สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทาง 3 แพร่ง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ฟังความเห็นนักกฎหมาย ประเมินเส้นทางร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ส่อเอื้อประโยชน์"ทักษิณ" กับความรับผิดชอบของนายกฯหญิงที่ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
"น้ำยังไม่ทันลด ก็เริ่มวุ่นแล้ว" เป็นเสียงเปรยของ "คอการเมือง" หลังทราบข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 15 พ.ย. ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.... ซึ่งมีเนื้อหากำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่เข้าข่ายในการเข้ารับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554

โดยการประชุม ครม.ช่วงที่พิจารณาเรื่องนี้เป็นการประชุมลับ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย!?!

ร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ ฉบับนี้ ถูกมองว่าเป็นเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึงที่สุดให้จำคุก 2 ปีในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษว่า ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี พร้อมตัดข้อความแนบท้าย พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ พ.ศ.2553 ที่ให้ยกเว้นการอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดและทุจริตคอร์รัปชันออก

หลักเกณฑ์ว่าด้วยผู้ต้องโทษต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น เป็นหลักเกณฑ์เก่าที่มีใน พ.ร.ฎ.ฉบับก่อนๆ (ซึ่งออกเป็นประจำทุกปี) แต่ที่ส่อว่าจะเป็นปัญหา คือ การไปตัดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนโทษที่รับมาแล้วออก ทำให้ตีความได้ว่าผู้ต้องโทษที่หลบหนีหรือยังไม่ได้รับโทษเลยก็อาจเข้าข่ายด้วย และยังให้การอภัยโทษครอบคลุมไปถึงคดียาเสพติดและทุจริตประพฤติมิชอบอีกต่างหาก

พิจารณาหลักเกณฑ์ที่ปรับใหม่ในร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพุ่งเป้าช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุก!

แต่ปัญหาก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคนนอก ครม.ได้เห็นร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว จึงไม่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ผ่าน ครม.หรือยัง และมีการปรับหลักเกณฑ์ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามที่เป็นข่าวจริงหรือไม่ เพราะรัฐมนตรีหลายคนที่ออกมาตอบคำถาม ก็แค่ไม่ปฏิเสธว่ามีเรื่องเข้า ครม. แต่ไม่มีผู้ใดยอมพูดถึงรายละเอียด แม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเองก็อ้างกระต่ายขาเดียวว่า "ไม่พูด เพราะเป็นเรื่องลับ"

ฉะนั้นประเด็นที่สมควรหยิบมาพิจารณาคือ เส้นทางของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ และความเป็นไปได้หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะที่กล่าวมา

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

1.การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าประชุม ครม. และยังให้สัมภาษณ์ว่าไม่ทราบรายละเอียด ทำให้เกิดปัญหาว่าร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้อย่างไร เพราะทุกเรื่องที่บรรจุเข้าเป็นวาระ ครม. นายกฯต้องเป็นผู้ลงนามอนุมัติ และนายกฯก็ไม่ได้ลางานหรือติดราชการต่างประเทศที่ต้องมอบหมายให้มีรองนายกฯรักษาราชการแทน

2.นายกฯจะปฏิเสธการรับรู้เรื่องที่เข้าครม.ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบจากการกระทำหรือผลแห่งการกระทำของ ครม.ได้เลย

3.หากร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ มีการตัดหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาที่รับโทษมาแล้ว รวมถึงหลักเกณฑ์ที่ห้ามการอภัยโทษนักโทษคดียาเสพติดและคดีทุจริตคอร์รัปชัน ย่อมขัดต่อประเพณีการอภัยโทษหรือพระราชทานอภัยโทษตามที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนาน ซึ่งเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วเป็น "พระราชอำนาจที่แท้จริง" ว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติโดยหลักแล้วจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะองคมนตรีก่อนเพื่อถวายความเห็นประกอบ ซึ่งความเป็นไปได้มี 3 ทาง กล่าวคือ

- คณะองคมนตรีเสนอให้ ครม.ตัดทอนหรือแก้ไขข้อความบางข้อความที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในชาติ หรือขัดต่อประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมออก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา แล้วให้เสนอร่างกลับไปใหม่

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะส่งผลให้ร่าง พ.ร.ฎ.ไม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขหรือยืนยันกลับไปได้อีก

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ดี นายปรีชา ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ถึงที่สุดแล้วร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ จะต้องประกาศใช้ เพราะเป็นประเพณีที่ทำกันมาทุกปีในวโรกาสมหามงคล แต่อาจจะต้องปรับแก้ถ้อยคำบางส่วนไม่ให้ขัดกับประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา และไม่ให้มีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่บุคคลบางคน 

ขณะที่ความเห็นของนักกฎหมายรายอื่นๆ เช่น นายทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า หากผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีหรือหลบหนีคำพิพากษาบางคนเข้าเงื่อนไขที่ ครม.กำหนดขึ้นใหม่นี้ ในอนาคตจะทำให้คนไม่เคารพกฎหมาย ฉะนั้น ครม.ต้องรับผิดชอบหากผลักดันร่าง พ.ร.ฎ.แล้วเกิดปัญหาหรือความผิดพลาดใดๆ ตามมา


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทาง 3 แพร่ง พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ

view