สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พท.ตั้งลำแก้รธน.แค่ยังไม่เริ่มก็เหนื่อย

จาก โพสต์ทูเดย์

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนตามลำดับ เมื่อ “อุดมเดช รัตนเสถียร” ประธานวิปรัฐบาล และ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำเสื้อแดง

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนตามลำดับ เมื่อ “อุดมเดช รัตนเสถียร” ประธานวิปรัฐบาล และ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำเสื้อแดง ระบุปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในเดือน ก.พ.จะเริ่มมีร่างแก้ไขมาตรา 291 ของกลุ่มต่างๆ ทยอยยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งอย่างน้อยจะมี 5 ร่างที่เสนอเข้ารัฐสภา ประกอบด้วย 2 กลุ่ม

1.กลุ่มร่างของประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ แยกเป็นร่างของเสื้อแดงภาคเหนือ นำโดยสงวน พงษ์มณี สส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย จะยื่นในวันที่ 1 ก.พ. และร่างของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ยื่นในวันที่ 9 ก.พ.

2.ร่างแก้ไขที่เสนอโดยพรรคการเมือง แยกเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา และร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเป็นหลักในการพิจารณารวม

และแน่นอน พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยก็ต้องเสนอร่างแก้ไขมาตรา 291 เข้าสู่วาระนี้เช่นกัน

ชัดเจนว่าฝ่ายการเมือง รัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างเห็นพ้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวทางการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอาข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และคณะกรรมการตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรม แห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้ง มี อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ที่เสนอให้ใช้คณะกรรมการพิเศษมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน

กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า คณะกรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย จำนวน 25 คน

โดยให้ สส.เป็นผู้เสนอชื่อ 20 คน สว.เลือกตั้งเสนอ 3 คน และ สว.สรรหาเสนอ 2 คน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลาจัดทำรัฐธรรมนูญไม่เกิน 9 เดือน

ส่วน คอ.นธ.เสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 40-50 คน โดยดึงคู่ขัดแย้ง ตัวแทนสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ มายกร่างและให้รัฐสภาพิจารณารายมาตราก่อนจะทำประชามติ

แต่รัฐบาลสนับสนุนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จาก “จุดแข็ง” ที่มาจากการเลือกตั้งเป็น “ความชอบธรรม” ในการออกสตาร์ตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องเผชิญกับแรงต้านมากมาย

ส่วนฝ่ายนักวิชาการเฉดแดง ทั้งอุกฤษและนิติราษฎร์ เลือกคณะกรรมการพิเศษเพราะได้ผู้เชี่ยวชาญนักกฎหมายไม่ต่างจาก “สถาปนิกรัฐธรรมนูญ” โดยตรง ซึ่งใช้เวลาร่างเร็วกว่า ส.ส.ร.เกือบเท่าตัว

เมื่อบทสรุปคือการตั้ง ส.ส.ร. เพียงแต่ยังเห็นแตกต่างเรื่องที่มา ไม่ว่าจำนวนและโครงสร้าง ส.ส.ร.จะให้เลือกตั้งจากประชาชน 100% หรือลูกผสมระหว่าง ส.ส.ร.จังหวัดกับ ส.ส.ร.สายวิชาการ ซึ่งอยู่ที่เสียงข้างมากในรัฐสภาจะลงเอยให้มี ส.ส.ร.รูปแบบใด

ทว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มเดินหน้าได้ในช่วงก่อนปิดสภาหรือ ก่อนวันที่ 18 เม.ย. ทันทีที่รัฐสภาส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น คาดว่าจะใช้เวลา 12 เดือนจากนี้

เมื่อปี่กลองแก้รัฐธรรมนูญเริ่มขึ้น กลุ่มเสื้อแดงได้อุ่นเครื่องโดยเตรียมระดมพลคนเสื้อแดงครั้งใหญ่ในวันที่ 25 ก.พ. ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และยังมีแผนกำหนดยุทธศาสตร์ทำความเข้าใจแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับแกนนำ เสื้อแดง เพื่อใช้พลังนอกสภาขับเคลื่อนในช่วงตั้งไข่ ส.ส.ร.และกำหนดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อีกด้านได้เห็นความเคลื่อนไหวคึกคักของผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.ร. ทั้งอดีต ส.ส.ร.ชุดปี 2540 แกนนำเสื้อแดง อดีต สส.ที่เริ่มทำกิจกรรมสร้างข่าวรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่คาดว่าจะมีขึ้นกลางปีนี้

แน่ชัดว่าวันนี้การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างสุกงอม ทว่าสิ่งที่สร้างความกังวล และเกิดความไม่ไว้วางใจในการจัดทำโครงสร้างกติกาใหม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ ก็คือ การเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะโปร่งใสหรือไม่ พรรคการเมืองจะแทรกแซงผ่านระบบอุปถัมภ์หัวคะแนนในพื้นที่ได้แค่ไหน หรือสุดท้าย ส.ส.ร.จะเป็นร่างทรงของฝ่ายการเมือง ถูกครอบงำ ขาดอิสระ

เพราะมิฉะนั้นแล้ว ใครมีเสียงข้างมากก็ยึดกุม ส.ส.ร.และร่างกติกาเพื่อประโยชน์ตนเอง เป็น “ทีใครทีมัน” ซึ่งก็อาจเป็นปมขัดแย้งใหม่ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนพัฒนาเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญได้

กระนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้าภาพ เริ่มเป็นห่วงคือการขับเคลื่อนของกลุ่มนิติราษฎร์ที่รุกเสนอแนวคิดหนักหน่วง

นอกจากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว และรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในระยะเวลา 112 วัน ยังขยับไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวทีสัมมนาล่าสุด โดยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปสถาบัน พระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ สถาบันการเมืองให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและนิติรัฐ ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกหมวดต้องแก้ไขได้ ไม่เว้นแม้แต่หมวดพระมหากษัตริย์...

จนเกิดปฏิกิริยาตีกลับจาก นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่สวนกลับกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะเกรงจะเป็นเป้ากระทบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความยุ่งยากตามมา

“คนกลุ่มนี้กินยาผิดซอง เป็นพวกเพ้อ ไม่มีใครเขาเอาด้วยหรอก โถ... บ้านเมืองร่มเย็นมาได้นับร้อยนับพันปีก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น จริงๆ เพราะพระปรีชาสามารถ ทุกอย่างดีหมดแล้ว พวกนี้บางครั้งคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น ก็เรียนกฎหมายมาด้วยกัน เพียงแต่ผมไม่ใช่ดอกเตอร์เมืองนอกเท่านั้น มันไปคิดอะไร จะรื้อหมวดนั้นหมวดนี้ ทำไม่ได้หรอก”

กระทั่ง ความเห็นของฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย พีระพันธุ์ พาลุสุข ที่ต้องยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่แตะต้องในหมวดพระมหากษัตริย์ และเห็นว่าแนวคิดของคณะนิติราษฎร์แม้จะเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ล้ำหน้าไปไกลเกินกว่าที่สังคมไทยจะตามทัน และหลายเรื่องยังต้องการคำอธิบายอีกมาก นิติราษฎร์ต้องดูเรื่องจังหวะเวลาเพราะการนำเสนอในช่วงนี้อาจถูกบิดเบือน เจตนาที่ดีได้ง่าย

ถ้าไม่แยกให้ขาด ดับกระแสให้เบา ก็จะเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลและเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายคัดค้านออกมาโจมตีพรรคเพื่อ ไทยได้ ว่า กำลังคิดการใหญ่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พท. ตั้งลำแก้รธน. แค่ยังไม่เริ่มก็เหนื่อย

view