สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การจัดการภาษีอากรกรณีประสบภัยพิบัติ (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ประเด็นการจัดการภาษีอากรกรณีประสบภัยพิบัติ
ขอนำประเด็นการจัดการภาษีอากรกรณีประสบภัยพิบัติ ซึ่งในทุกๆ ปีและในหลายภูมิภาคของประเทศไทย เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม อันเป็นผลให้บัญชี เอกสาร และหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการคำนวณและเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเสียหายหรือสูญหาย มาปุจฉา - วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้

 

ปุจฉา มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่บัญชี เอกสาร หลักฐานที่สูญหายหรือเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่นอย่างไร

วิสัชนา การปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล นั้น เมื่อได้แจ้งความไว้กับสถานีตำรวจที่อยู่ในท้องที่เกี่ยวกับรายละเอียดของบัญชี เอกสาร หลักฐานที่สูญหายหรือเสียหายและสาเหตุที่เกิดความเสียหายดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานแล้ว ให้ผู้ประกอบการดำเนินการดังนี้
 


1. สำหรับการคำนวณหากำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ดำเนินการ ดังนี้
 
(1) กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถหาหลักฐานรายได้และรายจ่ายจากภายนอกได้ เช่น หลักฐานการรับเงิน การจ่ายเงิน หลักฐานจากตัวแทนขายสินค้า หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย หลักฐานยอดขายและยอดซื้อจาก แบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลของผู้ประกอบการจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลแบบแสดงรายการต่าง ๆ ข้อมูลนำเข้า - ส่งออก สัญญาซื้อขายที่ดิน สัญญาซื้อขายสินค้า สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับส่วนราชการและเอกชน หรือข้อมูลการประกอบกิจการขายสินค้าบางอย่างและสามารถหาหลักฐานได้โดยง่าย เช่น กิจการขายส่งสุรา เบียร์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เป็นต้น ให้คำนวณหากำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจากหลักฐานดังกล่าวโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
 
(2) ใช้รายได้และรายจ่ายทั้งปีตามที่ประมาณการไว้ หรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจริงของรอบระยะเวลาหกเดือน ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด. 51 คำนวณหากำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี หรือ
 
(3) กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะให้ คำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ โดยวิธีคำนวณหาอัตราร้อยละถัวเฉลี่ยของกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิต่อยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลัง 3 ปี แล้วนำอัตราถัวเฉลี่ยคูณยอดขาย หรือรายรับจากฐานภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยื่นแบบไว้ หรือ
 
(4) กรณีกิจการที่ต้องเสียและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีธุรกิจเฉพาะรวมอยู่ด้วยกันให้คำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ โดยวิธีคำนวณหาอัตราร้อยละถัวเฉลี่ยของกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิต่อยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลัง 3 ปี แล้วนำอัตราดังกล่าว คูณยอดรายได้ตามที่ปรากฏในแบบ ภ.ง.ด. 50 หรือจากการตรวจสอบ หรือจากการวิเคราะห์และตรวจนิติบุคคลที่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลชำระไว้เกิน แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่าของรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลัง 3 ปีถัวเฉลี่ย
 


ผลเสียหายจากภัยพิบัติฯ ที่จะนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 513) พ.ศ. 2554 และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554
 


2. กรณีที่เข้าเงื่อนไขการคำนวณภาษีเงินได้จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณหายอดขายหรือรายรับจากแบบแสดงรายการหรือข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการบนเครือข่ายรัษฎากร โดยใช้วิธีเทียบเคียงยอดขายหรือรายรับที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการย้อนหลัง 6 เดือนภาษี เพื่อคำนวณหารายรับถัวเฉลี่ยต่อเดือน มาคำนวณหายอดขายหรือรายรับถัวเฉลี่ยรายวัน จากนั้นนำยอดรายรับถัวเฉลี่ยรายวันคูณด้วยจำนวนวันที่มีการประกอบการจริงในเดือนภาษีนั้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้คำนวณจากข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีถูกผู้อื่นหักไว้ ตามหลักฐานที่บันทึกไว้บนเครือข่ายรัษฎากรของกรมสรรพากร

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : การจัดการภาษีอากรกรณีประสบภัยพิบัติ (2)

view