สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้วงตับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โยนภาระใส่บ่าประชาชน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

แนวทางการแก้ปัญหาของกระทรวงการคลังที่ต้องการสะสางหนี้กองทุนเพื่อการ ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ที่มีอยู่ 1.4 แสนล้านบาท และภาระดอกเบี้ยปีละ 45 หมื่นล้านบาท ด้วยการโยกหนี้ที่เกิดจากพิษเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเกิดจากความหละหลวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผู้คุมกฎธนาคารพาณิชย์ ที่กระทรวงการคลังแบกรับอยู่ไปให้ ธปท. กำลังกลายเป็นการโยนกลองกัน

สภาพที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจนถึงวันนี้ หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศกลับโยนปัญหากันไปมาให้รับผิดชอบกับภาระ ที่เกิดขึ้นในอดีต

กระทรวงการคลังมีเป้าหมายหลักในการโยนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมดไปให้ ธปท.รับผิดชอบ เพราะต้องการลดสัดส่วนหนี้สาธารณะจาก 40% ให้เหลือแค่ 30% เพื่อจะได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น

รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน ต้องกู้เงินจำนวนมากมาแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่จนพาประเทศจมปลัก

ความพยายามของกระทรวงการคลัง ทำให้เรื่องนี้กำลังบานปลายคล้ายคนกำลังหน้ามืด จึงเหวี่ยงมือหมัดออกไปสารพัดที่จะทำได้ โดยไม่สนใจว่าจะโดนอะไรทั้งสิ้น

เมื่อ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง จ้องจะแก้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพื่อล้วงเงินที่มีอยู่ทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท ออกมาใช้หนี้ดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ทว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังขาดอยู่อีก 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ครบภาระหนี้ดอกเบี้ยทั้งก้อน 4.5 หมื่นล้านบาท

เมื่อเป็นเช่นนี้กระทรวงการคลังจึงเสนอให้แก้กฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มการนำส่งจากที่กำหนดให้ส่งเฉพาะเงินฝากปีละ 0.4% ของเงินฝากทั้งหมด มาเป็นการเพิ่มการนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากด้วย

นั่นเท่ากับเป็นการเตะไปที่ขุมทรัพย์ของระบบการเงินอีกก้อนหนึ่งที่บรรดานายธนาคารแอบซุกซ่อนอยู่

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ถือเป็นรายได้หลัก อยู่ในหมวดรายได้ของธนาคารที่เพิ่มขึ้นแทบทุกปี

ดังนั้น การล้วงมือเข้าไปในขุมทรัพย์ก้อนนี้จึงไม่เพียงทำให้สถาบันการเงินกระเทือน ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการก็อาจสะท้านสะเทือนจากภาระที่ถูกโยนกลับมา

หากกลับไปดูวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ชื่อของสถาบันนี้ตรงตัวอยู่แล้ว หน้าที่หลักเพื่อ “คุ้มครองเงินฝาก” ของผู้ฝากเงินในอนาคต สถาบันนี้ก่อตั้งหลังเกิดวิกฤตปี 2540 ฉะนั้นหากอนาคตธนาคารพาณิชย์เกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ผู้ฝากเงินก็จะได้รับเงินคืน

ที่สำคัญเงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินของรัฐบาล แต่เป็นเงินของผู้ฝากทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์เจียดดอกเบี้ยรับที่ต้องจ่าย ให้ลูกค้ามานำส่งประกันเงินของผู้ฝากเอง

กล่าวคือ หากธนาคารไม่ต้องนำส่งเงินฝากปีละ 0.4% ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็อาจถึง 1% ไม่เป็น 0.875% เหมือนในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็รู้ว่า การนำส่งเงินให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น ธนาคารที่นำส่งคือธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ต้องนำส่งเงิน เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินของคนอื่น ซึ่งก็คือเงินสะสมของผู้ฝากเงินออกมาใช้ เรื่องนี้หากรัฐบาลยังทู่ซี้แก้กฎหมายล้วงเงินสถาบันคุ้มครองเงินฝากออกมา ใช้ก็มีทางเดียวคือ ผู้ฝากเงินสามารถรวมตัวฟ้องร้องรัฐบาลได้

ยิ่งหากย้อนกลับไปดูจุดประสงค์การก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังไงรัฐบาลก็ดิ้นไม่หลุด เพราะองค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงิน ไม่ใช่ไปรับภาระที่เกิดขึ้นในอดีต

อีกสาระสำคัญหนึ่งที่นอกเหนือจากการนำเงินในสถาบันคุ้มครองเงินฝากออกมา ใช้ คือ การแก้กฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าสถาบันคุ้มครอง เงินฝาก เพราะรัฐบาลต้องการเงินอีก 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ให้นำส่งในอัตราเท่าใดนั้นเป็นเรื่องต้องติดตาม

ในประเด็นนี้หากแก้กฎหมายได้จริง ธนาคารพาณิชย์ก็ออกมาบอกแล้วว่า ภาระทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ลูกค้าของธนาคาร

เพราะแน่นอนว่า ธนาคารต้องคิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้าเพิ่ม เพราะธนาคารมีต้นทุนรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ทางเดียวที่ลูกค้าอาจทำได้คือ เลี่ยงใช้บริการธนาคารที่คิดค่าธรรมเนียมสูงแล้วหันไปใช้บริการธนาคารที่ฟรีค่าธรรมเนียม

แต่ลูกค้าก็จะไม่ได้รับความสะดวกสบายเหมือนเดิมจากที่คิดจะใช้บริการธนาคารใดก็ได้

หากร้ายยิ่งกว่า ต่อไป ธปท.ก็จะเจอปัญหาประชาชนร้องเรียนธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมมหาโหด ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ปัญหาเหล่านี้ก็จะวนกลับมาไม่จบสิ้น

คำถามที่รัฐบาลควรชี้แจงคือ การเข้าไปยุ่งกับเงินในสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และบังคับให้ธนาคารนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมนั้น เมื่อสุดท้ายธนาคารต้องมาขูดรีดกับลูกค้าเพิ่ม ภาระทั้งหมดจะตกอยู่ที่ประชาชนใช่หรือไม่

นี่คือสิ่งที่ รมว.คลัง หน่วยงานกำกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังไม่ตอบ เพราะ รมว.คลัง รู้อยู่แก่ใจ แต่พูดไม่ได้ว่ากำลังผลักภาระนี้ไปให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับ

ถ้านโยบายการแก้ปัญหาหนี้เจ้าคุณปู่เป็นแบบนี้ ประชาชนคือผู้รับกรรมชัดๆ

เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่มาแบกรับภาระที่เกิดขึ้นแทน

คิดให้ดี คิดให้รอบก่อนเดินหน้า ไม่เช่นนั้นรับประกันรัฐบาลเสียงข้างมากยุ่งแน่...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ล้วงตับ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก โยนภาระ ใส่บ่าประชาชน

view