สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรก.โอนหนี้ร้อนๆ ธนาคารสะท้านแบงก์รับสะเทือน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท จะมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่การที่ สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ พ.ร.ก.โอนหนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลที่ต้องเดินหน้าตามกฎหมายกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะยังไม่มีใครกล้าเดินหน้าใช้กฎหมายเต็มตัว

แม้แต่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังออกมาแพลม ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับตีความ พ.ร.ก.การดำเนินการต่างๆ ของ ธปท. ที่จะเรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์ คงต้องหยุดรอจนกว่าศาลจะมีการตัดสินเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน

จะว่าไปแล้วการที่รัฐบาลนำเรื่องการออก พ.ร.ก.โอนหนี้มากวนรวมกับ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขน้ำท่วม เพื่อหลอมให้เป็นเรื่องเดียวกัน และมีความจำเป็นต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน ถูกมองว่าเป็นการทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

ที่สำคัญแทนที่รัฐบาลจะใช้เวลาที่เหลือน้อยนั้นทุ่มเทไปกับการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมจริงๆ แต่ต้องมายุ่งกับการแก้ต่าง พ.ร.ก.โอนหนี้เจ้าปัญหา จนอาจกลายเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย

หากไล่เรียงตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ พ.ร.ก.โอนหนี้ ตั้งแต่ต้นปี ก็เป็นเรื่องร้อนลุกเป็นไฟ เมื่อมีบางมาตราของกฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลไปล้วงเงินคงคลังมาใช้หนี้ จนได้รับเสียงต้านจากทุกสารทิศ

ผลสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องยอมถอยตัดเนื้อกฎหมายในส่วนที่ให้อำนาจตัวเองไป ล้วงเงินคลังหลวงมาใช้หนี้ แต่การยอมถอยก็ยังไม่พ้นถูกจองกฐินตีความกฎหมายให้เป็นโมฆะ

ปมสำคัญที่ สส.ฝ่ายค้านและ สว. รุมยำให้ พ.ร.ก.ตกเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นเร่งด่วน

ยิ่งรัฐบาลอ้างว่า การออก พ.ร.ก.โอนหนี้ “เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้” ยิ่งเป็นจุดอ่อนมัดตัวเอง ว่า จริงๆ แล้ว การออก พ.ร.ก.โอนหนี้ “หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงหรือไม่”

นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญว่า หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ที่โอนให้ ธปท.หาเงินใช้ต้นใช้ดอกเบี้ยเป็นหนี้รวมอยู่ในหนี้สาธารณะของประเทศทั้งหมด 4.2 ล้านล้านบาท

ถ้าหากมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้หนี้ของประเทศจริงๆ ทำไมต้องเป็นส่วนแค่ 1.14 ล้านล้านบาท ทำไมไม่ใช่หนี้ภาพรวมทั้งก้อนของประเทศ และทำไมหนี้ของประเทศส่วนที่เหลือ 3 ล้านล้านบาท ที่มีจำนวนมากกว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ถึง 3 เท่า ถึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งๆ ที่หากดูจากจำนวนหนี้สาธารณะที่รัฐบาลสอยออกมาแล้ว หนี้จำนวนหลัง 3 ล้านล้านบาท น่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้มากกว่าหนี้ของกองทุน ฟื้นฟูฯ เพราะเป็นภาระงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยใช้เงินต้นมากกว่า ลำพังแค่ชี้แจงหลักการก็เห็นท่ารัฐบาลต้องออกแรงจนหืดจับ

นี่ยังไม่รวมกับการที่ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ออกมาไขข้อมูลลับว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงกับ ครม. ว่าจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.โอนหนี้ เพราะเพดานชำระหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 12% จะชนเพดาน 15% ของงบประมาณรายจ่ายซึ่งไม่ตรงกับความจริง

เพราะปีงบประมาณ 2555 สัดส่วนชำระหนี้ต่องบประมาณมีอยู่แค่ 9.33% เท่านั้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.โอนหนี้อีกต่อไป เงื่อนปมต่างๆ ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว แต่สะเทือนรัฐบาลจนนั่งไม่ติดต้องลุ้นระทึก รวมถึงต้องระดมสมองหาแผนสองรองรับหาก พ.ร.ก.มีอันเป็นไป

นอกจากนี้ ในแง่ของการบังคับใช้ พ.ร.ก.โอนหนี้ก็วุ่นวายอลหม่าน ฝุ่นตลบ ไม่แพ้การลุ้นว่าร่าง พ.ร.ก.จะผ่านหรือว่าจะร่วงแล้วการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านบาท ให้ ธปท. รับผิดชอบในการเก็บค่าต๋งแบงก์พาณิชย์มาใช้หนี้ ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดานายธนาคารเป็นอย่างมาก

ท่าทีที่ชัดเจนที่สุด คือ การออกแถลงการณ์ของสมาคมธนาคารไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มจาก 0.4% ของฐานเงินฝาก ที่จ่ายให้กับกองทุนคุ้มครองเงินฝาก

แถลงการณ์ของสมาคมธนาคารไทย ชี้ความไม่ชอบธรรมที่สำคัญ 2 ประเด็น

หนึ่ง ทำไมกฎหมายต้องให้ธนาคารพาณิชย์มารับผิดชอบใช้หนี้คนเดียว ทั้งๆ ที่เป็นหนี้ของรัฐของคนทั้งประเทศ

สอง การทำเช่นนี้ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม ธนาคารพาณิชย์เสียเปรียบธนาคารรัฐที่ไม่ต้องถูกเก็บค่าต๋ง และรัฐบาลยังรับประกันเงินฝาก 100% ต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่จะเหลือการรับประกันเงินฝากแค่ 1 ล้านบาท ในเดือน ส.ค. 2555

บรรดานายธนาคารพาณิชย์จึงส่งสัญญาณไม่ยอมรับถึงขนาด หากถูกเก็บเงินค่าต๋งเพิ่ม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโอนภาระไปให้กับลูกค้าของธนาคาร

แน่นอนว่า หนีไม่พ้นผู้ฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยน้อยลง หรือผู้กู้เงินต้องเสียดอกเพิ่มขึ้น

แม้แต่ ธปท. ก็เห็นพ้องกับธนาคารพาณิชย์ ถึงขั้นเสนอให้รัฐบาลเก็บค่าต๋งจากธนาคารของรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดระบบสองมาตรฐาน

แต่ฟากของกระทรวงการคลังดูเหมือนจะอยู่คนละมุมกับ ธนาคารพาณิชย์ และ ธปท. เพราะแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เก็บค่าต๋งธนาคารรัฐไปใช้หนี้ โดยอ้างว่าการเก็บเงินค่าต๋งธนาคารพาณิชย์ไม่สะเทือนฐานะที่มีกำไรทั้งระบบ ถึง 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ประเด็นแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อรายใหญ่แข่งกับธนาคารพาณิชย์ ก็ถูกหักล้างจากข้าราชการกระทรวงการคลัง ว่าที่ผ่านมามีธนาคารออมสินเท่านั้นที่ปล่อยกู้รายใหญ่ แต่สัดส่วนก็ถือว่าน้อยมาก เพราะมีเพียง 6-7 หมื่นล้านบาท จากยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ตัวเลขดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับการปล่อยกู้รายใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ เพราะเทียบกันไม่ติด

เพราะถ้าพิจารณาจากข้อมูลของนายธนาคารพาณิชย์ ที่ระบุว่าธนาคารของรัฐมีอัตราการเติบโตของเงินฝากกว่า 30% จากเดิมที่ขยายตัวแค่ 10% นั้น ความจริงต้องยอมรับว่าเกิดจากกฎหมายประกันเงินฝากที่ลดการค้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีประการหนึ่ง

ประการต่อมา ใช่หรือไม่ที่ในช่วงท้ายปีธนาคารพาณิชย์มักจะเล่นบทไล่เงินฝากออกไปจากอ้อม กอด เพื่อลดภาระการจ่ายเงินสมทบอยู่ตลอด ความจริงเหล่านี้ปรากฏให้เห็นร่องรอยอยู่ตลอดในระยะที่ผ่านมา

แต่พอมีการการเก็บค่าต๋งเพิ่ม นายธนาคารก็เริ่มชี้โพรงลงไปในคู่แข่งที่ไม่โดนรีด ทั้งๆ ที่ธนาคารที่ไม่โดนรีดนั้นไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเรียกเก็บเงินสมทบเข้า กองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมาย

ไม่ว่าธนาคารเหล่านั้นจะล้มหรือจะพัง เงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะไม่ถูกดึงมาจ่ายให้กับผู้ฝากเงิน แต่ผู้ถือหุ้นที่เป็น “รัฐ” คือผู้รับผิดชอบเต็มๆ ไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการดูแล

นี่คือความต่างที่ไม่มีการพูดถึง

การออกมาโต้เถียงหักล้างกันระหว่างธนาคารพาณิชย์กับธนาคารรัฐ รวมถึง ธปท.กับคลัง ทำให้วันนี้ยังสรุปไม่ได้ว่า สุดท้ายจะต้องเก็บเงินค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์เท่าไร เป็นเวลานานกี่ปี และจะมีกลไกอะไรให้มั่นใจได้ว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ผลักภาระไปให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการธุรกิจสถาบันการเงิน ของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ที่คลังก็ออกมายอมรับแล้วว่า เป็นจริงตามที่ธนาคารพาณิชย์ และ ธปท.กังวล จึงจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบแก่กัน

เพราะถึงวันนี้ รัฐบาลต้องยอมรับว่าการใช้อำนาจรวบรัดออก พ.ร.ก.โอนหนี้ โดยที่ไม่ปรึกษาส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนทั้งในหลักการและแนวทางปฏิบัติก่อน ทำให้เรื่องอลหม่านและบานปลายอย่างที่เห็นทุกวันนี้

หาก พ.ร.ก.โอนหนี้ไม่ผ่านรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ถึงจะทนอยู่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่ก็ไม่สมศักดิ์ศรีไม่สง่างาม

แต่หาก พ.ร.ก.ผ่านพ้นบ่วงกรรมออกมามีผลบังคับได้สมบูรณ์ การเดินหน้าในทางปฏิบัติ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องชี้แจงให้กับทุกฝ่ายเข้าใจ และได้ดีมีเหตุผลกว่าที่ผ่านมา

อาทิ การเก็บเงินค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มจาก 0.4% ที่เก็บอยู่ปัจจุบัน ไม่กระทบฐานะธนาคารเพราะส่วนที่เก็บเพิ่มเท่ากับที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายภาษี น้อยลง จากการที่รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลให้จาก 30% เหลือ 23% ก็อาจจะมีคำถามย้อนหารัฐบาลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ควรลดภาษีนิติบุคคล เพื่อที่จะได้เก็บภาษีมาใช้หนี้ ไม่ต้องไปเก็บเงินค่าต๋งเพิ่มขึ้นให้มีปัญหา

นอกจากนี้ ระยะเวลาที่ต้องเก็บเงินค่าต๋งจากธนาคารกี่ปี 20 ปี หรือ 30 ปี และจะมีกลไกดูแลอย่างไรไม่ให้มีการผลักภาระให้กับประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่า ธปท. หรือคลัง ได้แต่พูดว่า จะดูแลไม่ให้กระทบ แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

หรือว่าจะเป็นการดูแลการแข่งขันในระบบไม่ให้ธนาคารรัฐได้เปรียบธนาคาร พาณิชย์ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรที่จะไม่เป็นการบอนไซธนาคารของรัฐในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียเปรียบมากขึ้นทุกวัน

ทั้งหมดไม่สามารถขอทำไปที เอาตัวรอดไปตายเอาดาบหน้าไปก่อน เพราะการทำเช่นนั้นสะเทือนทั้งรัฐบาล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็จะป่วนตลาดและธนาคารรัฐอาจจะหนีไม่รอด ถูกดึงมาช่วยใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ทางตรง คือโดนเก็บค่าต๋งเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ หรือทางอ้อม คือโดนถูกจำกัดให้รับเงินฝากและปล่อยสินเชื่อ สุดท้ายประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เป็นผู้รับกรรม


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พรก.โอนหนี้ร้อนๆ ธนาคารสะท้าน แบงก์รับสะเทือน

view