สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุโรปถึงคราวจนตรอกซบไอเอ็มเอฟ หวังของเงินแก้หนี้

จาก โพสต์ทูเดย์

แม้จะเร่งเดินหน้าหารือพูดคุย รวมถึงผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมายับยั้งวิกฤตหนี้ไม่ให้บานปลาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

แม้จะเร่งเดินหน้าหารือพูดคุย รวมถึงผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมายับยั้งวิกฤตหนี้ไม่ให้บานปลาย

แต่ดูเหมือนว่า การประชุมสุดยอดผู้นำในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงรัฐมนตรีการคลังกลุ่มอียูตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นสักเท่าไรนัก

นอกเสียจากบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก จนยากที่จะฟื้นคืนกลับมาได้เร็ววัน

กระทั่งวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซนได้เขยิบฐานะเข้าขั้นเลวร้ายขีดสุดที่อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจระลอกใหม่

คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงต้องออกมาส่งแรงกระตุ้นเตือนครั้งใหญ่แบบเสียงดังฟังชัดว่า วิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นในยุโรปในขณะนี้ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนเฉพาะประเทศในแถบยุโรปเท่านั้น

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นความเสี่ยงและภัยคุกคามร้ายแรงที่ทุกประเทศทั่วโลกจำต้องประสบร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะระบบเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เรียกได้ว่า เป็นคำเตือนที่ขลังที่สุดที่ทำให้ยุโรปเริ่มตระหนักได้ว่า หมดเวลาหาประเด็นเจรจาซื้อเวลากันอีกต่อไป

กระนั้น มาตรการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งการช่วยซื้อพันธบัตร การให้เงินช่วยเหลือ การใช้มาตรการรัดเข็มขัดสุดโต่ง การเดินหน้าปฏิรูปการคลัง หรือแม้แต่การเพิ่มบทลงโทษสำหรับประเทศที่ขาดวินัยทางการคลัง ดูจะใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว

ยืนยันได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลหลายประเทศในยูโรโซนที่พุ่ง สูงลิ่ว แถมขายไม่ออก พร้อมๆ กับตัวเลขดัชนีตลาดหุ้นในยุโรปที่พุ่งดิ่งเหวอย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ที่ปรากฏให้เห็น ส่งผลให้บรรดาชาติในภูมิภาคยุโรปตกอยู่ในสภาพอับจนหนทาง และจำต้องขอยืมแรงจากภายนอกเข้ามาแก้ไข ผ่านกลไกไอเอ็มเอฟ แม้จะเป็นหนทางที่พยายามปฏิเสธมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดที่เกิดขึ้น และน่าจะถือเป็นข่าวดีในขั้นตอนการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของภูมิภาคก็ คือ การที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้มีมติให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศและสมาชิกที่ ไม่ได้ใช้สกุลเงินยูโร รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปร่วมด้วยช่วยกันอัดฉีดเงินทุนให้กับกองทุนไอเอ็มเอ ฟซึ่งในขณะนี้มีเงินในกองทุนน้อยกว่า 3 แสนล้านยูโร โดยยกเว้นประเทศที่รับเงินช่วยเหลือก่อนหน้านี้อย่าง กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์

ทั้งหมดก็เพื่อให้ไอเอ็มเอฟมีศักยภาพในการช่วยเหลือประเทศที่กำลังเผชิญ วิกฤตหนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยุโรปขนาดใหญ่อย่างสเปนและอิตาลี ในกรณีที่ตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถระดมทุนจากตลาดได้

อาจเพราะแรงกระตุ้นจากผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญและจากสำนึกของบรรดาชาติสมาชิกยูโรโซน ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มยูโรโซนสามารถระดุมทุนได้ถึง 1.5 แสนล้านยูโร โดยมีสาธารณรัฐเช็ก สวีเดน และคนนอกอย่างรัสเซียเข้าร่วมการระดมทุนในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินดังกล่าวน้อยกว่าที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนตั้งกันไว้ในคราวแรกที่ 2 แสนล้านยูโร เพราะหลายประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจทางการเงินของโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษ ล้วนโบกมือร้อง “ไม่” อย่างชัดเจน

ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือ ไม่ต้องการแบกรับภาระหนี้ที่ตนเองไม่ได้ก่ออีกต่อไป

หรือหากจำเป็นต้องแบกรับ ก็ต้องให้ทุกประเทศทั่วโลก หรืออย่างน้อยกลุ่ม 20 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี20) เข้ามาร่วมแบกรับปัญหาหนี้ยุโรปอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

เข้าทำนอง เมื่อมีสุขร่วม (แย่งกัน) เสพได้ มีทุกข์มาก็ต้องร่วมกันต้านเช่นเดียวกัน

ทว่า บรรดานักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักต่างเห็นตรงกันว่า แนวคิดดังกล่าวคงไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง เพราะเพียงมหาอำนาจอย่างสหรัฐเอ่ยปากไม่เอา ประเทศอื่นๆ ก็พร้อมพยักหน้าไม่เอาด้วยทันที

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า การระดุมทุนอัดฉีดเข้าไอเอ็มเอฟในครั้งนี้ แม้จะเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ดี แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อเวลาเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่ว โลกที่กำลังเฝ้ารอดูท่าทีการแก้ปัญหาจากยุโรป เหมือนที่แล้วมาเท่าไรนัก

เพราะเอาเข้าจริง แม้หลายประเทศจะรับปากให้เงินกับทางกองทุนไอเอ็มเอฟ แต่การที่แต่ละประเทศจะอนุมัติเงินก้อนโตเข้ากองทุนได้ ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการพิจารณาอันยืดยาวจากสภาของตนเอง

แน่นอนว่า ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ กว่าที่ไอเอ็มเอฟจะได้เงินพร้อม ก็อาจสายเกินไป

สิ่งเดียวที่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ก็คือ แม้จะจนหนทางจนต้องหวังพึ่งความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ความแตกแยกทั้งภายในยุโรปและชาติพันธมิตรก็ไม่วายทิ้งทวนให้วิกฤตหนี้ สาธารณะของภูมิภาคกลายเป็นของขวัญสุดสยองสำหรับนักลงทุนทั่วโลกข้ามปี


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ยุโรป ถึงคราวจนตรอก ซบไอเอ็มเอฟ หวังของเงิน แก้หนี้

view