สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Venture Capital แหล่งทุนทางเลือกสู้น้ำท่วม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : สรวิศ อิ่มบำรุง



Fundamentals เคยนำเสนอวิธีรับมือน้ำท่วมให้กับผู้คนทั่วไปกันแล้ว ลองมาดูว่าถ้าเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีวิธีรับมืออย่างไร
“มหาอุทกภัยปี 2554” ได้สร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะ “ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)” ของไทยที่อยู่ในเส้นทางผ่านของน้ำด้วยเช่นกัน
 ปัจจุบันธุรกิจในไทยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจ SME ที่มีจำนวนประมาณ 2.92 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจ SME จะเก่งในเรื่องธุรกิจ แต่มักจะขาดแคลนในเรื่องของแหล่งเงินทุนหรือการบริหารจัดการด้านการเงิน
 เมื่อต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายบริษัทก็ต้องประสบปัญหาทั้งภาระหนี้สินกับทางสถาบันการเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ค่าแรงพนักงานที่ต้องจ่าย สินค้าคงคลังหรือเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม บางบริษัทถึงกับถอดใจต้องการจะเลิกกิจการไปเลยก็มี
 Fundamentals เคยนำเสนอ แนวทางสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในระดับบุคคลมาแล้ว วันนี้จะมาร่วมแชร์แนวทางในการแก้ไขปัญหาและต่อยอดธุรกิจสู่อนาคตให้กับธุรกิจ SME กัน
…………………….
 @ ทำหนังสือแจ้งสถาบันการเงินด่วน
  เกี่ยวกับเรื่องนี้ “สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) แนะนำว่า กิจการที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ทำหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้การค้าที่เกี่ยวข้องก่อนว่าธุรกิจของบริษัทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อขอ “เลื่อนระยะเวลาจ่ายดอกเบี้ยออกไป 3 - 6 เดือน” ขอ “ยืดเวลาจ่ายเงินต้นไปอีก 1 ปี” ให้ขอไปก่อน แล้วพอน้ำลดค่อยหาโอกาสเข้าไปพูดคุยอีกครั้ง เพราะตอนนี้ธุรกิจจำเป็นต้อง “สำรองกระแสเงินสด (Cash Flow)” ไว้เพื่อดำเนินธุรกิจให้ได้อย่างน้อย “3 - 6 เดือน” สำคัญที่สุด ให้ขอไปก่อน หลังจากที่กลับสู่ภาวะปกติแล้วค่อยหาโอกาสเข้าไปพูดคุยกับสถาบันการเงินอีกครั้ง “อย่าเพิ่งจ่ายเงินธนาคาร” นี่ไม่ได้แนะนำให้เบี้ยวหนี้ แต่เพื่อให้ธุรกิจประเมินสภาพคล่องเพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้ในธุรกิจก่อน ถ้าขาดสภาพคล่องขึ้นมาจะมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจทันที การแจ้งไปนี้ก็แสดงว่ากิจการไม่มีเจตนาในการเบี้ยวหนี้ สถาบันการเงินเองก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ด้วย และจะทำให้บรรยากาศการเจรจาในอนาคตดีขึ้นด้วย ในเบื้องต้นให้ส่งเป็นเอกสารไปก่อน เรียกว่าหยุดชำระหนี้หรือชะลอการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อให้ธุรกิจตั้งหลักได้ให้ดีก่อนแล้วค่อยกลับไปเจรจากับทางสถาบันการเงินอีกครั้ง
"ในส่วนของหนี้เดิมอาจจะขอเจรจาขอผ่อนผัน ส่วนหนี้ใหม่ก็มาเริ่มต้นกันใหม่ แต่จุดด้อยของธุรกิจ SME ส่วน ใหญ่ ประมาณ 90% ไม่ได้ทำประกันเครื่องจักรเอาไว้ และในส่วนที่ทำประกันไว้กว่าจะเคลมได้เงินมาก็ต้องใช้เวลานาน 6 เดือน - 1 ปี การที่ธุรกิจต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการกู้วิกฤติซ่อมเครื่องจักร นอกจากเงินทุนส่วนตัว อีกแหล่งเงินทุนที่น่าสนใจก็คือ กองทุนธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital Fund : VC Fund) ที่สามารถจะช่วยได้ แต่ก็คงไม่ใช่ทุกกิจการที่ VC-Fund จะร่วมลงทุน  เพราะต้องเป็นบริษัทที่ดี มีศักยภาพในการเติบโต แม้ปัจจุบันจะขาดทุนก็ไม่เป็นไร ขอให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเท่านั้นเอง"
@ VC-Fund แหล่งทุนทางเลือก
โดย “ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกว่า VC-Fund เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ SME โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพได้เข้ามาร่วมลงทุนและให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้ามาสู่รูปแบบของ “บริษัทมหาชน” ได้ดียิ่งขึ้น เพราะโดยปกติแหล่งเงินทุนของกิจการจะมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ ที่สำคัญ คือ 1) “เงินกู้” ซึ่งมีภาระผูกพันต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” และ “เงินต้น” และ 2) “เงินทุนของกิจการ” ซึ่งอาจจะมาจากเงินทุนของเจ้าของกิจการเอง หรือจะมาจาก “เงินทุนของบุคคลอื่น” ในรูปแบบของ VC-Fund ก็ได้ ซึ่งจะเข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้นในธุรกิจ มาร่วมรับความเสี่ยงและมาช่วยผลักดันให้กิจการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เท่าที่ผ่านมาการพัฒนา VC-Fund ในประเทศไทยยังไม่ค่อยไปไหน และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งแผนที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย เพราะตลาดทุนไทยจะพัฒนาได้อย่างแข็งแกร่งนั้น ต้องเตรียมพร้อมทั้งทุนก่อนเข้าตลาดและทุนที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจ SME อยู่มากถึง 2 ล้านราย ขอแค่ 0.1% ที่สามารถยกระดับ เข้าถึงตลาดทุน หรือมาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ก็จะมีบริษัทในตลาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 2,000 บริษัท SME เหล่านี้ต้องได้รับโอกาสและไม่ว่าเขาอยู่ในภูมิภาคไหนของประเทศ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระดมทุนไปถึงพวกเขาเหล่านั้น หนึ่งในนั้นก็คือ VC-Fund
“VC-Fund ถือเป็นโอกาสทั้งของภาคธุรกิจ SME ที่ต้องการแหล่งเงินทุนและกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ ความสามารถสามารถจะยอมรับความเสี่ยงได้ มีเงินทุนเป็นกลุ่มลูกค้า High Net Worth ที่มีฐานะดีให้เข้ามาลงทุน โดยมุ่งเน้นเข้าไปลงทุนในกิจการที่มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจสูง ที่สำคัญมุมมองในการพิจารณาของ VC-Fund จะแตกต่างจากมุมมองของธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาสินเชื่อด้วย โดย VC-Fund จะมองถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ และมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอาจจะร่วมลงทุน 5-6 ปี เมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ก็จะถอนเงินลงทุน (Exit) ต่อไป”
เช่นเดียวกับ  “ชนิตร ชาญชัยณรงค์” ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่มองว่า นอกจากแหล่งเงินทุนที่เป็นสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แล้ว VC Fund ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทเหล่านี้ได้ ซึ่งภาครัฐของไทยเองยังไม่ได้หันมามองถึงช่องทางนี้เท่าไรนัก แต่ในส่วนของภาคเอกชนเองมีความพร้อมในช่องทางดังกล่าว เพียงแต่ธุรกิจที่มีความสนใจก็สามารถจะติดต่อมายัง “ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)” เพื่อช่วยประสานให้กับ VC Fund เหล่านี้ เข้าไปเพื่อพูดคุยได้เช่นกัน
"ปัจจุบันช่องทาง VC-Fund ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ หากภาครัฐจะเป็นผู้นำในการนำ VC-Fund เหล่า นี้ ไปพบกับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันภาคเอกชนเองก็มีความพร้อมอยู่แล้ว มีเงินลงทุนที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตและอาจจะ ขาดแคลนเงินทุนทั้งเพื่อขยายกิจการ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเองก็ได้ หรือบริษัทไหนที่กำลังคิดจะปิดกิจการก็น่าจะติดต่อเข้ามาก่อนเผื่อจะมี VC-Fund ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในกิจการของท่านก็ได้"
@ ตั้งสติรับมือวิกฤติน้ำท่วม
 ด้าน “ชัยวัฒน์  เครือชะเอม” กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ยอมรับว่า ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นการดำรงสภาพคล่องของธุรกิจคือ “หัวใจที่สำคัญที่สุด” แต่ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือขวัญกำลังใจของผู้บริหารที่ต้องตั้งสติเพื่อที่จะตั้งหลักดูแลพนักงานในองค์กรให้อยู่รอด ตลอดจนผู้ร่วมค้า เจ้าหน้าที่การค้าและสถาบันการเงินให้ร่วมฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในสภาพวิกฤติเรื่องของกระแสเงินสดเพื่อดำเนินธุรกิจให้ได้ถือว่าสำคัญที่สุด และ VC-Fund ก็ ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ผู้บริหารเองต้องมีความโปร่งใสจริงใจ เตรียมข้อมูลทางบัญชีและระบบควบคุมภายในเอาไว้ให้พร้อม ซึ่งจะช่วยให้ขั้นตอนในการเจรจาเร็วขึ้น
“บริษัทของตัวเองเคยประสบวิกฤติค่าเงินในช่วงปี 2540 ก็วิ่งหาเงินทุนจากทุกแหล่งเพื่อมาใช้เป็นสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถที่จะอยู่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ VC-Fund ที่ได้วิ่งเข้าไปหาเช่นกัน แต่การจะให้ VC-Fund เขามาร่วมลงทุนกับคุณด้วยนั้นระบบบัญชีของบริษัทต้องได้มาตรฐาน แนวทางในการดำเนินธุรกิจชัดเจน มีการบริหารจัดการที่ดี ผู้บริหารมีความจริงใจโปร่งใส ธุรกิจมีธรรมาภิบาล สามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับ VC-Fund ได้ ไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่มาร่วมลงทุนแน่นอน”
เช่นเดียวกับ “วีรพันธ์ พูลเกษ” กรรมการ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ที่มองว่า ช่วงวิกฤติสำคัญที่สุดคือเรื่องของการบริหารกระแสเงินสด บริษัทที่ประสบภัยน้ำท่วมควรจะเจรจาขอยืดหนี้กับทางสถาบันการเงินซึ่งเชื่อว่าทางสถาบันการเงินเองก็น่าจะผ่อนผันให้พอสมควร ดังนั้นในแง่ของ “หนี้เก่า” ไม่น่ามีปัญหา แต่ “เงินใหม่” ที่จะนำมาใช้อาจจะไม่ง่ายนัก ในส่วนของบริษัทที่เจอน้ำท่วมให้ถ่ายรูปทั้งก่อนที่จะจมน้ำ ช่วงจมน้ำ และช่วงหลังจากที่น้ำลดแล้ว เพื่อให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหากสามารถทำได้แล้วรีบติดต่อบริษัทประกันเข้ามาโดยเร็วที่สุด และเป็นไปได้ก็อาจจะขอเจรจาให้บริษัทประกันจ่ายค่าเคลมมาให้ก่อนล่วงหน้าสัก 30% ของทุนประกันเพื่อเอามาใช้ก่อนก็ได้ ในระหว่างที่ทางบริษัทประกันอาจจะยังอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายเพื่อที่บริษัทจะได้มีเงินบางส่วนเพื่อนำมาใช้ก่อนส่วนหนึ่งก็ยังดี
“แต่การเคลมกับประกันบางครั้งก็ไม่ง่ายและอาจใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น VC-Fund ถือ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ โดยลักษณะจะเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการ โดยเจ้าของกิจการอาจจะ “ต้องยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองลง” มาบ้างเท่านั้นเอง”
@ SME ไทยต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่
 เกี่ยวกับเรื่องนี้ “โสภณ บุณยรัตพันธุ์” นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) บอกว่า ปัจจุบันในเอเชียมีการใช้แหล่งเงินทุนจาก VC-Fund และ “กองทุนนิติบุคคลเอกชน (Private Equity)” ไม่มากนักประมาณ 1.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่ในยุโรปมีประมาณ 2.5% ของ GDP และในสหรัฐประมาณ 6.7% ของ GDP และในไทยเองก็ยังมีการใช้ช่องทางนี้ในการระดมทุนไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสทั้งของ “ฝั่งผู้ลงทุน” อย่าง  VC-Fund และ “ฝั่งผู้ต้องการแหล่งเงินทุน” อย่างตัวผู้ประกอบกิจการเองด้วยเช่นกันในการใช้ช่องทางนี้ในการระดมทุน แต่ที่ในไทยไม่ค่อยจะได้รับความนิยมส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจแบบไทยจะมีความรู้สึกผูกพันใน “ความเป็นเจ้าของสูง” ธุรกิจที่สร้างมากับมือแล้วจะให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมถือหุ้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำใจไม่ค่อยได้ แต่ถ้ามองในเชิงธุรกิจ VC-Fund เขาไม่ใช่มูลนิธิแต่เป็นนักลงทุน ที่จะนำเงินเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการก็ต้องการผลตอบแทนเช่นเดียวกับเจ้าของกิจการเช่นกัน และเมื่อเขาเอาทุนเข้ามาให้คุณก็ต้องยอมสูญเสียสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองลงไปบ้าง
“VC-Fund เป็นรูปแบบหนึ่งของไพรเวทอิควิตี้ โดยปกติเขาไม่ได้ใส่เงินเข้ามาอย่างเดียว แต่จะมาให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจเรียกว่าเข้ามาเป็นหุ้นส่วนที่จะเข้ามาร่วมรับความเสี่ยงไปพร้อมกับเจ้าของกิจการ ดังนั้นผลตอบแทนที่เขาคาดหวังก็ใกล้เคียงกับเจ้าของกิจการต้องการเช่นกัน เพราะ VC-Fund เมื่อเข้าไปลงทุนในกิจการเองก็มีความเสี่ยงและอัตราการประสบความสำเร็จก็ไม่มาก หากลงทุนไปใน 10 กิจการ อาจจะมีประสบความสำเร็จเพียง 2 โครงการ ดังนั้นผลตอบแทนของเขาก็ต้องชดเชยความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้เอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามการที่บริษัทมี VC-Fund เข้า มาร่วมลงทุน จะทำให้ภาพลักษณ์ของกิจการในสายตาของสถาบันการเงินดีขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทได้รับเงื่อนไขทางการเงินที่ดีกว่าเดิม เป็นต้น หากการเจรจาเพื่อลงทุนเรียบร้อย ก็ใช้เวลาในกระบวนการเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน ก็แล้วเสร็จ”
@ เฉลี่ยถือหุ้นประมาณไม่เกิน 25%
 โดยสมภพ ยอมรับว่า เจ้าของกิจการ SME ของไทยค่อนข้างเป็นกังวลในเรื่องที่ตัวเองจะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงตลอดจนกังวลว่า VC-Fund จะเข้ามาร่วมบริหารแล้วทำให้ไม่สะดวกในการบริหารเหมือนกับที่ตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว ซึ่งจากประสบการณ์แล้วพบว่า VC-Fund ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนในกิจการจะเข้าไปลงทุนถือหุ้นในสัดส่วน “ไม่เกิน 25%” และเต็มที่จะ “ไม่เกิน 49%” เพราะจะกลายเป็นเจ้าของกิจการไปเอง ซึ่งสัดส่วนไม่เกิน 25% นี้ เป็นสัดส่วนที่เจ้าของกิจการเองยอมรับได้และยังรู้ว่าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ ในแง่ของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของ VC-Fund นี้ จะขึ้นกับสัดส่วนการเข้าไปถือหุ้นเป็นสำคัญถ้าถือมากก็จะเข้าไปดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการมากขึ้นตามไปด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า VC-Fund เป้าหมายเขาคือการเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเช่นกัน เมื่อลงทุนไประยะหนึ่งก็จะถอนเงินลงทุนออกไป (Exit) ซึ่งอาจจะเป็นการนำหุ้นของบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วค่อยขายหุ้นในตลาด หรือการขายหุ้นให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ หรือขายหุ้นให้กับเจ้าของเดิมประเด็นในเรื่องของการถอนเงินลงทุนของ VC-Fund จะต้องมีการพูดคุยตกลงกับเจ้าของกิจการไว้ตั้งแต่แรก แต่ส่วนใหญ่เป้าหมายจะเป็นการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
VC-Fund สามารถเข้าไปร่วมลงทุนในกิจการได้เกือบทุกประเภท เพียงแต่ต้องเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง มีระบบบัญชีที่ดี มีระบบควบคุมภายในที่ดี และมีผู้บริหารที่มีความโปร่งใส ตัวธุรกิจจะขาดทุนอยู่ก็ไม่เป็นไรขอให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตก็เพียงพอ หลายครั้ง VC-Fund เข้าไปลงทุนในบริษัทที่ขาดทุนอยู่ก็ไปช่วยเจรจาประนอมหนี้ให้ด้วย เพราะปกติแล้ว VC-Fund จะไม่ได้ใส่เข้ามาแค่เงินลงทุน แต่จะให้คำปรึกษาในเรื่องของธุรกิจด้วยเช่นกัน ทั้งนี้รูปแบบการเข้าไปร่วมลงทุนของ VC-Fund จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ 1) “strategic Partner” และ 2) “Financial Partner” ในส่วนที่กำลังพูดถึงจะเป็น Financial Partner เป็นหลัก
“ธุรกิจที่อยากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือธุรกิจที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเข้าไปใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินได้ หรือธุรกิจที่มีรอยแผลเป็นหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) เคยเจ็บปวดมาแล้วและอยากจะเป็นไทอีกครั้ง ถือเป็น 3 กลุ่มธุรกิจที่สามารถจะใช้แหล่งเงินลงทุนทางเลือกจาก VC-Fund ได้ทั้งสิ้น และหากกังวลเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของ VC-Fund อาจจะเข้าไปถือหุ้นบางส่วนก่อน เช่น 10% ส่วนที่เหลือให้เป็นเงินกู้ที่สามารถแปลงเป็นหุ้นได้ในอนาคต (Convertible) เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนดก็ค่อยแปลงหนี้เป็นทุน หากสัดส่วนการถือหุ้นเกิน 25% ส่วนที่เกินนั้นก็คืน VC-Fund ไปเป็นเงินพร้อมผลตอบแทนประมาณ 12% เป็นต้น ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นกัน”
@ สสว.พร้อมหนุน SME เติบโต
นอกจากจะมี VC-Fund ในภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐเองอย่าง “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)” เอง ก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจ SME ในลักษณะของ VC-Fund ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ธุรกิจ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยการร่วมลงทุนของ สสว. ไม่ได้เน้นกำไรเป็นหลัก  แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจที่มีนวัตกรรมของคนไทยได้มีโอกาสแจ้งเกิดและเป็นการส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพให้เติบโตต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถเชิงการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากธุรกิจ SME มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การร่วมลงทุนของ สสว.จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่มีศักยภาพได้ เนื่องจากเป็นการร่วมลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว เป็นการระดมเงินทุนที่ปราศจากภาระในการจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างระยะเวลาการร่วมลงทุน  ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือหลักประกันใดๆ ในการระดมเงินทุน  ช่วยเสริมสร้างสถานภาพทางการเงินของ SME ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จนสามารถพัฒนาตนเองเข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต
“โดยธุรกิจที่ สสว. เข้าร่วมลงทุนด้วยจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือ  การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐอย่างครอบคลุม  เช่น  การบริหารจัดการ  การตลาด  การผลิต การบัญชีและการเงิน  รวมถึงระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา  เพื่อให้คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ SME และจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของกิจการนั้นๆ ให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เจ้าของกิจการมีโอกาสซื้อหุ้นคืนเมื่อการร่วมลงทุนบรรลุเป้าหมาย เพียงแต่ สสว. มีสิทธิกำกับดูแลการบริหารงานของกิจการตามสัญญาร่วมลงทุน และเจ้าของกิจการเดิมต้องรับผิดชอบต่อ สสว. ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนได้เช่นกัน ธุรกิจใดที่สนใจติดต่อได้ที่ Call Center 1301 ”
 “กองทุนธุรกิจร่วมลงทุน (VC-Fund)” ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งเงินทุนทางเลือกที่สำคัญของธุรกิจในการสู้กับวิกฤติอุทกภัยในครั้งนี้ และยังสามารถเป็นแหล่งเงินทุนในการสร้างธุรกิจ SME ให้เติบโตในอนาคตได้อีกด้วย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : Venture Capital แหล่งทุนทางเลือก สู้น้ำท่วม

view