฤษมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) มาเป็นเวลาถึง 323 ปีแล้ว  ส่วนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยเรามีอายุได้เพียง 79 ปีเท่านั้น  ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบระบอบการเมืองการปกครองของไทยกับของอังกฤษ ก็คงต้องย้อนไปดูการเมืองอังกฤษในช่วง 100 ปีแรกหลังจากที่อังกฤษเข้าสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าใครเอาระบอบของไทยไปเทียบกับการเมืองปัจจุบันของอังกฤษหรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ใช้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดหลักวิชาการอย่างยิ่ง เพราะประเทศเหล่านั้นใช้เวลานานพอสมควรกว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเขาจะลงตัวและมีเสถียรภาพมั่นคง อย่างกรณีของหนังสือ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager, (2010)  บางตอนของบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลย (unthinkable) ที่กษัตริย์ของเดนมาร์กจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการพัฒนาชนบท (rural development) เหมือนอย่างที่กษัตริย์ไทย (King Bhumibol) ทำ !
 

เข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่า การที่กษัตริย์ไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชนบทส่งผลให้กษัตริย์มีอำนาจบารมีมากและส่งผลต่อเรื่องการเมืองในเวลาต่อมา ดังนั้น กษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกประเทศจึงไม่ควรยุ่งเรื่องการพัฒนาประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ควรห้ามไม่ให้กษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการพัฒนา เพราะจะทำให้มีอำนาจบารมีมาก
 

น่าคิดว่า ในช่วงหนึ่งร้อยปีแรกของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ ในยุโรปมีบทบาทอย่างไร ? ผู้เขียนบทนำดังกล่าวน่าจะเปรียบเทียบในช่วงเวลาหนึ่งร้อยปีแรกของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์กมากกว่าจะเทียบกับเดนมาร์กในปัจจุบัน และก็น่าสนใจอีกด้วยว่า ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงดูแลการพัฒนาชนบทตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมานั้น ไม่มีนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่ไหนออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของพระองค์ ที่สำคัญคือ ไม่มีคอมมิวนิสต์หรือมาร์กซิสต์ไทยในช่วงนั้นออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมากลับมีนักวิชาการรวมทั้งผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาวิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับบทบาทในการพัฒนาชนบทของพระองค์ในอดีตย้อนหลังไปหลายทศวรรษ
 

ประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2500 จัดว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา ส่วนเดนมาร์กไม่เคยเป็นประเทศด้อยพัฒนา เพราะประเทศแถบยุโรปเหนือรวมทั้งอังกฤษล้วนแต่เป็นประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ทั้งสิ้น  บริบททางเศรษฐกิจสังคมจึงแตกต่างจากของไทยมาก คำถามที่ตามมาก็คือ การที่ในหลวงพัฒนาชนบทไทยในอดีตนั้นถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรสำหรับประเทศอย่างไทยเราหรือ ? หรือแม้กระทั่งการแนะนำแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ? และถ้าผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนาไม่ทรงทำอะไรเลย ถือเป็นบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ?  ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกวิจารณ์อีกกระมัง ?  พูดง่ายๆ ก็คือ ทำหรือไม่ทำก็ผิดทั้งนั้น ?!!
 

หรืออย่างในกรณีการเมืองอังกฤษในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (1819-1901) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาได้ 169 ปีแล้ว แต่กระนั้น สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ยังแสดงออกถึงความชอบต่อพรรคการเมืองหนึ่งอย่างชัดเจน  ถึงขนาดที่พระองค์ได้รับการขนานนามจากสังคมอังกฤษสมัยนั้นว่าเป็น “the Party Queen” (ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติม ดูได้จากหนังสือของ Vernon Bogdanor, “the Monarchy and the Constitution” 1995: ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องรัฐธรรมนูญมากที่สุดของอังกฤษ) แน่นอนว่า ถ้ากษัตริย์ไทยในช่วงเวลา 79 ปีที่ผ่านมาทำเช่นนั้นคงถูกโจมตีอย่างรุนแรงว่าไม่เป็นกลางทางการเมือง
 

เช่นเดียวกันกับการพิจารณาพฤติกรรมการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย  มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยบอกว่า การซื้อขายเสียงในการเลือกตั้งของไทยเรานั้นถือเป็นลักษณะโดดเด่นและเป็นวัฒนธรรมที่คงแก้ไม่ได้  อย่างไรเสียก็ต้องซื้อขายเสียงกันต่อไป ไม่ควรออกกฎหมายลงโทษรุนแรงถึงขนาดยุบพรรคกัน แต่ถ้าย้อนไปดูการเลือกตั้งของอังกฤษในช่วง 195 ปีแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบว่า อังกฤษมีปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างหนักและมีการใช้ความรุนแรงด้วย ดังข้อความที่ปรากฏในหนังสือ “Parliamentary Reform: 1785-1928”  เป็นตำราที่ใช้เรียนในระดับมัธยมของอังกฤษ ผู้แต่งคือ Sean Lang  ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1999: “..elections could still be very violent affairs and were often as brazenly corrupt as ever---indeed, some thought the Ballot Act  made them more corrupt rather than less, since the more venal voters (venal แปลว่า ทำอะไรก็ได้เพื่อเงิน)  could now accept bribes from both parties without either knowing how they actually voted.” 
 

จะเห็นได้ว่า อังกฤษก็มีปัญหาการซื้อขายเสียงอย่างหนักมาก่อน แต่เขาไม่ยอมรับมัน และหาทางต่อสู้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้  และในที่สุด ได้มีการออกกฎหมายในปี ค.ศ.1883 (the Corrupt Practices Act) ซึ่งสามารถจัดการกับการซื้อขายเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากอังกฤษแล้ว อเมริกาก็เช่นกัน การเมืองของเขาก็เคยมีประสบการณ์การทุจริตในการเลือกตั้งไม่น้อยไปกว่าของไทยเลย  เพียงแต่เขาไม่คิดว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างที่คนไทยจำนวนหนึ่งชอบกล่าวอ้าง 
สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปรียบเทียบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

view