สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โยกหนี้ใส่อุ้งมือ ธปท.สุดท้ายภาระอยู่ที่ประชาชน

จาก โพสต์ทูเดย์

จนถึงขณะนี้ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลัง

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

จนถึงขณะนี้ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ออกไปไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล ชัดแล้วว่า ยังไม่มีใครใน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เห็นร่างกฎหมายจริง

แต่หากดูจากหลักการและเหตุผลที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.ก.แก้ปัญหาหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ใช่การโอนหนี้รัฐบาลไปซุกซ่อนในบัญชีของ ธปท. แต่เป็นการจัดการหนี้เก่าที่มีภาระดอกเบี้ย ไม่ให้ต้องนำเงินภาษีไปจ่ายดอกเบี้ยเหมือนที่ผ่านมาที่รัฐบาลเคยจ่ายไปแล้ว ทั้งสิ้น 6.7 แสนล้านบาท ด้วยการโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้ ธปท.เป็นผู้ดูแลให้ชำระหนี้ได้ตามกำหนด

ธีระชัย เปรียบเปรยว่า เสมือนกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นพาหนะและคนที่จะขับพาหนะนี้ไปให้สุดทาง คือ ธปท.

ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ขับเคลื่อนมีช่องทางให้หาได้จาก 3 แหล่ง

2 แหล่งที่จะหาเงินได้อยู่ในกฎหมายเดิม คือ

แหล่งที่ 1.เมื่อ ธปท.มีกำไรสุทธิ ให้นำกำไร 90% มาใช้ชำระหนี้

แหล่งที่ 2 เมื่อบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศจนมีรายได้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็ให้นำมาใช้ชำระหนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันบริหารทุนสำรองมีกำไรแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

นี่คือช่องทางในการนำเงินมาจ่ายหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นที่เกิดขึ้นแต่ก็ยังไม่พอ

จึงมีการเขียนช่องทางการหาเงินมาจากแหล่งที่ 3 คือ เปิดโอกาสให้ ธปท.นำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินใน อัตรา 0.4% จากฐานเงินฝากในระบบที่น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ทุกปี

รมว.คลัง มั่นใจว่าแนวทางนี้จะทำให้ ธปท.มีเงินมาใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้

และ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะทำให้กระทรวงการคลังและ ธปท.วางแผนชำระหนี้ร่วมกันให้หนี้สินจบลงภายใน 25 ปีได้ แต่การจ่ายคืนหนี้โดยเร็วนี้ อาจส่งผลเสียทำให้ ธปท.ต้องเรียกเก็บเงินนำส่งในอัตราที่สูง สร้างภาระให้กับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

แนวคิด รมว.คลัง และรัฐบาลฟังดูง่ายๆ แต่คงยากสำหรับผู้ปฏิบัติงานอย่าง ธปท.

เพราะถึง พ.ร.ก.ฉบับนี้จะไม่โอนหนี้และภาระดอกเบี้ยมาให้ ธปท.ดูแลโดยตรง แต่ก็ชัดเจนว่า ภาระหนี้ก้อนโตนี้ตกอยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท.อยู่ดี แม้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.จะพยายามชี้แจงและขอความเห็นใจต่อสังคมมาตลอดว่า ธปท.ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจเก็บภาษีหรือสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ การโอนภาระหนี้มาให้ ธปท.อาจเป็นการบังคับให้ ธปท.พิมพ์เงินมาใช้หนี้ อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อสูงทำให้ราคาสินค้าแพงซ้ำเติมคนจนอีก

แต่ท้ายที่สุด ธปท.ก็ไม่สามารถปฏิเสธภาระความรับผิดชอบได้

เพราะหนี้ก้อนหนี้ถึงจะเป็นนโยบายรัฐบาลที่ให้สั่งอุ้มธนาคารพาณิชย์ไม่ ให้ล้มในอดีตแต่ ธปท.ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะเป็นผู้กำกับดูแลฐานะธนาคารพาณิชย์ไม่ให้มีปัญหา แต่กำกับไปกำกับมาเจ๊งยับไม่เป็นท่าถึง 56 ไฟแนนซ์

แต่จาก 3 แนวทางตามโจทย์ที่คลังให้มายังน่าสงสัยว่า ธปท.จะมีเงินมาจ่ายหนี้ก้อนโตได้หรือไม่

เพราะดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดูเหมือน ธปท.ไม่มีขีดความสามารถในการจ่ายหนี้เอาเสียเลย เพราะหนี้เดิมวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ที่กฎหมายเดิมในปี 2545 กำหนดให้ ธปท.รับภาระเงินต้นและคลังรับภาระดอกเบี้ยนั้น

กระทรวงการคลังต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยทุกปี ปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท รวมแล้วกว่า 6.7 แสนล้านบาท แต่ ธปท.แทบจะไม่ได้จ่ายเงินต้น

ถ้าพิจารณาจากยอดหนี้สุทธิ 1.4 ล้านล้านบาท ยังเหลือหนี้คงค้างถึง 1.14 ล้านล้านบาทลดลงไปเพียง 2.6 แสนล้านบาทเท่านั้น เพราะตลอดช่วง 45 ปีมานี้ ธปท.ประสบภาวะขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีกำไรนำส่ง

แถมงบดุลของ ธปท.ในปัจจุบันยังมีภาระขาดทุนสะสมเพิ่มถึง 4 แสนล้านบาท

ฉะนั้น แนวทางจากเครื่องมือแหล่งที่ 1 ตามที่รัฐบาลคาดหวังให้นำกำไร 90% มาชำระหนี้จึงน่าจะเกิดเป็นจริงได้ยากมากในระยะเวลาอันใกล้

เพราะในปี 2555 นี้ปัจจัยในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น แนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนสูง ธปท.จึงน่าจะต้องทำหน้าที่แทรกแซงค่าเงินบาทอีกมากโข

กำไรและขาดทุนจึง 50/50

ขณะที่ เครื่องมือที่ 2 การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ก็สร้างกำไรไม่ได้เต็มที่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการลงทุน เช่น ให้ลงทุนได้เฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือระดับ AAA ซึ่งประเทศที่เครดิตความน่าเชื่อถือสูง มักจ่ายดอกเบี้ยต่ำ

ครั้นจะนำเงินทุนสำรองไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ ก็ทำได้ไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมามีความเสี่ยงสูง ความหวังจะได้เม็ดเงินมาชำระหนี้ก้อนโตจากช่องทางนี้ก็ไม่แน่นอนอีกเช่นกัน

เครื่องมือสุดท้าย ที่ให้ ธปท.เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมได้ไม่เกินเพดานที่ พ.ร.ก.กำหนดไว้ 1% จากปัจจุบันที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากเก็บอยู่ 0.4% จึงน่าจะเป็นช่องทางที่ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด

เพราะถ้าคิดจากฐานเงินฝากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 7 ล้านล้านบาท หากเก็บ 0.4% ก็จะได้เงินประมาณปีละ 2.8 หมื่นล้านบาท

และถ้าขยายมาเก็บจากตั๋วเงินฝาก หรือ บี/อี ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาทด้วย ก็จะได้เงินอีกปีละประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท

รวมสะระตะแล้ว ธปท.ก็จะได้เงินประมาณปีละ 3.6-3.7 หมื่นล้านบาทไปจ่ายหนี้

แต่หากพิจารณาตัวเลขต่างๆ แล้วช่องทางการหาเงินของ ธปท.ที่มีอยู่ก็ไม่พอต่อการชำระหนี้ดอกเบี้ยในแต่ละปีที่ต้องมีภาระจ่าย ประมาณปีละ 4.5 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำไป

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ธปท.ต้องเก็บเงินจากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 0.4% แม้จะเก็บไม่เต็มเพดาน 1% ก็ตาม เพื่อให้มีแหล่งรายได้หลักที่เพียงพอในการนำไปจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นในแต่ ละปี

ถ้า ธปท.เก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าคงไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดยอมเฉือนกำไรของตัวเองนำส่ง ธปท.เพื่อมาใช้หนี้โดยตรงแน่นอน แต่ธนาคารพาณิชย์จะเลือกผลักภาระที่เพิ่มขึ้นมาให้ประชาชนผู้ใช้บริการทาง การเงิน

แน่นอนว่าถึงตอนนั้น ไม่ว่า ผู้กู้ ผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม ก็ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อดูแลไม่ให้กำไรของธนาคารลดลง ไม่ให้กระทบราคาหุ้น และศักยภาพในการทำกำไรของธนาคาร

สุดท้าย ภาระการชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่รัฐบาลโยนความรับผิดชอบจะต้องตกมาอยู่กับประชาชน ผู้ซึ่งไม่มีส่วนก่อภาระหนี้เหล่านี้เลย

ที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้าเงินที่ ธปท.จะได้มาตามแนวทางที่ พ.ร.ก.กำหนดยังไม่พอ ก็มีความเสี่ยงที่ ธปท.จำเป็นต้องหาช่องทางนำเงินจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีหรือบัญชีทุนสำรอง พิเศษที่เป็นดอกผลของการบริหารทุนสำรอง ซึ่งตามเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และคณะลูกศิษย์ต้องการให้เก็บเป็นทุนของชาติตลอดไป อาจจะต้องถูกหาทางนำเอาออกมาใช้ชำระหนี้ก่อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เพราะถ้า ธปท.รับผิดชอบจ่ายหนี้ไม่ได้ ธปท.ในฐานะธนาคารกลางของประเทศอาจจะถูกต่างชาติหมดความเชื่อถือได้

เมื่อนั้นภัยจะมาถึงคนไทย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โยกหนี้ ใส่อุ้งมือ ธปท.สุดท้ายภาระอยู่ที่ประชาชน

view