สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟู (2)

เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟู (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



สัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอความเห็นของ ศปร. ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินในกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และการบริหารกองทุนฟื้นฟู
ในสัปดาห์ก่อนผมได้นำเสนอบทสรุปของ ศปร. ในส่วนของข้อบกพร่องในการดำเนินนโยบายการเงิน สัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอความเห็นของ ศปร. ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินในกรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และการบริหารกองทุนฟื้นฟู รวมทั้งข้อเสนอแนะของ ศปร.  ดังนี้ครับ
 

กรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด และผลกระทบต่อความมั่นคง (คัดลอกจากรายงาน ศปร.)
 

ศปร.มีความเห็นว่า ธปท.ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การอย่างเด็ดขาด ทั้งที่ควรจะยอมรับความร้ายแรงของสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น และดำเนินการลดทุนและเพิ่มทุนเสียในระยะแรกพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร แต่ทาง ธปท.กลับมิได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ธปท.อธิบายว่าการที่ไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในทันทีก็เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามหนี้เพื่อลดความเสียหายและที่ไม่ได้สั่งการลดทุนในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่ต้องการให้ทางการเสียหาย เนื่องจาก ธปท.ได้ไปชักชวนธนาคารออมสินและกลุ่มผู้ถือหุ้นเอกชนมาซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การไว้ก่อนหน้าแล้ว อีกทั้งในช่วงนั้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวที่มีปัญหา จึงต้องการแก้ไขปัญหาอย่างนุ่มนวล ไม่ให้มีผลกระทบไปยังสถาบันการเงินอื่น
 

ในประเด็นดังกล่าว ศปร.เห็นว่า ธปท.สามารถสั่งการลดทุนและเพิ่มทุนได้หลายจุด อีกทั้งการไม่เปลี่ยนแปลงผู้บริหารก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด แต่กลับเป็นมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าแม้ ธปท.จะพบว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีปัญหารุนแรง แต่ ธปท.กลับมิได้สั่งการให้มีการรายงานการตรวจสอบพิเศษนอกจากปีละครั้ง การดำเนินการแบบไม่เด็ดขาดดังกล่าวเป็นผลให้ความเสียหายในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา นอกจากนี้ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การยังมีผลกระทบไปยังภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของ ธปท.อีกด้วย
 

ในส่วนของผู้ตัดสินใจเรื่องการดำเนินการให้ความช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นผู้มีบทบาทมากที่สุดในเรื่องการลดทุนเพิ่มทุนและการแก้ปัญหาที่ไม่เด็ดขาดก็คือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในช่วงนั้นคือนายวิจิตร สุพินิจ (ตุลาคม 2533-มิถุนายน 2539)
 

การบริหารจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
 

ในส่วนของการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น ศปร.เห็นว่าบทบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ ผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการแยกแยะระหว่างปัญหาสภาพคล่องและปัญหาฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน สิ่งนี้เป็นผลให้กองทุนละเลยหน้าที่ในการฟื้นฟูกิจการด้วย การเพิ่มทุนให้เพียงพอและไม่เผชิญกับปัญหาหนี้เสียอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งเมื่อให้กู้เงินไปก็ไม่มีการติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่และแม้กระทั่งเมื่อมีการปิดสถาบันการเงินไปแล้ว กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่มีบทบาทในการเป็นผู้นำในการหารือกับเจ้าหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด ในบางครั้งกลับไม่ยอมร่วมเจรจากับเจ้าหนี้อื่นเพื่อแก้ปัญหาอันก่อให้เกิดผลเสียกับทั้งกองทุนฟื้นฟูฯ เจ้าหนี้และสถาบันการเงินอื่นในเวลาต่อมา
 

นอกจากนี้ในส่วนโครงสร้างของกองทุนฟื้นฟูฯ ในปัจจุบันก็มีปัญหาเนื่องจากขาดความอิสระ การตรวจสอบในการประเมินฐานะของสถาบันการเงินก็ต้องอาศัยฝ่ายกำกับและตรวจสอบของ ธปท.ดำเนินการต่างๆ  คณะกรรมการจัดการกองทุนก็มอบอำนาจให้ประธานกรรมการจัดการกองทุน (ซึ่งก็คือผู้ว่าการ ธปท.) สามารถดำเนินการได้ก่อนทำให้ยากที่จะมีความเห็นทัดทานนโยบาย ธปท.ได้ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าในช่วงวิกฤตการณ์ที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่หาเงินและจ่ายเงินตามนโยบายของทางการเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนร่วมในการประเมินและร่วมแก้ปัญหาแต่อย่างใด
 

ในส่วนของการแก้ปัญหาสถาบันการเงินนี้ ศปร.เห็นว่า ธปท.ในฐานะผู้กำกับสถาบันการเงินและกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาและไม่มีการเตรียมแผนงานเพื่อรองรับในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น เป็นผลให้มาตรการและแนวทางที่ดำเนินการไปมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง อันนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อ ธปท. เมื่อประกอบกับการขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน จึงเป็นเหตุนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่ผ่านมา
 

ข้อเสนอแนะของ ศปร.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบการเงิน
 

ในส่วนของโครงสร้างนั้น ศปร.เห็นว่าควรมีการแยกธนาคารกลางและการกำกับตรวจสอบดูแลสถาบันการเงินออกจากกัน ซึ่งจะเป็นผลดีในการช่วยลดการขัดแย้งด้านนโยบายและเป็นการง่ายต่อการสรรหาบุคลากรในระดับบริหาร ทั้งนี้เนื่องจากการหาบุคคลที่มีความสามารถทำงานทั้งสองด้านให้ดีเด่นคงทำได้ยาก อีกทั้งการแยกความรับผิดชอบที่เด่นชัดทำให้การประเมินผลทำได้ง่าย ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น ศปร.เห็นว่าควรมีการยกเลิกโดยเร็วโดยเฉพาะการรับประกันโดยไม่มีขอบเขต โดยแปลงมาเป็นส่วนงานทางด้านประกันเงินฝากและรวมเข้ากับส่วนงานด้านกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันประกันเงินฝากในฐานะผู้รับประกัน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบฐานะการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของสถาบันประกันเงินฝาก ดังนั้นการรวม 2 ส่วนงานนี้เข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม
 

บทสรุปรายงานการศึกษาของ ศปร. ที่ได้กล่าวมานับแต่สัปดาห์ที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุความบกพร่องในการบริหารจัดการสถาบันการเงินและนโยบายการเงิน ซึ่งนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ผ่านมาแล้ว 14 ปีแต่ดูเหมือนว่าความรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงินในอดีต โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในคราวต่อไปครับ



สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟู (2)

view