สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีนี้

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีนี้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ช่วงนี้มีคนถามผมมากว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศปีนี้ จะเป็นอย่างไร จะเป็นอัตราดอกเบี้ยขาลงหรือไม่ เพราะปีนี้เศรษฐกิจโลกชะลอ
ประเทศอุตสาหกรรมหลักการขยายตัวก็ยังอ่อนแอ ทำให้คงต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำเอาไว้ อัตราดอกเบี้ยไทยจะเป็นขาลงตามไปด้วยหรือไม่ และถ้าลงทำไมธนาคารพาณิชย์ในประเทศหลายธนาคารจึงปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น


คำถามนี้เป็นคำถามที่ดี และผมขอให้ความเห็นดังนี้


อัตราดอกเบี้ยในประเทศปกติจะเป็นผลจากสามปัจจัย คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ เศรษฐกิจในประเทศ และทิศทางนโยบายการเงินในประเทศ  ดังนั้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยไทยจะเป็นอย่างไร ก็คงจะขึ้นอยู่กับสามปัจจัยนี้ ซึ่งความเห็นของผมในแต่ละปัจจัยมีดังนี้


หนึ่ง  กรณีอัตราดอกเบี้ยโลกค่อนข้างชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นคงจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไป เพราะปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงจากปีก่อน เหตุผลหลัก ก็คือ ภาวะถดถอยในเศรษฐกิจสหภาพยุโรป จากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังต้องแก้ไข ปัญหาหนี้ยุโรปเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุดปีนี้ และเท่าที่หลายฝ่ายประเมินปัญหาหนี้ยุโรป มีความเป็นไปได้ที่จะออกมาได้ในทั้งสองทาง คือเศรษฐกิจยุโรปหาทางออกทางนโยบายได้ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดี หรือ หาทางออกไม่ได้จนปัญหาบานปลาย นำมาสู่การเกิดวิกฤตที่รุนแรงอีกรอบ ซึ่งอันนี้จะไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลก


ทางออกด้านนโยบายที่ผมพูดถึงนี้ ก็คือ การมี Convergence หรือ มีการลงเอยกันได้ในแง่ความคิดระหว่างตลาดกับผู้ทำนโยบายในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปซึ่งจะทำให้แรงกดดันต่างๆที่มีขณะนี้ ลดลง แต่การลงเอยจะเกิดได้หรือไม่คงขึ้นอยู่กับสองเงื่อนไข อันแรก ก็คือ น้ำหนักที่ผู้นำนโยบายจะให้มากขึ้นกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องระยะสั้นที่ตลาดให้ความสำคัญ และ สอง  เยอรมันนียอมรับที่จะใช้ทรัพยากรการเงินของตนเองมากขึ้นเข้าอุ้ม หรือประกันความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในยุโรปที่มีหนี้สูง อันนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดในการแก้ไขปัญหาหนี้ แต่ก็เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ยากและสำคัญ


แต่ในทั้งสองกรณี นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก จะจำเป็นสำหรับยุโรป เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยมาก และช่วยสถาบันการเงินในยุโรปให้มีสภาพคล่องที่จะปรับตัวในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลงมาก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากนี้ อาจรวมถึงการใช้มาตรการ ที่ไม่ใช่เครื่องมือปกติ เช่น QE อย่างที่ทำในสหรัฐ ซึ่งอาจจำเป็นในกรณีที่สถานการณ์ยุโรปเกิดบานปลายและยืดเยื้อ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยในยุโรปคงจะต้องต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง


ในกรณีของสหรัฐ ตัวเลขล่าสุดดูดีขึ้นขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้การยืนนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไป เพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกรณีของญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจยังต้องการอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดทอนผลของค่าเงินเยนที่แข็ง รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืด


ดังนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของทั้งสามประเทศอุตสาหกรรมหลักปีนี้ยังคงผ่อนคลายต่อไป


สอง สำหรับเศรษฐกิจไทยเอง ปีนี้ควรเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะจากผลของน้ำท่วมในช่วงท้ายปีที่รุนแรง แต่ประเด็นที่ต้องตระหนัก ก็คือ จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจขณะนี้แตกต่างไปมาก จากที่ส่วนใหญ่มองไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว อันแรก ผลกระทบของน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจมีมากกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้เศรษฐกิจจะต้องฟื้นตัวจากการชะลอตัวที่ลึกกว่าที่ประเมินไว้ สอง เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากกว่าที่ประเมินไว้เช่นกัน จากปัญหาหนี้ยุโรป และการชะลอตัวของจีน ซึ่งกระทบการค้าโลก การส่งออก และการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ การปรับลดของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก     ก็จะกระทบรายได้เกษตรกรในประเทศ และกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ และ สาม  นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายเรื่องที่ประกาศออกมา ที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของภาคเอกชน ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินต่ออย่างไร เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และกลไกการกำหนดราคาน้ำมัน ทำให้การตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน อาจล่าช้าออกไป ซึ่งจะกระทบเงื่อนเวลา หรือ Timing ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


สำหรับสินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อในประเทศคงสูงขึ้น จากความต้องการลงทุนของภาครัฐและเอกชน กดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทำให้หลายธนาคารจึงแข่งเรื่องเงินฝาก โดยขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อตุนสภาพคล่องไว้ปล่อยกู้ สินเชื่อขณะนี้ขยายตัวในเกณฑ์สูง คือร้อยละ 16 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน


สาม สำหรับนโยบายการเงิน ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีนี้ จะขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะเลือกดำเนินนโยบายการเงินต่อไปอย่างไร คือ จากนี้ไป ถ้าเงินเฟ้อไม่เป็นความเสี่ยง และธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อจากคราวที่แล้ว แรงกดดันขาขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่มาจากความต้องการลงทุนก็จะถูกลดทอนลง ทำให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield curve จะลาดชันขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะปกติของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว      แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ลด สัญญาณที่จะออกไป ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไม่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ สัญญาณนี้จะทำให้แรงกดดันขาขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเงินฝาก


ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีนี้ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะผ่อนคลายต่ออีกระยะหนึ่งหรือไม่ เพื่อช่วยกระชับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งในเรื่องยุโรปและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยควรต้องพิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ โดยพิจารณาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ทั้งปี ถ้าอัตราเงินเฟ้อระยะสั้นไม่มีความเสี่ยง อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็คงจะลดได้อีก เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นเมื่อความเสี่ยงต่ออัตราการเงินเฟ้อปรากฏชัดเจน หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว


ดังนั้น ปีนี้อัตราดอกเบี้ยคงจะไม่เป็นขาลง เสียทีเดียว แต่จะออกมาเป็นแบบการปรับตัวช่วงสั้นๆแบบตัว U เพื่อช่วยดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ความไม่แน่นอนมีสูง คือลด แล้วยืน แล้วกลับมาปรับขึ้นใหม่ แต่ที่ยังบอกไม่ได้ก็คือ จังหวะที่อัตราดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นการปรับขึ้น จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก ประสิทธิภาพของนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมา  และความเร็วที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นแรงกดดันอีก หวังว่าคงชัดเจน


วันนี้ขอแค่นี้ก่อน  ซิง เจีย หยู่ อี่ ซิง นี้ ฮวก ไช้ ครับ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีนี้

view