สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำลดตอผุด : กรณีแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล



ในช่วงอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา เราได้เห็นการทำงานของรัฐบาลในหลากหลายรูปแบบ หลายงานถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น การทำงานแบบหมกเม็ด สอดไส้
ไร้ประโยชน์สาธารณะท่ามกลางภาวะความยากลำบากของพี่น้องประชาชน ทั้งๆ ที่สัญญากันแล้วสัญญากันอีกว่าจะไม่ทิ้งกัน ในขณะที่ยังมีอีกหลายฝ่ายแสดงความเห็นอกเห็นใจท่านผู้นำและคณะที่เข้ามารับตำแหน่งไม่ทันไร ก็เจอกับภัยธรรมชาติในแบบที่ตั้งตัวกันแทบไม่ทัน
 

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสน้ำที่โหมจากเหนือลงสู่ใต้ในปัจจุบันจะนำพางานเข้าสู่รัฐบาลชุดนี้แบบไม่เว้นวาย  แต่ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของผู้ประสบภัยเหล่านั้น รัฐบาลชุดนี้ก็ยังเจียดเวลาดำเนินการผ่านร่าง พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไปเมื่อวัน 18 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสำนักสื่อต่างๆ ที่เห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าววางอำนาจให้กับภาครัฐในฐานะของผู้กำกับควบคุม มากกว่าผู้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และการรับรู้ข่าวสารในสังคมประชาธิปไตย
 

แน่นอนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 165 ปีที่ดินแดนสยามแห่งนี้ได้มีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในประเทศไทย ซึ่งเปิดตัวขึ้นโดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่ได้กราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอในวันชาติอเมริกัน เมื่อ พ.ศ. 2389 เป็นต้นมา สื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความคิดเห็น ค่านิยม และความเชื่อของคนในสังคมไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์อาจลดบทบาทลงจากพัฒนาการของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการรายงานข่าวในสื่อมวลชนรูปแบบอื่นๆ ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นแหล่งข่าวสำคัญในการตั้งกระทู้ถามและตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูการกำกับควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์จากผู้มีอำนาจต่างยุคต่างสมัยกันแล้ว จะเห็นถึงดีกรีความเข้มงวดกวดขันที่มีแตกต่างกันไป แล้วแต่ความหวาดระแวงของตัวผู้นำ ทั้งนี้ พ.ร.บ. การควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดูจะตามหลอกหลอนคนทำงานสื่ออยู่จนทุกวันนี้ คือ พ.ร.บ. การพิมพ์  พ.ศ. 2484 ที่มีเนื้อความกำหนดให้ผู้ประสงค์จะพิมพ์หนังสือหรือหนังสือพิมพ์ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนพิมพ์ พร้อมกับอำนาจในการสั่งงดการเป็นผู้จัดพิมพ์และงดใช้เครื่องพิมพ์ อีกทั้งสามารถยึดตัวพิมพ์ซึ่งมีผลเป็นการปิดโรงพิมพ์แบบเบ็ดเสร็จตามมาด้วย โดยในบางยุคที่ผู้นำมีความหวาดระแวงสูงเป็นพิเศษ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็จะถูกใช้ควบคู่ไปกับกฎเหล็กอื่น ๆ เช่น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้นำ พ.ร.บ. ฉบับนี้มาใช้ควบคู่กับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 ในปี พ.ศ. 2501 หรือสมัยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ที่ได้ใช้ควบคู่ไปกับคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 เมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นต้น
 

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แม้จะถูกมองว่าเป็นผลพวงของเผด็จการอำนาจนิยมที่มีความหวาดระแวงต่อการใช้สิทธิในการคิด เขียน และแสดงออกของประชาชนก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ก็หาได้มีรัฐบาลชุดใดหรือผู้นำหน้าไหนใจกล้าพอที่จะปรับเปลี่ยน พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้รองรับพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ได้มีการทบทวนและยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับนี้ภายใต้การนำของรัฐบาลขิงแก่ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อันถือเป็นการปลดแอกครั้งสำคัญของผู้ที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนของประเทศ
 

อย่างไรก็ตาม อาการลิงโลด ดีอกดีใจของบรรดานักสื่อสารมวลชนคงได้ชะงักงันกันอีกครา เมื่อมาเจอกับ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม อันถือกำเนิดขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร ซึ่งแม้จะมาพร้อมกับเสียงโหวตที่อื้ออึงของบรรดาพี่น้องประชาชนจนสามารถอ้างที่มาที่ไปของความเป็นประชาธิปไตยในรัฐบาลชุดนี้ได้ แต่ท้ายสุด กลับสร้างความอึ้ง ทึ่ง เสียว ในกับวงการสื่อสารมวลชนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งไม่เพียงแต่แปลงอำนาจที่เคยอยู่ในมือของเจ้าพนักงานการงานพิมพ์ ของกรมศิลปากรให้มาอยู่ในมือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น  หาก พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ยังมีเนื้อความที่ให้อำนาจ ผบ. ตร. ในการออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและครอบจักรวาลกับ ผบ. ตร. ในการวินิจฉัยสื่อสิ่งพิมพ์ได้ตามแต่วิจารณญาณของท่าน
 

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์กันไปมาแล้ว หลายคนพบว่า พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ดูจะเลวร้ายไม่แพ้ พ.ร.บ. การพิมพ์สมัยอดีตเผด็จการตรงที่ระบุให้มีการต่อใบอนุญาตหรือต่อหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี กอปรกับให้มีการจัดระบบเรทติ้งของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเหมือนกับการนำพาอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้กลับไปสู่ภาวะถอยหลังเข้าคลอง โดยอ้างความไม่รู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน อ้างความมั่นคงและสงบเรียบร้อยของชาติ รวมถึงการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อลิดรอนสิทธิ์ในการแสดงออกและการรับรู้ข่าวสารของผู้คนในสังคมไทย


ดังนั้น ในภาวะที่หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะปกติหลังน้ำลด คนไทยและนักวิชาชีพสื่อหลายๆ คน คงต้องตั้งต้นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแบบย้อนหลังกลับไปในยามน้ำเชี่ยวกรากกันอีกครา ทั้งนี้ เพื่อมิให้ข้ออ้างของระบอบประชาธิปไตยสองวินาทีในคูหาเลือกตั้งของรัฐบาลชุดนี้ สามารถสร้างความชอบธรรมในการประกอบสร้างระบอบเผด็จการแบบชั่วกัลปาวสาน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : น้ำลดตอผุด กรณีแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550

view