สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปธ.ศาลปกครองสูงสุด:เมืองไทยออกกฎหมายเละเทะที่สุดในโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ไพศาล เสาเกลียว



เมื่อ "ความเป็นธรรม" คือ รากเหง้าของทุกปัญหา กระบวนการยุติธรรมจึงถูกคาดหวังอย่างสูงจากประชาชนทุกผู้ทุกนาม
 "ศาลปกครอง" คือ หนึ่งในองค์กรตามกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายฝากความหวัง ทว่าเรื่องความเป็นธรรม หรือปัญหาความไม่เป็นธรรม หลายๆ ครั้งไม่ได้เกิดจากศาล แต่ต้องย้อนไปยัง "นิตินโยบาย" รวมไปถึงการยกร่างกฎหมายกันเลยทีเดียว

 นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงสารพัดปัญหาในกระบวนการยุติธรรม เพื่อยืนยันว่าได้เวลาต้องปฏิรูปกันอย่างจริงจังเสียที

 O บทบาทหน้าที่ของศาลปกครอง

 หน้าที่ของศาลปกครองคือการพิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนอันสืบเนื่องจากฝ่ายปกครองใช่อำนาจทางกฎหมายโดยมิชอบ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน หรือหน่วยงานรัฐไม่ใช้อำนาจจนเกิดความเสียหายต่อประชาชน คดีของศาลปกครองนั้นแตกต่างจากคดีของศาลยุติธรรม เนื่องจากคดีของศาลยุติธรรมเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรืออาจเป็นเรื่องระหว่างชาวบ้านกับรัฐ แต่ไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจทางปกครอง

 ปัจจุบันคดีมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะหลายด้าน ผมจึงตั้ง "คณะกรรมการวิชาการ" ขึ้นมา 5 คณะเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลต่างๆ สำหรับการพิจารณาคดีของตุลาการ กล่าวคือหากตุลาการท่านใดมีปัญหาหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดก็ตาม สามารถขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวิชาการได้ โดยที่ตุลาการยังคงความอิสระ ไม่จำเป็นต้องเอาตามอย่างที่คณะกรรมการวิชาการเสนอ

 O คณะกรรมการวิชาการทั้ง 5 คณะ มีที่มาที่ไปอย่างไร

 จริงๆ แล้วก็มาจากตุลาการ แต่ผมตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงานวิชาการจริงๆ ลักษณะการทำงานของคณะกรรมการนั้นจะเป็นการประชุม ปรึกษา และโต้เถียงกัน นอกจากนั้นเรายังคิดอีกชั้นหนึ่ง โดยตั้ง "คณะอนุกรรมการวิชาการ" ขึ้นมา โดยเป็นนักวิชาการตัวจริงจากภายนอกเพื่อคอยสนับสนุนข้อมูลให้คณะกรรมการชุดใหญ่ เช่น คณะอนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม จะคัดคนที่จบปริญญาโทหรือปริญญาเอกด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้ามา

 คณะอนุกรรมการฯ จะต้องเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการวิชาการชุดใหญ่ เมื่อเข้าประชุมแล้วพบปัญหา ก็อาจได้รับมอบหมายให้ไปค้นข้อมูลหรือหาตัวอย่างในต่างประเทศ จากนั้นก็นำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ นอกจากสนับสนุนการทำงานของฝ่ายตุลาการแล้ว คณะกรรมการวิชาการยังเป็นเสมือนองค์กรตรวจสอบตนเองของศาลว่าคำพิพากษาที่ออกไปนั้นเป็นอย่างไร ก็นำมาสะท้อนกันในที่ประชุม ไม่จำเป็นต้องรอให้สังคมภายนอกวิพากษ์วิจารณ์

 O ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล โดยเฉพาะคดีที่คาบเกี่ยวระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง โดยมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลคอยพิจารณา มองบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้อย่างไร

 องค์ประกอบของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล มีผู้แทนจากศาลยุติธรรม 2 คน ศาลปกครอง 2 คน ศาลทหาร 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 1 คน รวมทั้งหมด 7 คน ความจริงแล้วทั้ง 7 คนก็คือองค์กรตุลาการเช่นกัน หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือวินิจฉัยว่า คดีที่มีผู้มาฟ้องต่อศาลนั้น จะส่งคดีไปที่ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม หรือศาลทหาร ซึ่งการวินิจฉัยชี้ขาดจะต้องมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย

  แต่ปัจจุบันไม่เป็นในลักษณะนั้น เพราะเวลาจะชี้ขาดกลับใช้ผลโหวต แน่นอนว่าสามารถพูดได้ว่าศาลที่ไหนเขาก็โหวตกันเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่โดยหลักแล้วต้องเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันด้วยเหตุผลอย่างสูสี ถ้าเหตุผลสู้กันไม่ได้เลยแต่ชนะด้วยการโหวต แบบนี้จะเป็นธรรมได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ผมยังข้องใจอยู่

 ยกตัวอย่างคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน มีการฟ้องร้องกรมที่ดินหรือเจ้าหน้าที่กรมที่ดินกระทำการโดยมิชอบ เช่น เพิกถอนโฉนดของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านยื่นฟ้องก็มีประเด็นขึ้นไปสู่คณะกรรมการชุดนี้ว่าเป็นคดีปกครองหรือเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งๆ ที่การเพิกถอนโฉนดเป็นการใช้อำนาจทางปกครองอย่างชัดแจ้ง แต่คณะกรรมการชุดนี้กลับวินิจฉัยว่าคดีต้องใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตัดสิน จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม

 จริงๆ แล้วสภาพของคดีและข้อพิพาทเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 223 (ลักษณะคดีปกครอง) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองชัดเจน คณะกรรมการจึงไม่มีอำนาจนำคดีทางปกครองไปให้ศาลอื่นพิจารณา เมื่อประเทศนี้ตัดสินใจให้มีศาลปกครองขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยืนยันว่าให้มีศาลปกครอง ฉะนั้นจะต้องไม่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้น และต้องไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชนโดยเอาคดีปกครองไปให้ศาลอื่นตัดสินเพราะขัดต่อหลักในรัฐธรรมนูญ

 จะว่าไปเรื่องเขตอำนาจศาลในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นกัน แต่เขาแก้ปัญหาโดยตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่เป็นนักวิชาการจริงๆ มาเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด แต่ของเราตั้งอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกามาเป็นมาผู้ทรงคุณวุฒิ  และทีมเลขานุการของคณะกรรมการฯ ก็ยังเป็นทีมงานของประธานศาลฎีกาทั้งหมดด้วย

 ทีมเลขานุการชุดนี้เป็นทีมที่คอยป้อนข้อมูล เป็นคนสรุปข้อเท็จจริง แม้กระทั่งความเห็นในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นอย่างไร จนคณะกรรมการแทบไม่ต้องอ่านอะไรเลย เมื่อเอกสารมาถึง เลขานุการก็เสนอว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจศาลยุติธรรม แล้วก็โหวตตามที่ทีมเลขานุการเสนอ ตกลงใครเป็นผู้ตัดสิน ใครเป็นผู้วินิจฉัย เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ต่างประเทศเขาให้ทีมเลขานุการมาจากหลายหน่วยงานร่วมกัน เช่นมาจากศาลปกครองร่วมกับศาลยุติธรรม หรือไม่ก็เวียนกัน ไม่ใช่ผูกขาดอยู่ที่เดียว

 แม้กระทั่งทุกวันนี้ยังมีความพยายามดึงการกระทำลักษณะละเมิดในทางปกครองไปให้ศาลยุติธรรมตัดสิน ซึ่งทำกันตั้งแต่การยกร่างกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  มีบางมาตราเขียนว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของกฎหมายจัดตั้งของศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทั้งๆ ที่เป็นคดีปกครองชัดเจน

 ถ้าถามว่าทำไมเขียนกฎหมายแบบนั้น ผมคิดว่าเราต้องย้อนกลับไปศึกษากฎหมายในบ้านเรา และถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการปฏิรูปโดยเฉพาะเรื่องของการใช้กฎหมายและนิตินโยบาย ตลอดจนหลักเกณฑ์ในการบัญญัติกฎหมาย เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีการออกกฎหมายเละเทะที่สุดในโลก แต่เราจะไปว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่ได้หรอก เพราะเขาอาจจะไม่ได้จบด้านกฎหมายมา ผมพูดได้เลยว่าผู้ที่จบกฎหมายในเมืองไทยร้อยละ 99 ไม่รู้เรื่องนิตินโยบายของการออกกฎหมาย

 O แสดงว่าเขียนกฎหมายแบบนี้ไม่ได้...

 ไม่ใช่เขียนไม่ได้ เพราะเขาก็เขียนแล้ว แต่เขียนแล้วมันมีปัญหา เพราะเขียนอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการตัดอำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นการขจัดอำนาจศาลปกครองเลย ปัญหาก็คือบทบัญญัติแบบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจของศาลที่จะพิจารณาคดี รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ามี 4 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร ดูมาตรา 218 ที่เป็นบทหลัก คืออำนาจของศาลยุติธรรม บัญญัติเอาไว้ว่าศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

 จากนั้นลองไปดูมาตรา 223 เขียนว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีดังต่อไปนี้ แล้วก็อธิบายถึงลักษณะคดี คู่ความเป็นใคร ซึ่งเขียนเอาไว้อย่างละเอียด แต่พอไปดู พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีบทบัญญัติว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ลองคิดดูว่าเมื่อข้อพิพาทที่เกิดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อพิพาททางปกครอง แต่ไม่ตัดอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณา แล้วศาลยุติธรรมจะมีอำนาจได้อย่างไร การเขียนกฎหมายแบบนี้จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการฟ้องคดีของประชาชน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ปธ.ศาลปกครองสูงสุด เมืองไทย ออกกฎหมาย เละเทะที่สุดในโลก

view