สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมถึงสำคัญนัก? อำนาจ-หน้าที่-เงินเดือน เลขาฯ-ที่ปรึกษา รมต.

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"กฎหมายไม่ให้อำนาจเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี ลงชื่อลงนามอนุมัติโครงการต่างๆ แต่เราจะเห็นว่าโครงการของรัฐบาลทุกยุคที่ส่อในทางทุจริตมักจะมีเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ เพราะคนพวกนี้เข้าไปจัดการออกหน้าให้ โดยมีข้าราชการประจำคอยเป็นคนรับบาปแทน"
--------โดย
"ตระกูล มีชัย" อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย--------



ภายหลังที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ยิ่งลักษณ์ 2" เสร็จสิ้น การแต่งตั้ง "เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี" จึงเป็นจุดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตำแหน่งเหล่านี้คือมือไม้ของ "รัฐมนตรี"

ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 กำหนดให้สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และมีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นผู้ช่วยสั่งหรือปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรีและมีหน้าที่ดังนี้

1.รวบรวมและเสนอข้อมูลเพื่อช่วยในการสั่งการของรัฐมนตรี

2.ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆ

3.ติดต่อและสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์

4.ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ ให้แก่รัฐมนตรี

5.ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตอบกระทู้และชี้แจงเรื่องต่างๆ ทางการเมือง

ส่วน "ที่ปรึกษารัฐมนตรี" มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษา เสนอความคิดเห็น วิเคราะห์ และเสนอแนะทางด้านวิชาการ เกี่ยวกับนโยบายยุทธศาสตร์ และการบริหารราชการในอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในด้านต่างๆ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

เงินเดือนและเงินเพิ่มเติมของตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี 37,500 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท รวม 42,400 บาท ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี 33,600 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,400 รวม 38,000 บาท ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี 40,000 เงินประจำตำแหน่ง 10,000 รวม 50,000 บาท

ทั้งนี้ การแต่งตั้งตำแหน่ง "เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี" ของรัฐบาลชุดนี้ ล่าสุด ส่วนใหญ่เป็นการตอบแทนให้บรรดา ส.ส. "สอบตก" และ "แกนนำคนเสื้อแดง" ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนหน้าเดิม แต่ต้องแต่งตั้งใหม่เพราะ "รัฐมนตรี" ในสังกัดถูกปลดออกจาตำแหน่ง อาทิ "ชินวัฒน์ หาบุญพาด" ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) และ "วัน อยู่บำรุง" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) เป็นต้น

มีเพียงตำแหน่งเดียวที่มีรายการ "คุณขอมา" คือ "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) แทน "อารี ไกรนรา" ที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)

"ตระกูล มีชัย" อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตามหลักแล้ว ตำแหน่ง "เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี" ไม่มีอำนาจใดๆ ตามกฎหมาย มีหน้าที่ทำงานเชิงธุรการ ช่วงงานด้านเอกสาร เพื่อเสนองานที่ข้าราชการพิจารณาแล้ว ให้กับรัฐมนตรีอนุมัติเท่านั้น

"กฎหมายไม่ให้อำนาจเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี ลงชื่อลงนามอนุมัติโครงการต่างๆ แต่เราจะเห็นว่าโครงการของรัฐบาลทุกยุคที่ส่อในทางทุจริตมักจะมีเลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ เพราะคนพวกนี้เข้าไปจัดการออกหน้าให้ โดยมีข้าราชการประจำคอยเป็นคนรับบาปแทน"

"ตระกูล" ระบุอีกว่า นอกจากนี้ การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการประจำ ก็จะถูก "เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี" เข้ามาแทรกแซง "จัดการงานนอกสั่ง" เสมอ เพราะอยู่ใกล้ชิดรัฐมนตรี สามารถพูดคุยแทนรัฐมนตรีได้ และที่สำคัญเรื่องแบบนี้รัฐมนตรีจะไม่มาพูดคุยเองโดยตรง

สุดท้าย "ตระกูล" ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวคงแก้ไม่ได้ แต่ก็อยากให้ "เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี" ชุดใหม่ ทำงานอย่างเต็มที่ พยายามหลีกหนีปัญหา และอย่าไปสนใจเสียงยุยงของข้าราชการนอกรีต ..ไม่เช่นนั้นก็ยังเดินย่ำอยู่กับวังวนเดิมๆ




ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทำไมถึงสำคัญนัก อำนาจ หน้าที่ เงินเดือน เลขาฯ ที่ปรึกษา รมต.

view