สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักประกันความยุติธรรม

หลักประกันความยุติธรรม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เมื่อสังคมโหยหาความยุติธรรม ในด้านหนึ่งคงมองว่าเหมือนกับการดิ้นรนหาทาง เพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมที่ตนเองและพวกพ้องต้องการ
และเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมที่ทุกคนต้องการหรือรู้สึกว่าต้องการความยุติธรรมเช่นว่านั้น ผู้มีอำนาจรัฐจึงต้องหันมามองการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรมหรือหาหนทางที่จับต้องได้สำหรับประชาชนผู้แสวงหาความยุติธรรมซึ่งคงหนีไม่พ้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง
 

การส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม จึงเสมือนเป็นทุนทางสังคมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า ผู้มีอำนาจรัฐมองเห็นและเคารพคุณค่าของความยุติธรรม อันเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นประชาธิปไตย
 

หากมองอีกนัยหนึ่งจะพบว่าการส่งเสริมให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ในสังคมถือว่าเป็นคุณลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยในสังคมนั้นๆ ที่ชัดเจน  ปัญหามีแต่เพียงว่ามองเห็นความสำคัญและจัดลำดับความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้อย่างสัมพันธ์กับการสร้างความยุติธรรมในสังคมและการเสริมสร้างประชาธิปไตยแค่ไหนและเพียงใด
 

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไม่แพ้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ  และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ซึ่งถ้ามองเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับกันว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเสาหลักของบ้านเมืองอย่างที่พูดกันจนเคยปากก็ว่าได้
 

หากเรามีการแถลงข่าวดัชนีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกันทุกไตรมาส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักธุรกิจ ก็ควรจะมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นความยุติธรรมในสังคม เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยให้กับทั่วโลกได้เช่นกัน
 

สังคมโดยทั่วไปต้องมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมอันเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย  แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมสังคมไทย
 

เมื่อถึงตรงนี้คงสรุปได้เบื้องต้นว่าการสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน ผู้มีอำนาจรัฐจะต้องคำนึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย โดยจะต้องเป็นการดำเนินการที่ทำให้ประชาชนจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง
 

หลักการสิทธิมนุษยชนเน้นย้ำการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการไม่เลือกปฏิบัติและคุ้มครองความเป็นปัจเจกชน ดังนั้น บทบาทและหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ดี เพื่อนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยจึงต้องอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นองค์รวม  คือ มีความเหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไม่ใช่มุ่งแต่การตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
 

การที่ประชาชนมีศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเข้าถึงความยุติธรรมจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม หากเพียงแค่การให้บริการคำปรึกษาด้านกฎหมายและความช่วยเหลือด้านกฎหมายคงไม่เพียงพอสำหรับสภาพสังคมที่ซับซ้อน และมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการกระจายรายได้และการศึกษา รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางด้านเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการเข้าถึงความยุติธรรม
 

การพัฒนาระบบความยุติธรรมภาคพลเมืองจึงเป็นการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและถือว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในสังคมอย่างแยกกันไม่ออก เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมองเรื่องนี้ด้วยหลักการสิทธิมนุษยชน การมองระบบความยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมภายใต้กรอบคิดเชิงอำนาจต้องถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ยอมรับไม่ได้
 

การมองกระบวนการยุติธรรมหรือระบบงานยุติธรรมด้วยความคิดเชิงอำนาจภายใต้กฎหมายที่มีนิยามว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจรัฐต้องถือว่าขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้เป็นการมองในแง่ของการเป็นกลไกที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมให้กับประชาชน
 

ความเป็นหลักประกันจึงหมายความถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าทั้งกลไก ระบบ และบุคคลที่ให้บริการด้านความยุติธรรมอยู่ในสังคมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้มีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
 

มองระบบงานยุติธรรมอย่างเป็นหลักประกันความยุติธรรมในสังคม ไม่ต้องเสียเงินมากมายเพื่อเยียวยาความเสียหาย


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : หลักประกันความยุติธรรม

view