สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประมวลเหตุการณ์ยุโรป 2554 จากปัญหาหนี้สู่วิกฤตการเงิน

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ปะทุจากกรีซแล้วลุกลามไปยังไอร์แลนด์และโปรตุเกสเป็นสถานการณ์หนักหน่วงที่ทำให้ทั่วโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ มาตลอดปีที่ผ่านมาและยังไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้นลงไปในเวลาอันใกล้เราย้อนกลับไปดูกันว่าในรอบปี 2554ตัวละครในมหากาพย์วิกฤตยุโรปมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง จากการรวบรวมของบลูมเบิร์กและบีบีซี

14 มกราคม : ฟิทช์เรตติ้งเดินตามรอยเอสแอนพีและมูดีส์ หั่นอันดับเครดิตกรีซไปอยู่ในระดับ "ขยะ"

11มีนาคม : ที่ประชุมสุดยอดอียูเห็นชอบให้ขยายอำนาจของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF)ให้เข้าไปซื้อพันธบัตรในตลาดแรกได้ และเพิ่มเงินกองทุนเป็น 4.4 แสนล้านยูโร พร้อมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกรีซลง 1% ในช่วง 3ปีแรกและขยายระยะเวลาครบกำหนดเป็น 7.5 ปี

21 มีนาคม :ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง อียูตกลงตั้งกองทุนช่วยเหลือถาวรหรือ EMSซึ่งจะมีเงินทุน 5 แสนล้านยูโร โดยเริ่มทำงานในปี 2556 แทนที่ EFSF

23 มีนาคม : โฮเซ่ โสเครติส นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสประกาศลาออกหลังสภาคว่ำแพ็กเกจรัดเข็มขัด

6 เมษายน : โสเครติสยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียู

15เมษายน : จอร์จ ปาปันเดรอู ผู้นำของกรีซเผยแผนรัดเข็มขัดมูลค่า 7.6หมื่นล้านยูโร ซึ่งต่อมาปรับเป็น 7.8 หมื่นล้านยูโรซึ่งครอบคลุมการขายสินทรัพย์ของประเทศ 5 หมื่นล้านยูโรเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ 1% ของจีดีพีภายในปี 2558

16 พฤษภาคม : แพ็กเกจช่วยเหลือโปรตุเกสมูลค่า 7.8 หมื่นล้านยูโร ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอียู

18พฤษภาคม : โดมินิก สเตราส์-คาห์นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไอเอ็มเอฟลาออกจากตำแหน่งหลังต้องคดีละเมิดทางเพศแม่บ้านของโรงแรมในนิวยอร์ก

24 พฤษภาคม : กรีซเปิดรายละเอียดของแผนตัดลดงบฯเพิ่มเติม 6 พันล้านยูโรและเร่งการขายสินทรัพย์

13 มิถุนายน : เอสแอนด์พีลดเครดิตกรีซเหลือ CCC ซึ่งต่ำสุดในบรรดาทุกประเทศทั่วโลกที่สถาบันนี้ให้การประเมิน

24มิถุนายน : มาริโอ ดรากิประธานธนาคารกลางอิตาลีได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ต่อจากฌอง-คล้อด ทริเชต์ ที่จะหมดวาระในสิ้นเดือนตุลาคม

28มิถุนายน : คริสติน ลาการ์ดรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบให้ขึ้นเป็น ผอ.ไอเอ็มเอฟหญิงคนแรกโดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ 5 กรกฎาคม

30 มิถุนายน :รัฐสภากรีกผ่านแผนรัดเข็มขัดมูลค่า 7.8 หมื่นล้านยูโรส่วนคณะรัฐมนตรีอิตาลีก็อนุมัติแผนตัดลดรายจ่าย 4.7หมื่นล้านยูโรเพื่อทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี 2557และป้องกันไม่ให้ประเทศเข้าสู่วังวนวิกฤตหนี้สาธารณะ

5 กรกฎาคม : มูดีส์หั่นเครดิตโปรตุเกสสู่ระดับ "ขยะ"

12 กรกฎาคม : มูดีส์หั่นเครดิตไอร์แลนด์สู่ระดับ "ขยะ"

21กรกฎาคม : ที่ประชุมผู้นำอียูอนุมัติแพ็กเกจเงินช่วยเหลือก้อนที่สองมูลค่า1.09 แสนล้านยูโรให้กับกรีซ ซึ่งรวมถึงการลดมูลหนี้ที่อยู่ในมือภาคเอกชนลง21%

4 สิงหาคม : อีซีบีกลับมาใช้ โปรแกรมแทรกแซงตลาดพันธบัตรโดยเข้าไปซื้อบอนด์ชาติสมาชิกที่มีปัญหาต้นทุนการกู้ยืมสูงอย่างโปรตุเกสและไอร์แลนด์

7 สิงหาคม : อีซีบีส่งสัญญาณว่าจะเข้าไปซื้อพันธบัตรของอิตาลีและสเปนในตลาดรอง

12สิงหาคม : ฝรั่งเศส สเปน อิตาลีและเบลเยียมสั่งห้ามทำชอร์ตเซลลิ่งหลังราคาหุ้นของภาคการธนาคารร่วงแตะระดับต่ำสุดนับจากการล่มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ส

31 สิงหาคม : โปรตุเกสประกาศขึ้นภาษีกำไรจากการขายหุ้น ภาษีนิติบุคคล ตลอดจนภาษีเงินได้ของผู้มีรายได้สูง

2กันยายน : ผู้ตรวจสอบ 3 ฝ่าย (ทรอยก้า) ของอียู อีซีบีและไอเอ็มเอฟระงับการเข้าประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซเมื่อพบความล่าช้าในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศ

14 กันยายน : รัฐสภาแดนมะกะโรนีมีมติเห็นชอบแผนรัดเข็มขัดมูลค่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อใช้งบประมาณสมดุลให้ทันปี 2556

15กันยายน :อีซีบีเสนอให้เงินกู้สกุลดอลลาร์แก่ธนาคารพาณิชย์ยุโรปแบบไม่จำกัดวงเงินเป็นระยะเวลา 3 เดือนหลังวิกฤตหนี้ทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในรูปดอลลาร์ยากขึ้น

19 กันยายน : เอสแอนด์พีหั่นเครดิตอิตาลีครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี จาก A+ เป็น A

2ตุลาคม : รัฐบาลกรีซเห็นชอบ ร่างงบประมาณ 2555 โดยตั้งเป้า ขาดดุลไม่เกิน8.5% ของจีดีพีและยอมรับว่าไม่อาจลดการขาดดุลในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

4 ตุลาคม : มูดีส์ลงดาบเรตติ้งของอิตาลีครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ จาก Aa2 เป็น A2

7 ตุลาคม : ฟิทช์หั่นเครดิตสเปนเหลือ AA- และอิตาลีเหลือ A+

11ตุลาคม : ทรอยก้าเปิดผลการประเมินเศรษฐกิจกรีซครั้งที่ 5พร้อมลงความเห็นว่าสมควรอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดที่ 6 มูลค่า 8พันล้านยูโรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจความช่วยเหลือก้อนแรกให้กับทางการเอเธนส์

21 ตุลาคม : รัฐสภากรีซผ่านกฎหมายตัดลดรายจ่ายฉบับล่าสุด ซึ่งครอบคลุมการหั่นค่าจ้างและบำนาญ ตลอดจนปลดเจ้าหน้าที่รัฐ 3 หมื่นคน

26-27ตุลาคม : ผู้นำประเทศสมาชิกอียูตัดสินใจเพิ่มเงินทุนของ EFSF เป็น 1ล้านล้านยูโรและบีบให้ภาคเอกชนยอมลดมูลหนี้ให้กรีซเพิ่มเป็น 50%ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินในยุโรปต้องเพิ่มทุนราว 1.06 แสนล้านยูโรและมูลค่าแพ็กเกจช่วยเหลือกรีซก้อนที่สองพุ่งเป็น 1.3 แสนล้านยูโร

3 พฤศจิกายน : อีซีบีที่เพิ่งได้ประธานคนใหม่ก็หั่นดอกเบี้ยลง 0.25%

6 พฤศจิกายน : ปาปันเดรอูยอมก้าวลงจากอำนาจเพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

11 พฤศจิกายน : ลูคัส พาปา เดรมอส อดีตรองประธานอีซีบีก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของกรีซ

12 พฤศจิกายน : ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ผู้นำอิตาลีประกาศลาออก

16 พฤศจิกายน : มาริโอ มอนติ อดีตคณะกรรมาธิการยุโรปเข้ากุมบังเหียนรัฐบาลอิตาลี

30พฤศจิกายน : เฟด อีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษ ญี่ปุ่นสวิตเซอร์แลนด์และแคนาดาผนึกกำลังให้เงินกู้สกุลดอลลาร์ดอกเบี้ยต่ำ แก่สถาบันการเงินทั่วโลกโดยเน้นที่ยุโรปเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหา หนี้สาธารณะลุกลามเป็นวิกฤตภาคธนาคาร

5 ธันวาคม : เอสแอนด์พีให้แนวโน้ม "เป็นลบ"กับสมาชิกยูโรโซน 15 ชาติ จากทั้งหมด 17 ชาติ ซึ่งหมายความว่ามีโอกาส50:50 ที่ถูกหั่นเรตติ้งในอนาคตอันใกล้

9 ธันวาคม :ที่ประชุมผู้นำอียูเห็นชอบให้ยูโรโซนรวมถึงสมาชิกอียูอื่น ๆรวมกันเป็นสหภาพการคลังด้วยนอกเหนือจากสหภาพการเงินอย่างในปัจจุบันเพื่อป้องกันปัญหาขาดดุลงบประมาณขนานใหญ่ในอนาคต โดยจะมีผลมีนาคมปีหน้าแต่อังกฤษคัดค้านแผนการดังกล่าว

คงต้องลุ้นกันต่อไปปีหน้าวิกฤตนี้จะผ่อนหนักเป็นเบาหรือทวีความรุนแรง ยิ่งขึ้น


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ประมวลเหตุการณ์ยุโรป 2554 ปัญหาหนี้สู่วิกฤตการเงิน

view