สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนประกันน้ำท่วม ยิ่งใหญ่ยิ่งยุ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ท่ามกลางความระทึกขวัญของประชาชนว่า ในปีนี้จะเจอเหตุการณ์น้ำท่วมแห่งชาติอีกหรือไม่ เพราะหลายหน่วยงานที่น่าเชื่อถือออกมากล่าวว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมในปีนี้มีสูงมาก

เสียงเตือนที่มาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถืออย่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมิทธ ธรรมสโรช ปราโมทย์ ไม้กลัด สองกรรมการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)ว่าน้ำจะท่วม

แถมใน กยน.เองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันหนักในเรื่องการทำแผนป้องกันน้ำท่วม ที่เริ่มมีปัญหาทุกคนเริ่มถอยตัวออกไป เนื่องจากไม่มีแผนแก้ไขที่เป็นรูปธรรม มีเพียงการของบประมาณไว้ว่าจะใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น

เมื่อแผนคือไม่มีแผน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทรับประกันภัยต่อต่างชาติก็ยังปฏิเสธที่จะรับประกันภัยธรรมชาติจากไทย หรือจะรับก็ขอขึ้นเบี้ยประกันสูงมาก ซึ่งเป็นการ “ปฏิเสธอย่างสุภาพ” นั่นเอง

นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ข้ามชาตินั้นมีเงื่อนไขระบุในการลงทุนว่า หากไม่มีการรับประกันก็จะไม่มีการลงทุน

ฉะนั้น รัฐบาลก็เริ่มเข้าตาจน ทางออกที่จะมีการนำมาใช้ก็คือ การเปลี่ยนเงื่อนไขการตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)กู้เงินประเดิมตั้งกองทุนจำนวน 5 หมื่นล้านบาท

เดิมกองทุนประกันภัยธรรมชาตินี้ จะตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือรับประกันภัยให้กับบ้านเรือนประชาชน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

แต่เมื่อปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็สั่งให้เปลี่ยนเงื่อนไขการรับประกันภัยใหม่ ให้รับประกันภัยรายใหญ่ด้วย

เงื่อนไขของกองทุนล่าสุดที่ได้หารือกันนั้น ได้ปรับวงเงินความคุ้มครองของเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 10 หรือ 15 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และอุตสาหกรรมเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย ส่วนกรณีครัวเรือนยังคุ้มครองไม่เกิน 1 แสนบาทเหมือนเดิม

ขณะที่การมีส่วนร่วมของบริษัทประกันภัย จะเปลี่ยนเป็นแบบโควตาแชร์ แบ่งความรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย โดยได้เสนอไปว่าบริษัทประกันภัยจะต้องรับไม่ต่ำกว่า 1% ซึ่งก็คือ 2,000 ล้านบาท แต่ถ้าปรับเป็น 5% วงเงินที่บริษัทประกันต้องใส่เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท

การปรับเงื่อนไขนี้ ว่ากันว่าเป็นเพราะทางภาคธุรกิจขนาดใหญ่วิ่งล็อบบี้ฝ่ายการเมือง เนื่องจากธนาคารเจ้าหนี้ที่ยื่นขอสินเชื่อโครงการไปไม่อนุมัติให้กู้ หากไม่มีบริษัทรับประกันภัยน้ำท่วมให้

เมื่อไร้ทางออกก็ต้องปรับเกณฑ์เงื่อนไขรับประกันเสียใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การขยายเพดานความคุ้มครองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งผลให้ทุนประกันต้องเพิ่มเป็น1 ล้านล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท

ยอมรับว่าเงินกองทุน 5 หมื่นล้านบาท ตามมติ ครม.ที่เป็นต้นทุนการรับประกันภัยต่อ ก่อนส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ(รีอินชัวเรอร์) อาจไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเงินกองทุน

ประเด็นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวและน่าเป็นห่วง เพราะหากรับประกันรายใหญ่มาก หากเกิดเหตุน้ำท่วมจริง แค่รายใหญ่ขอเคลมประกันไม่กี่รายเงินกองทุนก็จะหมด

ขณะนี้กองทุนประกันภัยอยู่ระหว่างการออกแบบกรมธรรม์ภัยน้ำท่วม โดยจะพยายามคิดค่าเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมไม่เกิน 5% ของวงเงินคุ้มครอง เพราะขณะนี้บริษัทประกันภัยคิดค่าเบี้ยประกันน้ำท่วมสูงถึง 16% ของวงเงินคุ้มครอง

นอกจากนี้ ตรงส่วนที่ให้โควตาแชร์ที่จะให้บริษัทประกันภัยในประเทศรับภาระเพิ่มขึ้น เป็น 1% ของวงเงินเอาประกันทั้งหมด จะมีปัญหาแน่นอน

ตัวอย่างคือ ถ้ากรมธรรม์ทั้งหมดมี 1 แสนล้านบาท 1% ก็คือ 1,000ล้านบาท ถ้า 5 แสนล้านบาท ก็จะต้องจ่ายเบี้ย 5,000 ล้านบาทและขยายเป็น 1 ล้านล้านบาท ก็จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าไป 1 หมื่นล้านบาท

ดูที่ฝ่ายรัฐพูดเหมือนจะง่าย แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายเลย ที่กล่าวว่าการให้เอกชนรับแชร์ความเสียหายมากขึ้นนั้น เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัยของไทยมีขนาดเล็ก มีเงินกองทุนจำกัดไม่สามารถขยายเพิ่มได้มาก

เห็นได้จากการที่ คปภ.ได้ผ่อนผันการตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์น้ำท่วมให้แก่บริษัท ประกันภัยที่มีการทำประกันภัยต่อไปยังต่างประเทศ ให้ตั้งสำรองเพียง 40% ของค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมทั้งหมดใน 6 เดือนแรกของปี 2555 ไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม 100% หลังจากนั้นเดือนที่ 7 จะต้องตั้งสำรองสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์น้ำท่วมเต็ม 100% ส่วนบริษัทประกันภัยที่ไม่มีการทำประกันภัยต่อ จะต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ทันที ไม่ได้รับการผ่อนผัน

นอกจากนี้ งดเว้นการตั้งสำรองความเสี่ยงกรณีบริษัทประกันภัยต่อไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหม ทดแทน ซึ่งต้องตั้งสำรอง 2% ของสินไหมที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามประเภทความเสี่ยง ซึ่งครั้งนี้มีสินไหมทดแทนจากน้ำท่วมประมาณ 2 แสนล้านบาท ถ้าตั้งสำรอง 2% จะเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ได้งดเว้นให้เป็นการชั่วคราว

การให้งดเว้นเช่นนี้ แสดงว่าคปภ.ก็รู้ดีถึงฐานะบริษัทประกันภัยไทยว่ารับไหวหรือไม่

เมื่อบริษัทประกันภัยรับภาระไม่ไหว แรงสะท้อนก็จะดีดกลับมาที่ภาครัฐ ที่อาจจะต้องควักเงินเพิ่มใส่กองทุนเข้ามาอีก ให้เพียงพอกับความต้องการทำประกันของเอกชน

ปัญหาคือ หากรัฐยิ่งขยายกองทุนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับเป็นการสะท้อนความล้มเหลวในการวางแผนรับมือปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น เท่านั้น เท่ากับว่าไม่มีใครยอมรับประกันภัยน้ำท่วมในไทย

และเป็นการย้ำว่า รัฐบาลไร้แผนรับมือน้ำท่วม และต่างชาติไม่เชื่อถือผู้นำของไทย ที่ได้ไปเสนอแผนป้องกันน้ำท่วมในเวทีการประชุมระดับโลกและที่ออกไปโรดโชว์ เพื่อพบนักลงทุน

ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลลำบากแน่ เพราะเอกชนบอกว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหานี้ให้ได้ภายใน 3 เดือน รับรองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะแย่ เพราะการลงทุนปีนี้จะหดหาย การจ้างงานจะมีปัญหาตามมาในที่สุด


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : กองทุนประกันน้ำท่วม ยิ่งใหญ่ยิ่งยุ่ง

view