สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไมจึงมีศาลรัฐธรรมนูญ

ทำไมจึงมีศาลรัฐธรรมนูญ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พระราชกำหนด จำนวนสี่ฉบับที่เกี่ยวกับการกู้เงิน การช่วยเหลือทางการเงิน การตั้งกองทุนประกันภัยและการจัดการกับหนี้เงินกู้ ที่รัฐบาลตราออกใช้
ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที 27 มกราคม 2555 และมีข่าวว่าสมาชิกสภาบางส่วน ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาว่าพระราชกำหนดบางฉบับไม่เป็นไปตามมาตรา 184 เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย                        
 

การวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ ส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างไร บางส่วนเข้าใจว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องเฉพาะกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเท่านั้น ไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับประชาชนแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้จัดโครงการเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนในต่างจังหวัด เรื่องบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับประชาชน ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ที่ผ่านมาก็ไปจัดโครงการที่จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับประชาชน” มีการบรรยายหัวข้อ “เรื่องเล่าจากศาลรัฐธรรมนูญ” โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ “กฎหมายที่น่ารู้” โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครราชสีมา และ “รัฐธรรมนูญที่ประชาชนควรรู้” โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สี่ท่าน ในการบรรยายหัวข้อ เรื่องเล่าจากศาลรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่ประชาชนควรรู้และคำถามของผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายและคำตอบจากผู้บรรยาย มีประเด็นที่น่ารู้และน่าสนใจ คือ
 

การกำเนิดของศาลรัฐธรรมนูญศาลแรกในโลก มาจากหลักการของประเทศที่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายหรือการดำเนินการของรัฐหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยก็คือศาลที่พิจารณาคดีนั้น แต่เนื่องจากศาลที่พิจารณาคดีมีหลายศาลและมีหลายชั้น การวินิจฉัยอาจไม่เป็นเอกภาพและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้มีความคิดจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้โดยตรงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรีย ต่อมาประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายอีกหลายประเทศก็ได้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามมาอีกหลายประเทศ แต่ก็มีหลายประเทศที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญโดยให้ศาลสูงเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย
 

การกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เริ่มต้นมาจากปัญหาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยตรากฎหมายอาชญากรสงครามเอาผิดกับผู้บริหารประเทศที่นำประเทศเข้าร่วมทำสงคราม ฐานเป็นอาชญากรสงคราม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ เพราะเป็นกฎหมายเอาผิดย้อนหลังขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการโต้แย้งว่าอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยควรเป็นอำนาจของรัฐสภา เพื่อยุติปัญหาข้อโต้แย้งดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจัดตั้งขึ้นในรูปของคณะกรรมการเรียกว่า คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ จนต่อมาเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงได้จัดตั้งเป็นศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็ยังคงให้มีศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดิม แต่ลดจำนวนตุลาการจากเดิมที่มี 15 คน เหลือ 9 คน
 

การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญช่วงที่ผ่านมา ในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวว่ามีใบสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีบางเรื่องตามที่กำหนดไว้ หรือกล่าวหาว่าวินิจฉัยคดีสองมาตรฐาน ในเรื่องนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการที่เป็นวิทยากรยืนยันหนักแน่นต่อผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายว่า ไม่เคยมีใบสั่งและเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครกล้าและสามารถออกใบสั่งได้ เพราะการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญกระทำโดยองค์คณะซึ่งต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ละคนมีอิสระในการทำความเห็น คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละท่านจะต้องเปิดเผยในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ส่วนการกล่าวหาว่าสองมาตรฐานนั้น จะต้องเป็นกรณีที่เป็นคดีจากฐานกฎหมายเดียวกัน ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งการกระทำ วัน เวลา สถานที่ ต้องเหมือนกันหรือคล้ายใกล้เคียงกัน แต่ตัดสินคนละอย่าง จึงสามารถกล่าวหาได้ว่า สองมาตรฐาน แต่คดีที่ผ่านมาไม่มีคดีใดที่เป็นคดีจากฐานกฎหมายเดียวกัน ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งการกระทำ วัน เวลา สถานที่ เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน แล้วถูกตัดสินคนละอย่างเลย ข้อกล่าวหานี้จึงไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง
 

คดีที่เข้าสู่การพิจารณาตาม อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคดีทั้งหมด เป็นคดีที่ต้องพิจารณาตัดสินว่ากฎหมายที่จะออกใช้บังคับหรือที่ออกใช้บังคับแล้วขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องพิจารณาวินิจฉัยส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือคุณสมบัติและการดำเนินการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นไปตาม หรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่และอื่นๆ
 

รัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนมาก กฎหมายฉบับใดกระทบสิทธิของประชาชนโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็ไม่สามารถใช้บังคับได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามามีบทบาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดสำหรับกรณีที่เกิดเป็นคดีความในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร  หากคู่กรณีเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจโต้แย้งและขอให้ศาลส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ตัวอย่างเช่น คดีที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดสระบุรี
 

คดีนี้ผู้ร้องเป็นผู้ประกอบกิจการร้านขายข้าวต้มในจังหวัดสระบุรี ถูกจับและถูกฟ้องในข้อหาขายอาหารและเครื่องดื่มในเวลาห้ามขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 45 ลงวันที่ 17 มกราคม 2515 ผู้ร้องโต้แย้งว่าประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
 

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12/2552 โดยมีความเห็นตอนหนึ่งสรุปได้ว่าประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เกินความจำเป็น และกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนในการประกอบอาชีพ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 มีผลให้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ไม่อาจใช้บังคับได้
 

สำหรับการยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น เป็นไปตามมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจสรุปได้คือ เมื่อประธานสภาได้รับเรื่องจากสมาชิกสภา ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในสามวัน ระหว่างนั้นสภาต้องหยุดการพิจารณาให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง โดยต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมด พระราชกำหนดนั้นก็ไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ทำไมจึงมีศาลรัฐธรรมนูญ

view