สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ยุโรปกักเงินทุบสถิติ ชนวนวิกฤตสินเชื่อรอบใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แม้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะย่ำตามรอยธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ 4.89 แสนล้านยูโร และการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำสุด 1% เพื่อช่วยให้เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบได้อย่างต่อเนื่อง ทว่าสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในตลาดยุโรปกลับตรงกันข้ามและดูจะย่ำแย่กว่า ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เสียด้วย

เพราะปริมาณเงินฝากของบรรดาแบงก์พาณิชย์ยุโรปในอีซีบีเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา กลับพุ่งสูงสุดทุบสถิติเป็นประวัติการณ์ที่ 5.28 แสนล้านยูโร...!

เป็นสถิติใหม่ที่เกิดขึ้นแทบจะรายวัน ทั้งที่ปกติแล้วแบงก์พาณิชย์ไม่นิยมฝากเงินกับอีซีบี เพราะได้ดอกเบี้ยแค่ 0.25% ซึ่งน้อยกว่าปล่อยกู้กันเองระหว่างแบงก์พาณิชย์ด้วยกัน

ตัวเลขนี้จึงเป็นสัญญาณ (น่าวิตก) อย่างชัดเจนว่า ยุโรปอาจต้องเผชิญวิกฤตการณ์สินเชื่อ (Credit Crunch) ทับซ้อนกับวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะ (Public Debt Crisis) ที่กำลังย่ำแย่อยู่

คำอธิบายหนึ่งที่อาจช่วยให้เห็นสถานการณ์นี้ได้กระจ่างมากขึ้นก็คือ วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปไม่ใช่ปัญหาเรื่องระดับหนี้สูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของ “ปัญหาด้านความเชื่อมั่น” ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่และฉุดให้สถานการณ์ยุโรปในภาพรวมย่ำแย่ลง อาทิ ความไม่เชื่อมั่นว่ายุโรปจะแก้ปัญหาได้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายชาติสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลนั้นๆ แพงขึ้นไปด้วย จนกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ไม่สามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรและต้องหันไปขอกู้เงินจากกลุ่มประเทศยู โรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นทางเลือกสุดท้ายแทน

และขณะนี้ ปัญหาความไม่เชื่อมั่นก็กำลังขยายวงไปถึงภาคการธนาคาร เมื่อแบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับทั้งลูกค้าทั่วไปและแบงก์พาณิชย์ด้วย กันเอง

ในภาวะปกตินั้น แบงก์พาณิชย์จะไม่นิยมฝากเงินกับอีซีบี เพราะได้ดอกเบี้ยต่ำสุด แต่มักจะปล่อยกู้ระหว่างแบงก์พาณิชย์ด้วยกันเองเพื่อกินดอกเบี้ยกู้ยืมข้าม คืนที่สูงกว่า ทว่าความไม่เชื่อมั่นว่ายุโรปจะแก้วิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีได้ ทำให้แบงก์พาณิชย์ต่างไม่มั่นใจกัน และหันไปลงทุนกับช่องทางที่ปลอดภัยที่สุดด้วยการฝากเงินกับอีซีบี

สเตฟาน ชิลเบอ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเอชเอสบีซี ทรินคอส ในเยอรมนี ได้กล่าวกับเอเอฟพีไว้ว่า ความไม่เชื่อมั่นภายในภาคธนาคารด้วยกันเองเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ เกิดการฝากเงินกับอีซีบีในปริมาณมหาศาลเช่นนี้

ขณะที่ไจล์ส โมเอ็ค นักวิเคราะห์จากธนาคารดอยช์แบงก์ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า แบงก์พาณิชย์เหล่านี้อาจตุนเงินสดไว้เพื่อนำไปจ่ายหนี้ของตัวเองที่ไม่ได้ น้อยหน้าไปกว่าหนี้ของภาครัฐ

ปัจจุบัน แบงก์พาณิชย์ในกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศ มีหนี้ที่ต้องรีไฟแนนซ์ในไตรมาสแรกของปี 2555 นี้ ถึงราว 2 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็นหนี้ที่ต้องรีไฟแนนซ์ตลอดทั้งปีนี้ 6 แสนล้านยูโร และยิ่งไปกว่านั้น แบงก์พาณิชย์ชั้นนำราว 70 แห่งทั่วยุโรปยังถูกภาครัฐกดดันให้เพิ่มสัดส่วนการกันสำรองหนี้เพื่อเพิ่ม ภูมิต้านทานในยุโรปให้มากขึ้นด้วย

แนวโน้มดังกล่าวเริ่มย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่อีซีบีออกโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำชนิดซูเปอร์โลว์ 3 ปี วงเงิน 4.89 แสนล้านยูโร เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อหวังกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดไม่ให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว โดยหวังว่าแบงก์จะนำเงินก้อนนี้ไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และยังหวังว่าแบงก์จะนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างอิตาลีหรือสเปน เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดด้วย

งานนี้มีแบงก์ให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม 523 แห่ง ทว่าเงินที่ได้กลับไม่ได้ถูกนำไปหมุนเวียนในระบบอย่างที่คาดหวัง

และความน่ากลัวหากเกิดวิกฤตสินเชื่อก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเต็มๆ กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจในยุโรป ที่อาจเกิดภาวะชอร์ตหรือขาดเงินมาหมุนเพราะขอสินเชื่อกับแบงก์ไม่ได้ และจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่อีก 2 ประการตามมาคือ เศรษฐกิจยุโรปอาจดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยและการค้าระหว่างประเทศจะซบเซาลง โดยเฉพาะบรรดาเอกชนที่เป็นคู่ค้าโดยตรงกับยุโรป

ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย...

แม้ปัจจุบันยุโรปจะไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหรือตลาดส่งออกรายใหญ่ 1 ใน 10 ของไทยอีกต่อไป ทว่าปริมาณการส่งออกของไทยไปยังตลาดยุโรปก็ยังนับว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาล กว่า 5 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัญหาหนี้ยุโรปได้ฉุดให้การส่งออกของไทยไปยังทวีปยุโรปลดต่ำลงอย่างต่อ เนื่องติดต่อกัน 5 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554 จาก 8.13 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ธ.ค.ที่เพิ่งผ่านมา

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าปัญหาการค้าและการส่งออกของไทยยังอาจถูกกระทบชิ่งมาจากประเทศ คู่ค้าหลักของยุโรป อาทิ สหรัฐและจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลกอีกต่อหนึ่งได้ด้วย หรือพูดง่ายๆ ว่า หากเศรษฐกิจยุโรปถดถอย การค้าของยุโรปไม่ดี ก็อย่าหวังว่าการค้าโลกจะยังดีอยู่ได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารโลกจะออกมาเตือนบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ใน เอเชียว่า อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตในยุโรปมากกว่าที่คาดไว้ และได้ประกาศลดคาดการณ์จีดีพีทั่วโลกจาก 3.6% เหลือ 2.5% ไปเรียบร้อยโรงเรียนเวิลด์แบงก์แล้ว

วิกฤตนี้จึงไม่ใช่ปัญหาไกลตัวที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ขอคนไทยโปรดรับทราบด้วย...


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

a

Tags : แบงก์ยุโรป กักเงินทุบสถิติ ชนวน วิกฤตสินเชื่อรอบใหม่

view