สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด!เบื้องหลังสองขั้วทางความคิดปมขัดแย้ง กิตติรัตน์-ธีระชัย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดเบื้องหลังความขัดแย้งออกพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทให้แบงก์ชาติดูแล โดยมี'วีรพงษ์-นิพัทธ'ต้นตอความคิด
ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย จำนวน 4 ฉบับ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับรัฐบาล ซึ่งไม่เพียงแต่มีเสียงคัดค้านจากรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล แต่ยังมีกระแสคัดค้านจากคนในแวดวงการเงินการธนาคารและนักวิชาการจำนวนมาก

ร่างกฎหมายดังกล่าวมีวงเงินรวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ....

2.ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พ.ศ. .... จำนวน 3.5 แสนล้านบาท

3.ร่าง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย

และ 4.ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน จำนวน 3 แสนล้านบาท

หากย้อนกลับไปติดตามร่องรอยของ "แนวคิด" ดังกล่าว ได้เริ่มปรากฏชัดเมื่อรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัยครั้งใหญ่ ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

จากนั้น ในวันที่ 27 ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา กยอ.ได้มีข้อเสนอให้ครม.พิจารณา 6 ข้อ แต่ถูก นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.การคลัง แสดงความไม่เห็นด้วย กรณีที่รัฐบาลจะโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ ธปท.ดูแลจนครม.ต้องมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กลับไปหารือในรายละเอียดกับนายธีระชัยอีกครั้งหนึ่ง

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2554 นายกิตติรัตน์ ได้ประชุมร่วมกับนายธีระชัย ผู้ว่าการ ธปท. เลขาฯ สภาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ก่อนนำเรื่องเข้าพิจารณาใน ครม.อีกรอบหนึ่ง แต่ก่อนจะเสนอเรื่องให้ ครม. วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันหยุดราชการ นายกิตติรัตน์ ได้เรียกข้าราชการจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาประชุมเพื่อยกร่าง พ.ร.ก.จำนวน 4 ฉบับ เสนอให้ ครม.พิจารณา โดยไม่มีตัวแทนจากธปท.และกระทรวงการคลังเข้าร่วม

การประชุมครม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์และนายธีระชัย ยังมีความเห็นแตกต่างกันมาก เกี่ยวกับการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ ธปท. ดูแล

หากพิจารณาจากหลักการและเหตุผลในร่าง พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ....ที่นายกิตติรัตน์ เสนอให้ครม.พิจารณาพบว่า เหตุผลหลักในการโอนหนี้ไปอยู่ในความดูแลของธปท.ครั้งนี้ เพื่อไม่ให้หนี้ก้อนดังกล่าวเป็นภาระต่องบประมาณ ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศจากปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้น

"เนื่องจากในปี พ.ศ. 2554 ได้ รวมทั้งลงทุนหรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

อันที่จริงหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯจำนวน 1.14 ล้านล้านบาทนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปี 2540 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้ด้วยการออกพันธบัตร โดยกระทรวงการคลังจะตั้งงบประมาณจ่ายค่าดอกเบี้ยพันธบัตรในแต่ละปี และ ธปท.จะนำกำไรมาชำระคืนเงินต้น

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบการเงินของ ธปท. แทบไม่มีกำไร สามารถจ่ายคืนหนี้เงินได้เพียง 1 แสนล้านบาท

ขณะที่กระทรวงการคลังตั้งงบจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2541-2554 ปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลก็มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้ด้วยการรวมบัญชีของธปท. ที่มีอยู่ 3 บัญชีเข้าด้วยกัน แต่ถูกกระแสคัดค้านมาโดยตลอด
 
ต่อมาภายหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก นายวีรพงษ์จึงได้เสนอแนวคิดให้โอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธปท.เป็นผู้ดูแล เพื่อให้รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณมาจ่ายค่าดอกเบี้ยพันธบัตร ทำให้มีงบลงทุนเพิ่มขึ้นปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศลงจากปัจจุบันที่ประมาณ 40% ของจีดีพี เหลือ 30 %1 ของจีดีพี หรือลดลงประมาณ 10% ของจีดีพี

ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท.ดูแล นอกจากนายวีรพงษ์ แล้ว ยังมี นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ปัจจุบันถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นกรรมการ กยน. ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเห็นว่า หนี้จำนวนนี้เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของธปท. แต่ที่ผ่านมารัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยแทนธปท.ไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท แต่ธปท.ชำระคืนหนี้เงินต้นเพียง 1 แสนล้านบาท เมื่อประเทศจำเป็นต้องจัดหาเงินมาฟื้นฟูประเทศ ธปท.ควรรับภาระหนี้ก้อนนี้ไปดูแล

ขณะที่หนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ลดลงน้อยมาก ก็เป็นเพราะผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและภาวะการค่าเงินโลกดันให้ค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ ธปท.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการแทรกแซงค่าเงิน ในส่วนของภาระดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องไปแล้วกว่า 3 ล้านล้านบาท และเมื่อค่าเงินบาทแข็งธปท.ก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อีกทอด  ทำให้ธปท.ไม่มีกำไรไปจ่ายหนี้ก้อนนี้  หากธปท.อ้างว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการพิมพ์เงินเข้าไปในระบบเพิ่มเติม แต่ที่ผ่านมาธปท.ก็ออกพันธบัตรก็เพิ่มสภาพคล่องในระบบไปแล้วกว่า 3 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามข้อเสนอในการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไปอยู่ในความดูแลของธปท. กลับถูกคัดค้านจากนายธีระชัย และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อฐานะการเงินของ ธปท.อย่างรุนแรง ส่งผลให้ทุนของธปท.ติดลบโดยทันที ซึ่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยเฉพาะการออกพันธบัตรเพื่อดูแลสภาพคล่องในระบบของธปท.จะมีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรโอนภาระหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ ธปท. เป็นผู้ดูแล

ขณะที่นายกิตติรัตน์ มองว่าปัจจุบันธปท.มีฐานะการเงินที่ดี มีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะสามารถดูแลหนี้จำนวนดังกล่าวได้ ต่างจากปี พ.ศ. 2540 ที่ยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ แต่ในขณะนี้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระหนี้มาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว เมื่อประเทศแข็งแรงองค์กรแข็งแรงขึ้น ทาง ธปท. ก็ควรนำภาระหนี้ดังกล่าวไปดูแล

เป็นสองขั้วทางความคิดที่เห็นแย้งกันกับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจะออกมาอย่างไร อีกทั้งต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกระทบกับฐานะความน่าเชื่อถือของคนในรัฐบาลและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลก็เป็นได้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เบื้องหลังสองขั้วทางความคิด ปมขัดแย้ง กิตติรัตน์ ธีระชัย

view