สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

112 เกาไม่ถูกที่คัน เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา

จาก โพสต์ทูเดย์

 "ผมไม่ได้หมายความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลง สถาบันทุกสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพียงแต่เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย"

โดย..ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
         
"มาตรา 112" ที่คณาจารย์นิติราษฎร์จุดพลุเป็นข้อเสนอเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ร้อนเกิน ความคาดหมาย เกิดฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านเขย่าสังคมไทย ลามไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นพื้นที่สงครามความคิดจนอธิการบดีมี มติห้ามเคลื่อนไหวมาตรา 112 ในรั้วแม่โดม จนมีการประท้วงโดยการวางหรีดต่อต้านกันวุ่นวาย
         
ข้อเสนอแก้ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มองกันสองมุมสุดขั้ว ฝ่ายนิติราษฎร์บอกนี่เป็นข้อเสนอเพื่อพิทักษ์สถาบันในระยะยาว อีกฝ่ายเห็นว่า การแก้ 112 เท่ากับบ่อนเซาะทำลายสถาบัน บรรยากาศการเผชิญหน้าไปไกลถึงใช้อารมณ์ละเลยต่อการวิพากษ์เนื้อหาเหตุผล

สมคิด เลิศไพฑูรย์

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกสถานะคือ อดีตเลขากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผู้ตกเป็นเป้าเพราะอยู่ฝั่งตรงข้ามความคิด "นิติราษฎร์" วิเคราะห์ข้อเสนอแก้มาตรา 112 และประเด็นต่อเนื่องที่ตามมาของคณะนิติราษฎร์
         
ก่อนเริ่มเนื้อหาก็กระเซ้าว่า ข้อความในเฟซบุ๊กที่เจ้าตัวเขียน "นิติราษฎร์กู่ไม่กลับแล้ว"หมายความว่ายังไง?
         
"ที่ เขียนเพราะมีคนถามผม จะเตือนนิติราษฎร์บ้างไหม ก็เลยบอกว่า กู่ไม่กลับ จะไปเตือนเขาได้อย่างไร เขาไปขนาดนั้นแล้ว ไม่ใช่กู่ไม่กลับเพราะเนื้อหาเขาไม่ดี ความจริง มาตรา 112 มีความเห็นทางวิชาการเยอะ คนวิจารณ์นิติราษฎร์ก็ไม่ค่อยวิจารณ์เนื้อหา แต่วิจารณ์ท่าที พูดเรื่องเนรคุณซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าการที่นิติราษฎร์เสนอมาตรา 112 เป็นเสรีภาพที่จะทำได้"

ย้อนกลับไปดูข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ มีเนื้อหาโดยสรุป 7 ข้อ
         
1.ให้ ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร2.เพิ่มหมวด ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับ ตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปี สำหรับพระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
         
5.เพิ่ม เหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต 6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงและการพิสูจน์ นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น
         
สม คิด วิพากษ์ว่า สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอมีหลายเรื่อง เช่น การย้ายหมวดพระมหากษัตริย์ การลดโทษลงมา การให้สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะ มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหาในเชิงบทบัญญัติอย่างที่นิติราษฎร์ระบุ แต่เป็นปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงโทษที่แรงเกินไป เมื่อเทียบกับมาตรฐานโทษอื่น 3-15 ปี
        
 "สำหรับบทบัญญัติว่า ด้วยการหมิ่นประมาทในระบบกฎหมายไทย มีคน 3-4 กลุ่ม ที่กฎหมายวางไว้ หมิ่นประมาทคนธรรมดา หมิ่นประมาทข้าราชการ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาทไทย และหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศแต่นิติราษฎร์แก้เรื่องเดียว ซึ่งเป็นข้ออ่อนของนิติราษฎร์ คนถึงวิจารณ์ว่า ทำไมต้องไปแก้ลดโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย แต่ไม่เสนอแก้ลดโทษหมิ่นประมาทประมุขของต่างประเทศ ซึ่งมีโทษสูงเช่นกัน"
         
สม คิด ตั้งคำถามว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คนที่ถูกลงโทษตามมาตรา 112 ได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่ หลักการคือ ในทางวิชาการเวลาเราหมิ่นประมาทใคร ต้องมีเจตนา คือ ต้องการให้เสื่อมเสีย แต่ถ้าหมิ่นประมาทเพื่อหวังดี ในทางกฎหมายถือว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ในระบบกฎหมายไทยศาลก็ใช้ "เจตนา" มาบังคับตลอด แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนั้น เรื่องใดที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาตรา 112 จึงถูกใช้บังคับโดยไม่คำนึงถึงเจตนา ทำให้มีคนที่ถูกลงโทษตามมาตรา112 จำนวนมาก

"ผมยกตัวอย่าง มี 2 เรื่อง 1.กรณีคุณวีระมุสิกพงศ์ ที่พูดเปรียบเปรยบางอย่าง ซึ่งนักกฎหมายถือว่าคุณวีระไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่มีคนไป แจ้งความ ตำรวจก็ต้องรับ มิฉะนั้นตำรวจก็ถูกกล่าวหาว่าไม่หวังดีต่อพระมหากษัตริย์ อัยการก็ต้องส่งฟ้อง ศาลก็ต้องตัดสิน 2.คดีคุณสนธิลิ้มทองกุล ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี คุณสนธิเอาคำของคนที่หมิ่นประมาทมาเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ถามว่า คุณสนธิมีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ ก็ไม่มี ตำรวจต้องไม่รับแจ้งความ อัยการต้องไม่ส่งฟ้องศาล ศาลต้องไม่ตัดสินว่าผิด นี่คือหลักของ มาตรา 112"
         
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ตามมาตรา 112 มีบางคนที่หมิ่นประมาทจริง และไม่ได้หมิ่นประมาทด้วย แต่ทุกวันนี้เนื่องจากการบังคับใช้การตีความทางกฎหมายของคนในกระบวนการ ยุติธรรมไม่เอาเจตนามาจับ จึงเกิดปัญหาขึ้น
         
"ข้อ เสนอของนิติราษฎร์ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นคนฟ้องแทนและลดโทษลงมา ผมไม่แน่ใจว่าถ้าแก้แล้วจะนำไปสู่อะไร แต่ก็คิดว่ามันก็จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เหมาะสมหรือเกินเลยก็ได้ ผมเลยคิดว่าทำไมไม่แก้ปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายให้ชัดขึ้น"
         
จุด อ่อนของนิติราษฎร์ที่สมคิดมองอีกเรื่องคือการแก้ไขมาตรา 112 ที่อ้างเหตุผลให้สถาบันกษัตริย์ไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล เขาว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดในโลก ไม่ว่า ภูฏานอังกฤษ ญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องเอามาตรฐานระบอบกษัตริย์ของประเทศหนึ่งมาใช้กับประเทศหนึ่ง
         
"ผม ไม่ได้หมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลงสถาบันทุก สถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพียง
        
แต่ เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย เราก็ยกตัวอย่างต่างประเทศเวลาเราไม่อยากเอาต่างประเทศ เราบอกว่า นี่เป็นระบบไทยๆ ตกลงเราใช้หลักอะไรกันแน่เราตามทุกประเทศได้จริงหรือ และจริงๆ ในโลกมีมาตรฐานเดียวหรือ นี่คือประเด็นใหญ่ของการแก้มาตรา 112 ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาในเชิงวิธีคิด"
        
แนวคิดของนิติ ราษฎร์ที่เสนอห้ามไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะหรือให้พระ มหากษัตริย์สาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ มีความก้าวหน้าแค่ไหน?..."นี่ก็ไม่ใช่มาตรฐานโลก อย่างในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์และเป็นต้นแบบของหลายประเทศ นายกฯ ต้องเข้าพบกษัตริย์และกษัตริย์มีอำนาจที่จะแนะนำนายกฯ ว่าต้องทำอย่างไร และกษัตริย์ต้องมาเปิดประชุมสภา
         
ถ้าไม่เสด็จ สภาก็เปิดไม่ได้ มีอีกหลายประเด็นเยอะแยะ ซึ่งมีข้อแตกต่างในสาระที่ไม่เหมือนกัน แต่ละประเทศมีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป
         
"ผมย้ำอีกที ว่า ไม่ใช่ว่ามาตรา 112 ไม่ควรเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามันถึงเวลามันก็ควรปรับปรุง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย ถ้าเราจะไปเปลี่ยนแปลงมันก็แก้ไม่ตรงจุด"
         
สมคิด ยังหยิบยกข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์ที่เห็นว่าเป็นปัญหา นั่นคือการปรับปรุงสถาบันศาล ที่เสนอว่าตุลาการศาลสูงต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา       

"ผมว่า เละเลยนะ ต่อไปสภาคือนักการเมืองจะคุมศาลได้ ผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาคนไหนที่เข้มแข็งก็จะถูกโหวตไม่เอามาเป็นประธานศาลฎีกา เอาคนที่อ่อนลงมาหน่อยก็ได้ สถาบันศาลที่ดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้ในสังคมไทย ก็เพราะศาลปลอดจากฝ่ายการเมือง แต่แน่นอนความคิดของนิติราษฎร์คือ ทุกสถาบันต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แน่นอนต่างประเทศเป็นอย่างนั้น แต่ระบบอย่างนี้ใช้ได้กับสังคมไทยหรือ นักการเมืองไทยกับนักการเมืองต่างประเทศได้มาตรฐานเดียวกันหรือ ถ้าศาลไทยต้องผ่านความเห็นชอบของสภา นักการเมืองก็จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อศาลไทย ก็มีคำถามว่า เราไม่เชื่อมั่นประชาชนหรือ เราเชื่อมั่นครับ แต่ถามว่าวันนี้เรามีสภาที่มีคุณภาพเพียงพอหรือเปล่าที่ยังทำหน้าที่นี้ได้ เราไว้ใจสภาผู้แทนราษฎรขนาดนั้นหรือไม่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย"
         
อีก ประเด็น ข้อเสนอให้มีระบบสภาเดี่ยวคือมีสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่มีวุฒิสภา สมคิดไม่เห็นด้วย โดยยกเหตุผลว่า ถ้ามีสภาเดียวแล้วดี ทำไมผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ2550 ถึงให้มี 2 สภา เพราะเขาคิดว่าสภาที่ 2 คือ วุฒิสภา ต้องมีเพื่อคานอำนาจสภาผู้แทนฯถ้ามีสภาผู้แทนฯ เพียงสภาเดียว จะไม่มีองค์กรไหนมาตรวจสอบสภาผู้แทนฯ ได้
         
"แน่ล่ะ มีตัวอย่างหลายประเทศที่ใช้สภาเดี่ยวแล้วประสบความสำเร็จ แต่มันก็เป็นประเทศของเขา จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยหรือไม่ คนละเรื่องนะครับ เพราะคุณภาพของสภาไทยกับสภานอกไม่เหมือนกัน ถามว่าทำไมเรามีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่ต่างประเทศไม่มี ผมไปเยอรมนีผมก็ถามเขาว่า เมืองไทยทุจริตเยอะ แล้วเยอรมนีป้องกันปัญหาทุจริตอย่างไร เขาบอกไม่ต้องป้องกันมาก เพราะคนเยอรมันไม่ทุจริตมันอาย ไม่ทำกัน
         
"ฉะนั้น ข้อเสนอนิติราษฎร์ดูดี ได้มาตรฐานอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี แต่ว่าสอดคล้องกับสังคมไทยหรือไม่ นี่เป็นปัญหามาก" ...
        
เช่น เดียวกับข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่นิติราษฎร์เสนอแต่แรก สมคิด บอกว่า เป็นเรื่องดี และนักวิชาการทุกคนก็ต้องเห็นด้วย แต่ข้อสังเกตคือ ทำไมไม่ลบล้างย้อนหลังไปถึงการรัฐประหารครั้งก่อนๆ เช่น สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) และที่นิติราษฎร์บอกว่าจะแก้มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาผลของการรัฐประหาร คำถามคือ จะแก้ได้จริงหรือไม่
         
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมี 2 ส่วน บทถาวรหลักกับบทเฉพาะกาล ในส่วนของบทเฉพาะกาลเมื่อใช้แล้วมันก็เลิกไปตามเวลาที่ผ่านไป วันนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผ่านไป 5 ปี บทเฉพาะกาลจึงไม่มีผลแล้ว ฉะนั้นจะมายกเลิกบทเฉพาะกาลในมาตรา 309 เพื่อให้มีผลย้อนหลังไป หลายคนจึงไม่เข้าใจว่าคืออะไร
         
อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การ ขับเคลื่อนแก้มาตรา112 ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าที่ขมึงเกลียวทั้งที่วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญ ที่ต้องแก้มากกว่ามาตรา 112 เช่น ปัญหาความยากจนของคนไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาทางกฎหมายอื่น การช่วยเหลือชาวบ้านที่ไปบุกรุกที่สาธารณะแล้วถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งมากกว่าคนที่โดนคดีหมิ่นฯ มาตรา 112 ปัญหาทุจริตของนักการเมือง ฯลฯ ทำไมไม่จับสาระตรงนี้
         

แต่ถึงแม้จะเห็นต่าง ทว่า สมคิด ก็ชื่นชมความกล้าหาญของคณาจารย์นิติราษฎร์ที่เสนอความเห็นแหลมคมที่ไม่มีใคร กล้ามาก่อน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางความคิด มีการโต้แย้งถกเถียงทางวิชาการ นำไปสู่ทางออกที่ดีในอนาคต
         
"การ จุดพลุของนิติราษฎร์เป็นข้อดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เพราะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่สังคมรับไม่ได้กับเรื่องบางเรื่อง เพราะวันนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ การจะแก้ไขมาตรา112 ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และหากจะเกิดการแก้ไขครั้งนี้ขึ้น ก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ว่า คนที่จะขอแก้ ต้องตอบโจทย์ก่อนว่า ทำไมต้องแก้".

 "ผมไม่ได้หมายความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลง สถาบันทุกสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตามสภาพการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพียงแต่เวลาเราอยากจะเอาต่างประเทศมาเพื่อแก้ปัญหาในไทย"

นิติราษฎร์ 'เพื่อน-น้อง-ลูกศิษย์-ผู้ช่วย'

กับคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า สนิทสนม มักคุ้น เพราะเคยอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ด้วยกันมาก่อน
         
7 คณาจารย์นิติราษฎร์ ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปิยบุตร แสงกนกกุล จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ธีระ สุธีวรางกูร ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ และสาวตรีสุขศรี ทั้งหมดเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2553 มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร สมคิดเล่าว่า บางคนเป็นเพื่อน บางคนเป็นลูกศิษย์ บางคนเคยเป็นผู้ช่วยเขา
        
 "อา จาย์วรเจตน์ ก็เป็นเพื่อน เขารุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ (หัวเราะ) อาจารย์ปิยบุตร เป็นทั้งลูกศิษย์และผู้ช่วยของผมเอง เขาก็ช่วยผมนานพอสมควรก็สนิทชิดเชื้อกัน ผมก็แนะนำเขา
        
 ตลอด ปิยบุตรก็ดีกับผมมาก เขาไม่เคยวิจารณ์หรืออะไรต่อกัน แต่ว่าธรรมศาสตร์เป็นอย่างนี้เขาจะเป็นลูกศิษย์ หรือเป็นใคร แต่เมื่อเขาเป็นอาจารย์เขาก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเสมอภาค เราจะไม่มาบอกว่า สมคิดเป็นอาจารย์ปิยบุตรมาก่อน ฉะนั้นสมคิดต้องเก่งกว่า ปิยบุตรปิยบุตรห้ามวิจารณ์อย่างนี้ ปิยบุตรสามารถเถียงกับสมคิดได้ แม้จะเคยเป็นลูกศิษย์มาก่อนก็ตามเขาอาจจะเก่งก็ได้ในบางเรื่อง เช่น 112 เขาอาจจะค้นไปสุดๆ รู้เรื่องมากกว่า เราก็ได้"
         
"ผมเพิ่ง กินข้าวกับปิยบุตรเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ก็แสดงความยินดีกับ ปิยบุตร ที่จบปริญญาเอกจากฝรั่งเศส เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอกในเรื่องส่วนตัว ถ้าใครจะค้นว่า ผมมีอคติกับวรเจตน์ หรือใครมีอคติต่อใคร ผมไม่เห็นด้วยนะแม้แต่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจารย์วรเจตน์ได้ทุนอานันทมหิดล แล้วเนรคุณต่อเจ้าของทุน ผมก็ไม่เห็นด้วยที่เราจะวิจารณ์กันอย่างนี้ เราต้องวิจารณ์เนื้อหาที่ อาจารย์วรเจตน์ หรืออาจารย์ปิยบุตรพูด
        
สมคิดเล่าต่อถึงความ สัมพันธ์กับสมาชิกนิติราษฎร์ "อาจารย์จันทจิรา ก็รู้จักตั้งแต่เป็นนักศึกษา เขาเป็นรุ่นพี่นิติศาสตร์ของผม อาจารย์ธีระก็รู้จักกันในภาควิชา เกือบทั้งหมดในนิติราษฎร์ อยู่ในภาควิชาเดียวกับผม คือ ภาควิชากฎหมายมหาชน ตั้งแต่อาจารย์วรเจตน์อาจารย์ธีระ อาจารย์ปิยบุตร อาจารย์จันทจิราสนิทสนมกัน สมัยก่อนก็กินข้าวด้วยกัน เดี๋ยวนี้ผมมาทำบริหาร เขาก็ไปเคลื่อนไหว ก็ไม่ค่อยได้เจอ แต่เราคุยกันได้ตลอด
        
"บาง เรื่องผมก็กริ๊งกร๊างหา ฟังคนนั้นคนนี้เมื่อ 2 ปี ผมก็โทร.ไปหาอาจารย์วรเจตน์ มีหนังสือพิมพ์ออกข่าวทำนองว่า อาจารย์วรเจตน์วิพากษ์วิจารณ์ผมว่า ผมไม่ยอมให้ใช้สถานที่อะไรต่างๆ ผมตรวจสอบ ผมก็โทร.ไปถามว่าอาจารย์วรเจตน์เรื่องนี้ไม่จริงนะ ผมไม่เคยไม่ให้ใช้สถานที่ อาจารย์วรเจตน์ก็บอกว่า ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ครับ หนังสือพิมพ์ลงไปเอง ก็กริ๊งกร๊างหากัน
         
"แม้แต่เรื่อง 112 เมื่อวาน (วันพุธที่ 1 ก.พ.)ผมก็โทร.ไปหาอาจารย์ปิยบุตรในฐานะเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มติธรรมศาสตร์เป็นอย่างนี้ คุณช่วยดูหน่อยว่า จะทำอย่างไรให้ภาพรวมของธรรมศาสตร์ออกมาดี อาจารย์ปิยบุตรก็บอกว่า ก็คงไปคุยกัน และก็ถามผมว่าจะขออนุญาตแถลงข่าวได้ไหม ก็พูดกันไปครับ"
         
สม คิดยืนยันว่าได้ให้เสรีภาพทางวิชาการกับนิติราษฎร์ แต่ช่วงหลังมีนักศึกษา เจ้าหน้าที่เป็นห่วงเรื่องการจัดเสวนามาตรา 112 ในธรรมศาสตร์มาก หลายคนติงอธิการบดีว่า ทำไมถึงยอมให้เขามาใช้ที่ธรรมศาสตร์จัดกิจกรรม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่รุนแรง ก็ตอบไปว่า เป็นเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นความหลากหลายในธรรมศาสตร์ แต่ถ้าเลยเถิดไปกว่านั้น จะถึงขนาดที่จะเป็นปัญหา ก็ต้องลงไปดูแล ซึ่งถ้านิติราษฎร์จะจัดอภิปรายเรื่องอื่นในธรรมศาสตร์ ก็ไม่ได้ห้ามอะไร
         
"ใน ระบบธรรมศาสตร์ ผมจะบอกว่า เอ้ยคุณหยุดพูดนะ ผมเป็นผู้บังคับบัญชาคุณ ถ้าที่อื่นเขาทำไปแล้ว ทหาร มหาดไทยเขาก็สั่งให้หยุดพูดแต่มหาลัยเรามีเสรีภาพทางวิชาการ อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกคนก็จริง แต่อธิการบดีก็ไม่สามารถสั่งให้คุณหยุดพูดได้ มันทำไม่ได้เพราะมหาลัยมีเสรีภาพทางวิชาการ"

ระวังวิกฤตรธน.

 

สถานการณ์ประเทศขณะนี้ ในทัศนะของสมคิด มองว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่น่าเป็นห่วง อาจเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เพราะไม่ได้ถกเถียงทางวิชาการ แต่ส่วนตัวก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ทุกอย่างมีทางออก ไม่มีทางที่จะอุดตัน
         
"หลายคนคิดว่าสังคม จะเปลี่ยนเร็ว มันไม่เร็วอย่างที่เราคิดหรอกครับ ถามว่า ผมอยากให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยไหม ผมอยากครับ และผมก็ไม่อยากเห็นทหารทำรัฐประหาร 19 ก.ย. ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะผมคิดว่าแม้รัฐประหารเมืองไทยทำง่ายแต่การ รักษาอำนาจไว้มันทำยาก แม้แต่วันนี้ก็มีคนพูดว่า อาจมีการทำรัฐประหารจากประเด็น 112 นะ ผมก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง"

สมคิด วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเปราะบางที่จะเกิดความขัดแย้งในปัจจุบันมี 3 เรื่อง คือ 1.มาตรา 112 2.การแก้รัฐธรรมนูญ และ 3.การแก้ พ.ร.บ.กลาโหม
         
เรื่อง รัฐธรรมนูญอยู่ที่เนื้อหาที่จะแก้ เช่นถ้าแก้บางเรื่องที่ไม่ใหญ่ก็ไม่ขัดแย้ง แต่ถ้าแก้มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ก็อาจเจอการเคลื่อนไหวต่อต้านได้ หรือแก้ไม่ให้มีวุฒิสภาสว.ก็อาจไม่ผ่านรัฐธรรมนูญให้ แต่มองว่าเหตุผลลึกๆ ที่รัฐบาลอยากแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมองค์กรอิสระเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่คุมเบ็ดเสร็จทั้ง สส. สว. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระบางส่วน เพราะวันนี้รัฐบาลยังคุมองคาพยพทั้งระบบไม่ได้ หลายคนจึงมองออกว่ารัฐบาลมองไกลไปที่การคุมกลไกอำนาจรัฐทั้งหมดของประเทศ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น
         
"รัฐบาลอย่าคิดว่าตัว เองมีเสียงข้างมากในสภา เพราะเสียงข้างมากไม่ได้เป็นจุดชี้ขาดเราเห็นมาแล้ว ตอนนายกฯ ทักษิณ มีเสียงข้างมาก ก็พ่ายแพ้ ใครจะคิดว่ากรณีไม่เสียภาษีซื้อขายหุ้นของคุณทักษิณจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว การแก้รัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกันจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ ถ้ารัฐบาลอ้างว่าฉันมาจากประชาธิปไตย ฉันกุมเสียงข้างมาก จะแก้อย่างไรก็ได้"
         
สมคิด เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะหลายเรื่องที่รัฐบาลบริหารประเทศมา 6 เดือนก็มีข้อดีที่ทำงานเร็ว มีประสิทธิภาพ


สมคิด เลิศไพฑูรย์ “คนธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์”

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ที่นำโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัญหาได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม กระทั่งล่าสุดที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกมติไม่ อนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในมหาวิทยาลัย
       
       แต่มติดังกล่าวก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มผู้สนับสนุนนิติ ราษฎร์เช่นกัน ขณะที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ปรากฏภาพความแตกแยกระหว่างฝ่ายที่ สนับสนุนและคัดค้านอย่างชัดเจน
       
       'ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์' จึงได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ 'ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์' อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออธิบายถึงปัญหาและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น??
       
       **ตอนนี้สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันถึงกรณีที่นิติราษฎร์ ใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่ในการเคลื่อนไหว เพื่อแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งล่าสุดที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ก็มีมติไม่ให้นิติราษฎร์ ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าว
       
       ผมขอเท้าความก่อนว่าธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง และการปกครองประเทศ และเรามีคำขวัญว่า “ ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะขึ้นเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เราก็ให้เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี ใช้สถานที่ได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาแต่ประการใด สำหรับกรณีของกลุ่มนิติราษฎร์นั้นจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เคลื่อนไหวเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นะ เขาเคลื่อนไหวหลายเรื่อง เช่น เรื่องการต่อต้านรัฐประหาร เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ตึกในธรรมศาสตร์ไม่ใช่อำนาจอธิการบดีนะ คืออธิการบดีก็อนุญาตได้ แต่โดยทั่วไปธรรมศาสตร์จะใช้ระบบกระจายอำนาจ ตึกที่นิติราษฎร์ใช้บ่อยๆคือห้อง LT1 ตึกนิติศาสตร์ ก็เป็นอำนาจของคณบดีนิติศาสตร์ ที่ผ่านมานิติราษฎร์ก็ขอใช้สถานที่ที่ธรรมศาสตร์ประมาณ 4-5 ครั้ง เราก็อนุญาตมาตลอด อาจมีการคุยกันบ้างว่าให้ควบคุมคนหน่อย ให้ดูแลหน่อย
       
       การเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ในฐานะที่ผมเป็นอธิการบดี ก็เห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นตรงกัน คนที่เห็นว่าควรแก้ก็มี คนที่เห็นว่าไม่ควรแก้ก็เยอะ ก็ถกเถียงกันทางวิชาการไป แต่ปัญหาคือมาใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์แล้วมันก็พัฒนาจากการใช้เสรีภาพทาง วิชาการเปลี่ยนไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น คือมันไม่ใช่การแถลงข่าว หรือสัมมนาทางวิชาการ มันมีการระดมคน มีการมาขายของ มันมีการกีดขวางทางเดิน ปิดถนน จนกระทั่งมีคนมาคัดค้าน ล่าสุดก็มีคนมาเผาหุ่นอาจารย์วรเจตน์ คือสถานการณ์มันได้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งทางความคิด เดิมทีมันเป็นความขัดแย้งทางความคิด บางฝ่ายเห็นด้วย บางฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งเรารับได้ แต่ความขัดแย้ง ณ ตอนนี้มันไม่ใช่ มันมีการต่อว่าต่อขาน ข่มขู่ คุกคาม มีการเผาหุ่น และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นทำอะไรกับธรรมศาสตร์ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น
       
       **แล้วทำไมที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยจึงมีมติไม่อนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112
       
       คือมติของคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วยคณาจารย์หลายฝ่าย ตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดีทุกคน คณบดีทุกคณะ ประธานสภาอาจารย์ ตัวแทนข้าราชการ ตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัย มีการถกกันว่าเราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่มีปัญหากับธรรมศาสตร์อยู่ในขณะ นี้ ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกัน แล้วมติที่ออกมาก็เป็นเอกฉันท์ มีคนอภิปรายด้วยว่าการจัดกิจกรรมเรื่อง ม.112 มันจะมีปัญหานะ ท่านคณบดีคณะนิติศาสตร์ก็บอกว่ามันมีปัญหา มีอยู่วันหนึ่งที่จัดรายการ อาจารย์นิติศาสตร์บางคนเอารถเข้ามาไม่ได้ แล้วก็มีการเผาหุ่นที่หน้าคณะนิติศาสตร์ คนเขากลัวกัน ที่ประชุมจึงมีมติออกมาว่าไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรณีของ มาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความแตกแยก แต่การเคลื่อนไหวในกรณีอื่นๆยังสามารถทำได้
       
       มตินี้เราไม่ได้ใช้กับนิติราษฎร์เท่านั้น เราใช้กับกลุ่มอื่นด้วย และถ้าเขาจะจัดเสวนาเรื่องอื่นเราก็ให้ อย่างกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์มาขอใช้สถานที่จัดเสนาเรื่องการรวมศูนย์อำนาจทาง การเมือง เราก็ให้ไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 และยังไม่ได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรง คือคณบดีเขาก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หน้าที่ของอธิการบดีต้องปกป้องชื่อเสียงของธรรมศาสตร์ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม อย่าทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
       
       **ตอนนี้กลุ่มที่หนุนนิติราษฎร์ก็ออกมาโจมตี ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
       
       ผมว่ามติก็ชัดเจนว่าไม่ใช่การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราจะปล่อยให้ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและไปส่งผลกระทบก่อ ให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อธรรมศาสตร์ มันไม่ได้ ผมเป็นอธิการบดี ผมต้องรับผิดชอบ ก็มีคนจำนวนมากมาด่าผม ว่าผมว่าไม่ให้เสรีภาพ ยุบธรรมศาสตร์ไปเสียดีกว่า ก็ใช้อารมณ์กันเยอะ
       
       แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนคัดค้านและคนสนับสนุน ก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของผมว่าเห็นด้วยกับมติของกรรมการฯเป็น พันคน แต่ก็มีคนค้านอยู่ประมาณสองร้อยคน ก็เป็นเรื่องปกติ บางคนบอกว่าทำไมทำช้าจัง น่าจะทำตั้งแต่แรก ล่าสุดองค์การนักศึกษาของธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับมติดัง กล่าว อันนี้ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา แต่ผมย้ำว่าการตัดสินใจของที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้ตัดสินใจอยู่ บนพื้นฐานของอารมณ์ความรู้สึก แต่ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ และผมก็ไม่ได้ตัดสินบนพื้นฐานของอุดมการณ์ ถ้าตัดสินด้วยอุดมการณ์ นิติราษฎร์ไม่ได้จัดตั้งแต่แรกแล้ว
       
       **นิติราษฎร์ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์
       
       ครับ มีบางคนเข้าใจผิดว่าการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์เป็นการเคลื่อนไหวของธรรม ศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่เขาก็รู้ว่านิติราษฎร์ไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ทั้งหมด เพราะคนธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ ย้ำว่าส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ขณะที่คนนอกเขาก็กังขา โดยเฉพาะในตัวอธิการบดีว่าให้ท้ายหรือเปล่า เพราะเขาขอใช้สถานที่ทีไรก็ให้ หลายคนวิพากษ์ว่านิติราษฎร์จะล้มสถาบัน แต่เท่าที่ผมฟังนิติราษฎร์พูดเขาก็ไม่ได้ขนาดนั้น ในเชิงเนื้อหา ผมคิดว่านิติราษฎร์ทำอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ปัญหามันไม่ได้อยู่ทีว่าผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย ที่สำคัญมันอยู่ที่ความควรหรือไม่ควรแก่การกระทำ
       
       เวลาพูดเรื่องควรไม่ควร ต้องพิจารณาว่า 1.สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศไม่เหมือน กัน มาตรฐานที่นิติราษฎร์พยายามทำคือไทยควรเหมือนต่างประเทศ ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระมหากษัตริย์ในอีกลักษณะหนึ่ง ไม่เหมือนคนอังกฤษนับถือควีนของเขา แต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป 2.ความเหมาะควรกับสถานการณ์ ความจริงนิติราษฎร์หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาคนก็วิจารณ์กันเยอะว่า ..เอ๊ะ ! มันมีปัญหาอยู่เยอะแยะนะในสังคมไทย ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาที่ชาวบ้านไปบุกรุกที่หลวงแล้วก็ถูกหลวงจับกุมตัวชาวนาชาวไร่ซึ่งเข้า ไปทำไร่ทำนาในพื้นที่ป่าเขาแล้วถูกจับ ถามว่าเยอะกว่าคนที่ถูกข้อหาหมิ่นประมาท จากมาตรา 112 ไหม ก็เยอะมาก เต็มไปหมด คนก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมนิติราษฎร์ไม่หยิบเรื่องพวกนี้ขึ้นมา ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า
       
       นิติราษฎร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ เพราะเขาเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ แต่สมาชิกของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ก็มีอาจารย์ของธรรมศาสตร์อยู่หลายคน อีกหลายกลุ่มในธรรมศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยก็เยอะ บรรดาผู้บริหาร อธิการบดี ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์ ทุกคนก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ผมก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์นิติราษฎร์ได้ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ แต่แน่นอนผมพูดไปก็โดนด่า โดนขู่บ้างอะไรบ้าง นิติราษฎร์เขาก็โดน
       
       **บางฝ่ายมองว่านิติราษฎร์มีเจตนาแอบแฝง และเรียกร้องให้ธรรมศาสตร์มีบทลงโทษอาจารย์ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มนิติราษฎร์
       
       ก็มีคนเรียกร้องอย่างนั้น แต่ผมจะลงโทษเขาได้ยังไง เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เขาทำสิ่งที่ไม่สมควรในความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายเขาก็ยังอยู่ในกรอบ ต้องเข้าใจว่าเขาเป็นนักกฎหมาย เขาเป็นนักกฎหมายที่เก่งด้วย เพราะฉะนั้นเขาไม่มีทางทำผิดกฎหมายหรอก เขาอาจจะเลียบเส้นความถูกผิดอยู่ แต่ว่าขาไม่มีทางทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถ้าเขาทำสิ่งที่ผิดกฎหมายนะเขาโดนไปนานแล้ว เขารู้ว่าพูดอย่างนี้ไม่ผิดกฎหมายหรอก ควรไม่ควรอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าถามผม ผมคิดว่าไม่ควร แต่ผิดกฎหมายไหม ไม่ผิดกฎหมาย ถามว่าอธิการบดีจะลงโทษอาจารย์ที่มาพูดเรื่อง 112 โดยไม่ผิดกฎหมาย อธิการบดีจะทำได้ยังไง อธิการบดีที่จบนิติศาสตร์ พูดเรื่องหลักนิติรัฐนิติธรรม เรื่องความชอบด้วยกฎหมาย เราลงโทษคนอย่างนั้นไม่ได้
       
       **อย่างที่นิติราษฎร์บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวต้องปฏิญาณตนก่อนขึ้นครองราชย์ห้ามมีพระราชดำรัสกับประชาชน อย่างนี้ถือว่าเลียบเส้นใช่ไหม
       
       ครับ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ว่าไม่ควร ก็มีคนพูดกันเยอะว่าไม่ควร แต่การเสนอให้ในหลวงปฏิญาณตนก่อนขึ้นครองราชย์ไม่ได้ผิดกฎหมาย บางคนบอกว่าจาบจ้วง แต่จาบจ้วงไม่ใช่คำในกฎหมายนะ กฎหมายใช้อยู่ 3 คำ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย
       
       **ทราบว่าในส่วนของธรรมศาสตร์เองก็มีเกิดปัญหาความแตกแยกอัน เนื่องมาจากประเด็นเรื่อง มาตรา 112 และการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ กระทั่งมีข่าวว่านักศึกษาบางคนไม่ยอมเข้าเรียนในวิชาที่อาจารย์วรเจตน์สอน
       
       ผมก็ได้ข่าว แต่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ก็อาจจะจริง แต่ไม่มากหรอก ยกตัวอย่าง วิชารัฐธรรมนูญเราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอาจารย์วรเจตน์สอน กลุ่มหนึ่งอาจารย์ปริญญา( เทวานฤมิตรกุล) สอน กลุ่มหนึ่งผมสอน ก็มีคนมาพูดกับผมว่าบางกลุ่มนักศึกษาก็ถอนตัว อาจจะมีกลุ่มผมด้วยที่นักศึกษาถอนตัว เราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงเท็จแค่ไหน มันมีแต่ข่าวกอสซิป มีแต่พูดกันในเฟซบุ๊ก มีการพูดกันว่าอาจารย์กลุ่มนี้(กลุ่มของอาจารย์วรเจตน์)ไปสอนนักศึกษาแล้ว พยายามครอบงำนักศึกษา สอนนักศึกษาแค่ด้านเดียว มีถึงขนาดมาเล่าให้ผมฟังว่าอาจารย์บางคนในกลุ่มนี้บอกนักศึกษาว่าเวลาเจอ อาจารย์ไม่ต้องไหว้เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน อย่างนี้เป็นต้น แต่จริงเท็จไม่มีใครรู้ แต่ผมเรียนว่าเรื่องอย่างนี้ไม่มาถึงอธิการบดีหรอก ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่คณบดี
       
       ถ้าอาจารย์คนหนึ่งพยายามครอบงำนักศึกษาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่าง ยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมสอนเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องสอนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เขาคิดยังไง แล้วผมก็สอนว่าคนที่ไม่เห็นด้วยเขาคิดยังไง มันต้องสอนแบบนี้ แล้วที่เหลือเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องไปคิดต่อเอาเอง ตัดสินใจเอง แต่ไม่ใช่สอนว่ารัฐธรรมนูญมันเลว รัฐธรรมนูญมันไม่มีดี เป็นเผด็จการ จะครอบงำนักศึกษาในลักษณะนี้ไม่ได้ ในชั่วโมงที่ผมสอน ผมก็ไม่เคยบอกว่า เฮ้ย..รัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการร่างมันดีที่สุดนะ ห้ามแก้ไข ผมบอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่แก้แล้วต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่แก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง
       
       **ตอนนี้คนภายนอกกำลังมองว่านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กำลังบ่มเพาะแนวคิดล้มเจ้าให้แก่นักศึกษา
       
       ผมว่าเขามองผิดนะ เพราะอาจารย์นิติศาสตร์มีทั้งหมด 80 คน แต่อาจารย์นิติศาสตร์ที่อยู่ในนิติราษฎร์มีแค่ 6 คน ถามว่า 6 คนจะสอนได้กี่วิชา อาจารย์กลุ่มอื่นเขาก็ไม่สอนอย่างนี้ อาจารย์วิจิตรา ฟุ้งลัดดา (วิเชียรชม) ซึ่งอยู่ในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ อาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ยังอยู่ ผมเองก็อยู่ ผมก็สอนในแนวผม แน่นอนนิติราษฎร์ 6 คน สอนคนละ 3-4 วิชา ใน 3-4 วิชานั้นเขาก็คงต้องพูดในแนวคิดเขาให้นักศึกษาฟัง ถามว่านักศึกษาที่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์มีไหม พอมี แต่ถามว่าเยอะไหม ผมว่าไม่เยอะมาก แต่ว่านิติราษฎร์เขาสามารถบ่มเพาะคน การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์เขาได้คนมากลุ่มหนึ่ง และคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจจะไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็น
       
       **โดยส่วนตัว อาจารย์เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 112ไหม
       
       จริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์นะ แต่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่สำคัญเพราะผมเป็นอธิการบดี ไม่ใช่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คนที่เป็นอธิการบดีต้องยืนอยู่บนหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ และในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว มหาวิทยาลัยที่สืบทอดเจตนาของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ดังนั้นธรรมศาสตร์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีทางที่จะไม่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นในช่วงที่มีผมอนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์ ผมถูกทั้งศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ทั้งคนนอก ทั้งคนรักสถาบัน คนรักในหลวง ทั้งกลุ่มต่างๆในธรรมศาสตร์และนอกธรรมศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ผม หลายคนบอกว่าผมให้ท้าย หลายคนบอกว่าผมเห็นด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมก็ต้องแสดงเจตนาของผมให้ชัดเจนว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ที่จะแก้ มาตรา 112 แต่ผมจะไม่อนุญาตให้เขาใช้สถานที่ก็ไม่ได้ เพราะเนื้อหาและวิธีการที่เขาใช้ในช่วงแรกอยู่ในขอบเขตของการใช้เสรีภาพใน เชิงวิชาการ อยู่ในขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
       
       แต่เมื่อสถานการณ์มันพัฒนาไป เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งผมไม่ได้คิดเอง ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ก็พูดเรื่องนี้ รองนายกฯเฉลิมก็พูด ส.ส.และ ส.ว.หลายคนก็พูดเรื่องนี้ อาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) ซึ่งนิ่งมานานก็ลงมาร่วมด้วย อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ลงมา อาจารย์เสกสรร(ประเสริฐกุล) ก็เริ่มถอย ผมไม่ได้พูดเพราะผมไม่ชอบนิติราษฎร์เป็นการส่วนตัว เรียนว่านิติราษฎร์กับผมก็สนิทชิดชอบกัน เป็นอาจารย์ในภาควิชาเดียวกัน บางคนเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิผม บางคนเป็นผู้ช่วยผม ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเป็นการส่วนตัวเลย คือตอนผมอนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ คนก็หาว่าผมเป็นแดง พอผมไม่อนุญาตให้ใช้สถานีคนก็หาว่าผมเป็นเหลือง จะให้ผมทำยังไง ผมก็ต้องรักษากติกามารยาท เป็นเหลืองแดงธรรมศาสตร์ (หัวเราะ)
       
       **ทำไมอาจารย์ถึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112
       
       ผมไม่คิดว่า 112 มีปัญหาที่มาตราหรือตัวบท แต่อาจมีปัญหาบ้างว่าโทษอาจจะแรงไปนิดหนึ่ง แต่ผมว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะแม้จะกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ศาลก็สามารถตัดสินโทษต่ำกว่า 3 ปีได้ อัตราโทษมากน้อยขึ้นกับดุลพินิจของศาล แต่ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของมาตรา 112 คือการบังคับใช้ ผมอธิบายอย่างนี้ว่าโทษฐานหมิ่นประมาทเนี่ยเรามีกฎหมายอยู่หลายมาตราหลาย กรณี หมิ่นบุคคลธรรมดา หมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท หมิ่นผู้นำหรือประมุขของต่างประเทศ มีอยู่หลายมาตรา ไม่ใช่มาตราเดียวนะ มันเป็นกลุ่มเดียวกัน ในส่วนของการหมิ่นประมาทประชาชนทั่วไปและหมิ่นเจ้าพนักงาน ตำรวจ ศาล และอัยการ ใช้หลักว่าต้องมีเจตนา คุณจะทำผิดกฎหมายอาญาก็ต่อเมื่อคุณมีเจตนา เมื่อไรคุณพูดโดยไม่มีเจตนาคุณก็ไม่ผิด
       
       ขณะเดียวกันหากพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แต่ไม่มีเจตนาที่จะดู หมิ่นเหยียดหยาม แต่วิจารณ์บนพื้นฐานที่ต้องการให้สถาบันดีขึ้น ตามกฎหมายก็ถือว่าทำได้นะ แต่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองอย่างนั้น คดีของคุณวีระ มุกพงศ์ และคดีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเกิดขึ้น อย่างกรณีคุณวีระ (ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในการปราศรัยหาเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2531 และได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากถูกจำคุกได้ 1 เดือน) ผมคิดว่าคุณวีระไม่ควรจะผิดนะเพราะคุณวีระพูดโดยไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นพระมหา กษัตริย์ นี่ด้วยความเคารพศาลนะครับ หรืออย่างกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเอาคำของคนที่หมิ่นพระมหากษัตริย์มาพูดต่อเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ คุณสนธิไม่ควรผิดนะ ไม่ใช่ใครก็แล้วแต่พูดแล้วผิดเสมอ ไม่อย่างนั้นมีคนมาด่าพระมหากษัตริย์ให้ผมฟัง ผมเขาคำที่ด่าพระมหากษัตริย์ไปแจ้งความ ผมก็ผิดสิ
       
       ผมจึงเรียนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเลย แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้ การตีความ ของกระบวนการในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ จนถึงศาล เวลาที่มีการร้องว่า นาย ก., นาย ข. , นาย ค. หมิ่น ไม่ใช่ว่าตำรวจต้องรับทุกเรื่อง ตำรวจต้องมีดุลพินิจว่าเคสนี้หมิ่นจริง เคสนี้ไม่หมิ่นก็ปล่อยไป ตำรวจ อัยการ และศาลของไทย ต้องทำหน้าที่อย่างนี้ แต่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ทำหน้าที่แบบนี้ ใครร้องมาเรื่องสถาบันต้องถือว่าผิดไว้ก่อน เพราะคิดว่าถ้าไม่รับเรื่องจะมีความผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มันจึงเกิดกรณีที่มีการกลั่นแกล้งกันขึ้น โดยใช้มาตรา 112
       
       **สิ่งที่น่ากลัวในขณะนี้คือ มีการนำประเด็นของคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะจงใจให้ร้ายและจาบจ้วงสถาบันจริงๆ มาเป็นเกมการเมือง เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของสถาบัน และยุยงให้คนเข้าใจว่าสถาบันรังแกประชาชน
       
       ที่มันเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นได้เพราะที่ผ่านมาเราทำให้เรื่องคดีหมิ่น สถาบันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ผมยกตัวอย่างเช่น คดีอากง คนทั่วไปเขาอยากรู้ว่าอากงพูดอะไรถึงเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ถ้าไม่มีการเปิดเผยคำพิพากษาของศาลว่าอากงพูดอะไรจึงผิด คนเขาก็ไม่รู้ว่าพูดอย่างนี้ผิดหรือไม่ผิด และประเมินไม่ได้ว่าอากงมีเจตนาหรือเปล่า ถ้ามีการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลให้สังคมรับรู้ปัญหาจะเกิดน้อยลง แต่ทุกวันนี้ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันทุกอย่างกลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน หมด คนก็เลยไม่รู้ว่าตกลงอากงพูอะไร ถ้าเขารู้ว่าอากงพูดอะไรเขาอาจจะบอกว่า เฮ้ย..อากงสมควรแล้วที่มีความผิด เพราะถ้าอากงใช้ประโยคแบบนี้พูดกับพ่อแม่พี่น้องผม อากงก็ต้องผิด ไม่ใช่แค่พูดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น
       
       **อาจารย์คิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กลุ่มนิติราษฎร์ต้องการอะไร
       
       เขาคงต้องการแก้มาตรา 112 เพราะเขาต้องการให้การรับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเทียบเท่ากับต่าง ประเทศ เพราะเขาคิดว่าประชาธิปไตยมีรูปแบบเดียว ผมบอกไม่ใช่.. ประชาธิปไตยไม่ได้มีรูปแบบเดียว ทำไมบางประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บางประเทศเป็นประธานาธิบดี เราจะพูดได้หรือเปล่าว่าทุกประเทศต้องเป็นระบบกษัตริย์หมด หรือเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ได้ กฎหมายมหาชนไม่ได้มีสูตรตายตัวแค่สูตรเดียว ระบบการเลือกตั้งก็เหมือนกัน อเมริกาใช้ระบบเสียงข้างมาก แต่เราใช้ระบบสัดส่วนหรือปาร์ตี้ลิสต์ ถามว่าเราต้องตามก้นอเมริกันไหมล่ะ วุฒิสภาของอังกฤษมาจากการแต่งตั้ง 100% วุฒิสภาของอเมริกามาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ทำไมวุฒิสภาไทย มาจากการเลือกตั้ง 76 คน จากการสรรหา 74 คนล่ะ ทำไมไม่เอาเหมือนอังกฤษหรือเมริกา ผมเป็นนักเรียนนอก นิติราษฎร์จำนวนมากก็เป็นนักเรียนนอก คือเราดูต่างประเทศได้ แต่ต่างประเทศไม่ใช่แบบแผนอย่างเดียวที่ประเทศไทยควรทำตาม
       
       คือในเชิงวิชาการ การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ก็ทำให้คนได้ทบทวน ทบทวนแล้วอาจบอกว่าไม่ควรแก้มาตรา 112 เลย หรือบอกว่าควรแก้ แต่ไม่ควรแก้เหมือนที่นิติราษฎร์เสนอ ก็โอเค จริงๆแล้ว มาตรา 112 แก้ได้ ถ้าแก้แล้วดีต่อสังคมไทย แต่คำถามคือแค่ไหนจึงดีต่อประเทศไทย นี่คือปัญหาใหญ่ สมมุติว่าเราสามารถแก้ประเด็นเรื่องโทษได้ ให้มันลดน้อยลง ถ้าแก้แล้วสังคมไทยดีขึ้น มีความปรองดอง มันอาจจะควรแก้ แต่ไม่ควรแก้โดยย้ายกฎหมายไปอยู่อีกหมวดหนึ่ง ไม่ควรแก้ให้พระมหากษัตริย์สาบานตน
       
       **อาจารย์คิดว่านิติราษฎร์มีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงไหม
       
       ไม่รู้ใครใช้ใคร ? คือถ้าไม่มีคนเสื้อแดงเข้ามาฟัง การเสวนาของนิติราษฎร์ก็อาจมีคนน้อย คนเสื้อแดงถ้าไม่มีนิติราษฎร์เป็นหัวหอกจะเคลื่อนไหวทางความคิดของตัวเองให้ เป็นระบบก็คงจะยาก แต่ผมไม่คิดว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ผมว่าถ้าอาจารย์วรเจตน์ไม่ออกมาปกป้องคุณทักษิณ ตอนที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์คุณทักษิณ นิติราษฎร์คงดูดีกว่านี้ ผมว่าเขาพลาดตรงนี้แหล่ะ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : 112 เกาไม่ถูกที่คัน เขากล้าหาญ แต่ยังมีปัญหา

view