สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกรับมือวิกฤตปั๊มดอลลาร์เมื่อเศรษฐกิจลุงแซมยังเข็นไม่ขึ้น

จาก โพสต์ทูเดย์

ผมไม่คิดว่าเราพร้อมที่จะประกาศว่าเราได้เข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในขณะนี้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

โดย...ธนพล ไชยภาษี

“ผมไม่คิดว่าเราพร้อมที่จะประกาศว่าเราได้เข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจที่แข็ง แกร่งขึ้นในขณะนี้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการว่างงานลดลงอย่างช้ามากๆ ดังนั้นตามหลักเหตุและผลของกรอบการทำงานของเราก็คือ การหาหนทางออกที่มากกว่านี้”

นั่นคือถ้อยแถลงชัดๆ ของ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทำเอานักวิเคราะห์ตีความไปกันยกใหญ่ว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันที่ อาจจะต้องได้รับการ “ฉีดยา” กระตุ้นครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง

เพราะโรคซึมเศร้าทางเศรษฐกิจที่สหรัฐอยู่ในภาวะซบเซามาอย่างต่อเนื่องยาว นาน เข็นไม่ขึ้น กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยที่ปัญหาการว่างงานแม้ว่าจะเริ่มลดต่ำลง แต่อัตราการลดนั้นเชื่องช้าเกินไปกลายเป็นปัญหาหอกข้างแคร่อยู่เช่นนี้

การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงถือเป็นทางเลือกที่เฟดอาจจะต้องงัดมาใช้อย่างเสียไม่ได้!

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ ก็ต้องบอกว่าอยู่ในช่วงที่เกื้อหนุนต่อการพิมพ์ธนบัตรปั๊มเงินเข้าสู่ระบบ มากที่สุด

เพราะหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ในระดับที่ไม่น่ากลัวเอาเสียเลย โดยอยู่ที่ 1.7% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่วางไว้ 2% สหรัฐสามารถอัดเงินเข้าระบบได้เต็มที่อย่างไม่ต้องหวั่นวิกฤตเงินเฟ้อเหมือน ในจีน

ประการที่สอง เฟดได้ประเมินออกมาแล้วว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะยังอ่อนแอ และเชื่องช้าต่อเนื่องไปอีกถึง 2 ปี จนถึงปี 2557 ทีเดียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่เฟดจำต้องคงดอกเบี้ยระดับต่ำ 00.25% ไปจนถึงปี 2557 โดยเฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2555 นี้ จะเติบโตอยู่แค่ 2.2-2.7% เท่านั้นเอง โดยที่ปัญหาหลักๆ อยู่ที่การลงทุนของภาคธุรกิจที่ยังเซื่องซึม และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่กลับมาฟื้นชีพนัก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ถ้อยแถลงของเฟดนั้นจะถูกตีความไปได้ว่า เฟดจะนำมาตรการการเงินแบบผ่อนปรนเชิงนโยบาย (Quantative Easing) รอบ 3มาใช้ ถึงเวลาที่เฟดจะต้องปั๊มพันธบัตรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ ซึ่งในหนนี้เฟดน่าจะเข้ากว้านซื้อพันธบัตรในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก

ดังนั้น คำถามต่อไปคือ เมื่อไหร่เฟดถึงจะได้ฤกษ์ฟื้นชีพมาตรการคิวอีรอบ 3 ขึ้นมา

จากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินรายใหญ่ในสหรัฐที่ติดต่อโดย ตรงกับเฟด โดยรอยเตอร์สนั้นพบว่า 12 จาก 18 แห่ง เชื่อมั่นว่าเฟดจะใช้มาตรการคิวอีนี้อย่างแน่นอน โดยครึ่งหนึ่งเห็นว่ามาตรการนี้จะมาถึงในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้แน่นอน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเห็นว่าอาจจะมาในช่วงครึ่งปีหลัง

แต่กระนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเฟดอาจจะรอให้มาตรการกระตุ้นครั้งก่อนหน้านี้หมดอายุลงเสียก่อน ซึ่งจะมาถึงในเดือน มิ.ย.

มาตรการดังกล่าวก็คือ “โอเปอเรชัน ทวิสต์” มาตรการที่เฟดใช้วิธีปล่อยขายพันธบัตรระยะสั้น เพื่อซื้อคืนพันธบัตรระยะยาวแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่ม ซึ่งทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวโน้มสูงว่าเฟดจะเดินหน้าคิวอี 3 อย่างจริงจัง แต่เฟดก็กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า มาตรการเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้บ้างจริงหรือ ไม่

ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตการเงินในสหรัฐกำลังสุกงอมนั้น เฟดได้ใช้สารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งหั่นดอกเบี้ยลงเหลือ 0%

ตลอดจนพิมพ์ธนบัตรอัดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการกว้านซื้อคืนพันธบัตรระยะยาว มาแล้วรวมถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านนโยบายคิวอี 1 และคิวอี 2

และเมื่อคิวอี 2 หมดอายุลงไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว เฟดก็เข็นมาตรการโอเปอเรชัน ทวิสต์ ออกมาซ้ำอีก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกระเตื้องขึ้นอย่างน่าพอใจนัก

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการคิวอียังส่งผลข้างเคียงรุนแรงต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐ และที่สำคัญยังทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ร้ายในเศรษฐกิจโลกอีกด้วย เมื่อบรรดาประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กันถ้วนหน้า อันเป็นผลจากการที่ค่าเงินแข็งค่าของแต่ละประเทศขึ้นรุนแรงเมื่อเทียบกับ เงินเหรียญสหรัฐ

โดยเฉพาะทวีปเอเชียที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด ทั้งจากค่าเงินที่แข็งขึ้น และกระแสทุนที่ไหลออกจากสหรัฐเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น จนเกิดกระแสประณามสหรัฐว่ากำลังก่อสงครามค่าเงินขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการล้างแค้นจีนที่ใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่า ความเป็นจริงมาโดยตลอด

และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การออกมาตรการกระตุ้นของเฟดครั้ง ต่อจากนั้น คือ โอเปอเรชัน ทวิสต์ ต้องหลีกเลี่ยงการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมออกมากว้านซื้อพันบัตรระยะยาวโดยตรง แต่ใช้วิธีเลี่ยงด้วยการปล่อยขายพันธบัตรระยะสั้นมาแทน

แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าเฟดจะพิมพ์ธนบัตรออกมามากเพียงใด มาตรการกระตุ้นของเฟดที่ผ่านๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2551 ก็ช่วยเศรษฐกิจสหรัฐได้เพียงชั่วครั้งชั่วยามเท่านั้น

โดยที่ไม่ได้พลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ในระยะยาวแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เป็นช่วง 3 ปี ที่สหรัฐยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงอยู่

เป็นช่วง 3 ปี ที่ภาคธุรกิจยังซบเซา และคนก็ยังไม่กล้าใช้เงิน หรือไม่มีเงินใช้มือเติบเหมือนวันวาน

ยิ่งไปกว่านั้น การส่งสัญญาณของเฟดในครั้งนี้ที่จะนำมาตรการคิวอี 3 ออกมาใช้นั้น กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักด้วยว่าก็เป็นเพียงยุทธศาสตร์ช่วยหาเสียงให้กับ ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้นเอง

และที่เลวร้ายยิ่งกว่า ทั้งคิวอี 1 คิวอี 2 และโอเปอเรชัน ทวิสต์ ยังถูกโจมตีจากฝ่ายรีพับลิกัน ว่าเป็นหลักฐานสำคัญถึงความล้มเหลวของเฟดและรัฐบาลโอบามาต่อการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจชาติอย่างแท้จริง

กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงในเวลานี้ก็คือ เฟดจะงัดมาตรการคิวอีออกมาใช้อย่างแน่นอน โดยในหนนี้จะพุ่งไปที่การกว้านซื้อพันธบัตรอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาอยู่ ซึ่งการเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวจะช่วยกดให้ดอกเบี้ยในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ต่ำลงมากไปอีก เพื่อสร้างแรงจูงใจ กระตุ้น และฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของชาติ

ดังนั้น สิ่งที่โลกจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ เฟดจะใช้วิธีใดต่อการเข้าซื้อในครั้งนี้ ว่าจะเป็นวิธีปั๊มเงินเข้าซื้อโดยตรง หรือจะใช้วิธีเลี่ยงอย่างมาตรการโอเปอเรชัน ทวิสต์

ซึ่งหากเป็นวิธีแรก โลกก็อาจจะต้องรับมือกับความยากลำบากซ้ำซ้อน ที่สภาวะเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าจะกลับมาหลอกหลอนกันอีกครั้ง ในช่วงที่สภาวะตลาดยุโรปกำลังฟุบตัวอย่างหนัก และสหรัฐเองก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่

ก็ต้องเตือนกันว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ไม่ว่าจะจีน หรือชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดไปจนถึงญี่ปุ่น อาจจะต้องเจอกับงานหนักเพิ่มขึ้นเป็น2 เท่าในปีนี้


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โลกรับมือ วิกฤตปั๊มดอลลาร์ เศรษฐกิจลุงแซม เข็นไม่ขึ้น

view