สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปรียบเทียบที่มารธน.2540-รธน.2555

เปรียบเทียบที่มารธน.2540-รธน.2555

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เดินตามปฏิทินการเมือง สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่มีมติ (20 ธ.ค.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
เดินตามปฏิทินการเมือง สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่มีมติ (20 ธ.ค.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 77 คนจาก 77 จังหวัด และอีก 22 คนมาจากนักวิชาการ และล่าสุด วิปรัฐบาล ก็มีมติ (21 ธ.ค.) เห็นด้วยกับการจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้

ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2555 ซึ่งจะได้รับการยกร่างจากส.ส.ร.ซึ่งที่มาส.ส.ร.ไม่ได้แตกต่างจาก ส.ส.ร. 2540 เพราะ 77 คนมาจาก 77 จังหวัด 225 คนมาจากนักวิชาการ

สุดท้ายแล้วจะได้ ส.ส.ร.ตัวแทนพรรคการเมืองที่ซ่อนอยู่ในคราบ ส.ส.ร.จังหวัด

ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.เชียงใหม่ แต่ต้องอกหักแพ้ให้กับ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ แต่ก็ไม่ต่างอะไร ได้พล.ต.อ.สวัสดิ์ ก็เหมือนได้ "ทักษิณ" เพราะ สายสัมพันธ์ที่โยงใยมาถึง พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัตร อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่มีหน้าห้องอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย และพ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ

ปัจจุบัน  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย และพ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ เติบโตในหน้าที่ราชการในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

นอกจากนั้น ก็ยังได้ส.ส.ร.สายนักวิชาการที่ซ่อนอยู่ในคราบของคิดความ "ฝักใฝ่" การเมือง

ดังนั้น ไม่แปลกที่ส.ส.ร.2540 จะกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ร่วมกับ "ทักษิณ" ทั้ง ชานนท์ สุวสิน ส.ส.ร.ลำปาง พงศ์เทพ เทพกาญจนา ส.ส.ร.สมุทรสาคร คณิต ณ นคร ส.ส.ร.สาขากฎหมายมหาชน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น โฉมหน้าส.ส.ร.2554 ย่อมจะไม่แตกต่างจากส.ส.ร.ปี 2540

ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540-2554

รัฐธรรมนูญ 2540 ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง เข้ามาดำเนินการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการเลือกตั้งส.ส.ร.99 คน

รัฐธรรมนูญ 2540 ประสบอุปสรรคมีการเคลื่อนไหว เพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญทั้งภายในและภายนอกสภา โดยการเคลื่อนไหวภายนอกสภานั้น กลุ่มที่ออกมาคัดค้าน เช่น กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน และได้มีองค์กรการเมืองภาคประชาชนออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตย (ครป.) เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ฯลฯ พรรคการเมืองซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ แสดงท่าทีไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งได้นำมวลชนจัดตั้งเข้ามาคัดค้าน ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสนับสนุน ที่ใช้ "สีเขียว" เป็นสัญลักษณ์ กับฝ่ายต่อต้าน ที่ใช้ "สีเหลือง" เป็นสัญลักษณ์

สำหรับแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น มีนาคม 2551 หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ "ใบแดง" แก่ ยงยุทธ ติยะไพรัช และเป็นช่วงที่คดียุบพรรคการเมืองกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน (อดีตไทยรักไทย เพื่อไทยในปัจจุบัน) ได้เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้น บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างก็ออกมาสนับสนุนโดยมุ่งประเด็นหลักไปยังกรณีที่ทั้งสองพรรคอาจถูกยุบ

"แค้นที่ฝังลึก" เรื่อง "ยุบพรรค" นำมาสู่ข้ออ้างที่มาอันไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มาจากคณะรัฐประหาร 19 ก.ย.2549

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นการเสนอ "ญัตติ" ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีส.ส.พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง เป็นผู้สนับสนุน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อตนเอง และเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบในปัจจุบัน

22 มี.ค.2551 พรรคพลังประชาชน เริ่มหารือเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสามัญประจำปี โดยเฉพาะมาตรา 237 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณียุบพรรค นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่าถึงเวลาต้องแก้ และควรแก้ในประเด็นเดียวก่อน เพื่อ "ปลดล็อก" ทางการเมือง

24 มี.ค.2551 ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ที่ประชุมได้หยิบยกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน และเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ กกต.มีทางออก จักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่ สมัคร สุนทรเวช ให้แนวทางไว้ คือ เว้นเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ ที่เหลือคงแก้ไขทั้งหมดโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก

1 เม.ย. ที่ประชุมพรรคพลังประชาชน มีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยปรับแก้ 13 มาตรา ใน 7 ประเด็น ยกเลิกมาตรา 309 เปิดทางให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน ที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ.2549 สู้คดีขอสิทธิเลือกตั้งคืน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550

แต่ ที่ประชุมพรรคพลังประชาชน มีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายของ ชูศักดิ์ ศิรินิล ให้แก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน ส่วนอีกฝ่ายคือ ส.ส.และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บางส่วนที่ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ทั้งหมด แต่ที่ประชุมไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก ส.ส.ทยอยเดินออกจากห้องประชุม จึงมีผู้เสนอให้ยุติการประชุม

ต่อมามีกลุ่มคัดค้านแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าทำประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 309

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีต ส.ส.ร.และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หารือกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะออกแถลงการณ์โดยไม่พูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แต่จะให้หลักนิติศาสตร์ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ แต่ไม่ควรทำเมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น เพราะจะเป็นการทำลายระบบกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ด้วยการอาศัยเสียงข้างมากของสภา

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุผลที่แท้จริงคือรัฐบาลต้องการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อหวังให้คนที่ถูกดำเนินคดีในการพิจารณาของ คตส. มีช่องทางในการต่อสู้ และเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่า "ระบอบทักษิณ" พยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ขึ้นศาลหรือไม่เข้าพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม เป็นการหาวิธีแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคเป็นระบบล้าหลัง ไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการซื้อเสียง มีไว้เพื่อทำลายพรรคการเมือง

2 เม.ย.2551 คณาจารย์นิติศาสตร์ 41 คน จาก 9 สถาบัน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพราะถือเป็นความประสงค์ของนักการเมืองที่จะแก้การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้อง ซึ่งรับไม่ได้ในทางกฎหมาย หากยอมให้คนทำผิดแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด ระบบกฎหมายของประเทศจะถูกท้าทายและพังทลาย และถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 122 คือเป็นการดำเนินการในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสีย ขัดหลักนิติธรรม ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างธรรมเนียมไม่ถูกต้องขึ้นมา สามารถโดนถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ส่วนมาตรา 309 คณาจารย์เห็นว่าไม่กระทบ ถ้าประกาศ คปค. ยังคงอยู่ และมีรัฐธรรมนูญ 2549 รองรับ อย่างไรก็ตาม หากมีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คปค.ในภายหลัง แสดงว่าเป้าหมายยังคงอยู่ที่เรื่องการยกเลิก คตส. และกรณีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน

ประเวศ วะสี กล่าวว่า ถ้าถกเถียงกันโดยใช้เหตุใช้ผล ใช้ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้งก็เป็นเรื่องดี มีความเป็นอารยะดีกว่าการใช้อำนาจ เอาสีข้างเข้าถู หรือการข่มขู่แบบอันธพาลซึ่งเป็นอนารยะ คนไทยจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเทศด้วยวิถีอารยะ การใช้เงินซื้อเสียงคือต้นเหตุของวิกฤติทางการเมือง จึงมีความพยายามในการสกัดกั้นโดยวางยาแรง คือ มาตรา 237 เจตนารมย์คือให้พรรคการเมืองรับผิดชอบร่วมกัน ดูแลกันอย่าให้ใครทำผิด หวังว่าจะเกิดความกลัวเกรงไม่กล้าทำผิด แต่ก็เกิดการทำความผิดขึ้น การมีบทลงโทษหนัก หากเราไม่ทำผิดก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำผิดกฎหมายแล้ว จะกลับไปแก้กฎหมาย ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวที่พิลึกพิลั่นต่อไปได้มาก

สรุปสุดท้าย หมอประเวศ บอกว่า "หวังว่าโจรคงจะไม่ขอแก้กฎหมายให้การเป็นโจรไม่มีความผิด"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เปรียบเทียบที่มา รธน.2540 รธน.2555

view