สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พบพิรุธบริษัทคัดเลือกผู้ประสานงานส่งออกผลไม้ฉายรังสี ตั้งใหม่เพียง3 เดือน

จากสำนักข่าวอิศรา

โครงการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐ กระทรวงเกษตรฯ พบพิรุธ  มกอช. เลือกบริษัทเพิ่งจดทะเบียน 3 เดือน เป็น ผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ แต่อ้างมีประสบการณ์ เสนอแผนงานครบถ้วน เผยกรรมการบริษัท มีตำแหน่งเป็นอุปนายกและประธานกลุ่มอาหารทะเล

 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยแพร่รายงานพิเศษ “ข้อเท็จจริง กรณีส่งออก “ผลไม้ฉายรังสี” ไปสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวนชน

รายงานพิเศษฉบับนี้ ระบุว่า การส่งออกผลไม้ฉายรังสี ของไทยไปสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา เนื่องจากเข้าสู่ปลายฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งยังมีฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำ ท่วมในหลายพื้นที่ กระทบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นโรงคัดบรรจุ โรงงานผลิตกล่องและการขนส่งไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับไม่มีผู้แจ้งความประสงค์จะส่งออกในช่วงน้ำท่วมด้วย

กระทรวงเกษตรฯสหรัฐ จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจรับรองของสหรัฐฯเดินทางกลับก่อนกำหนด 2 สัปดาห์ จากกำหนดกลับเดิมวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เพราะมีความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย

นอกจากนั้นบริษัท บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC) ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็น “ผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา” และมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินงานของ BCC ว่า เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐฯด้วย

เบื้องต้น นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการ มกอช. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่า กระบวนการคัดเลือกผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ มกอช. ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและโปร่งใส โดยมีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิจารณาด้วย ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โรงงานฉายรังสีทั้ง 2 แห่ง กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคัดเลือก BCC ให้เป็นผู้ประสานงานโครงการฯ เพราะ BCC ได้เสนอแผนครบถ้วนทั้งแผนการดำเนินงาน แผนการเงิน รวมทั้งแผนการสนับสนุนอื่นๆ โดยเฉพาะแผนสนับสนุนภาครัฐในการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องของผล ผลิตที่ส่งออก 

“ ขณะเดียวกัน BCC ยังมีประสบการณ์ในวงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหรัฐฯ รวมทั้งทีมผู้บริหาร BCC มีอดีตรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญและยังมีประสบการณ์ด้านผลไม้ฉายรังสี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการสนับ สนุน และติดตามดูแลการประสานตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนการส่งออกไทย-สหรัฐฯ”

ส่วนกรณีที่ BCC เสนอเก็บเงินล่วงหน้าจากผู้ส่งออกนั้น BCC เสนอเก็บเงินสด 50 % หรือ 100 % ของหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร (หนังสือ L/G) จากปริมาณการส่งออกที่ผู้ส่งออกแต่ละรายเป็นผู้ประมาณการเองจากระยะเวลา 3 เดือนล่วงหน้า คณะกรรมการเห็นว่า เป็นเรื่องปกติทางการค้าที่ผู้ประกอบการต้องสามารถวางแผนงานล่วงหน้าได้จึง จะทำการค้าได้ และจากหลักการที่สหรัฐฯเรียกเก็บเงินล่วงหน้าจากประเทศไทยก่อนจึงจะส่งเจ้า หน้าที่ผู้ตรวจรับรองมาปฏิบัติงาน ทาง BCC ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ ให้ผู้ส่งออกผลไม้ชำระเงินล่วงหน้าเพื่อนำเจ้าหน้าที่มาบริการตัวเอง ขณะที่ BCC ได้ร่วมชำระเงินล่วงหน้า 50 % สบทบกับผู้ส่งออกตามปริมาณของสินค้าแต่ละรายอย่างเท่าเทียมกันทุกราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯมาปฏิบัติงาน ซึ่ง คณะกรรมการเห็นว่า มีความยุติธรรม และผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ส่งออก

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ยืนยันด้วยว่า ระบบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปยังสหรัฐฯ เป็นไปตามสัญญาการดำเนินงานที่กรมวิชาการเกษตรและ มกอช. ลงนามกับกระทรวงเกษตรฯ ของสหรัฐฯ มาโดยตลอด และปัจจุบัน BCC ก็ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรฯของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้เข้ารับหน้าที่ผู้ประสานงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 และตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและ อาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปประชุมหารือกับกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับแผนการดำเนิน งานเรื่องการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไทยไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 13 มกราคม 2555 พร้อมทั้งแนะนำผู้ประสานงานโครงการตรวจสอบก่อนส่งออกรายใหม่ของไทย คือ BCC

ผลปรากฏว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสัญญา 2 ฉบับ กับ BCC เรียบร้อยแล้ว คือ สัญญาการให้บริการ และสัญญาการเงิน ซึ่ง BCC ได้ดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆกับสหรัฐครบถ้วนสมบูรณ์แล้วรวมทั้งการโอนเงิน ล่วงหน้าให้กับกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสหรัฐที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในไทย การลงนามดังกล่าวจึงถือเป็นการรับรองสถานภาพการเป็นผู้ประสานงานของบริษัท BCC โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอย่างสมบูรณ์และเป็นทางการ 

 

“ นายธรรศ ทังคสมบัติ” ซึ่งเป็นผู้บริหาร BCC ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ ได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงเกษตรสหรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาประจำที่ไทย ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไทยไปสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีการ ตรวจสอบร่วมกันของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรสหรัฐ ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ไทยจะเริ่มส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง หนึ่ง โดยสินค้าที่ส่งออกทางเครื่องบินคงจะเริ่มวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐกลางเดือน กุมภาพันธ์ ส่วนสินค้าที่ส่งออกทางเรือคงจะเริ่มวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกาประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ได้ร่วมลงนามสัตยาบันกับ BCC ในข้อตกลงการใช้บริการรวมทั้งสิ้น 6 บริษัทแล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเมื่อเข้าสู่ฤดูการผลิตผลไม้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม คาดว่าจะมีบริษัทเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอีก

หลังได้รับทราบคำชี้แจงดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท บัดดี้ โคโคนัท จำกัด ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา” และมีประสบการณ์ในวงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปสหรัฐฯ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท บัดดี้ โคโคนัท เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105554094383 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 ตั้งอยู่ที่ 342-344 ซอยตลาดบ้านสมเด็จ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600 ประเภทธุรกิจ ประกอบกิจการตัวแทนจำหน่าย นำเข้า และส่งออกสินค้าทุกชนิด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นธุรกิจ ขนาดเล็ก ปรากฏชื่อ นาย ธรรศ ทังสมบัติ เป็นกรรมการ 

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ยังพบว่า นายธรรศ ทังสมบัติ มีตำแหน่งเป็นอุปนายกและประธานกลุ่มอาหารทะเล สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านผลไม้แต่อย่างใด  

 

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การที่บริษัท บัดดี้ โคโคนัท ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็น ผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา” ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 หรือเพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือน แต่ทำให้ มกอช. ตัดสินใจเลือกบริษัทแห่งนี้ เข้ามารับงานที่มีความสำคัญระดับประเทศเช่นนี้ 

อนึ่ง ปัจจุบันไทยเปิดตลาดส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกาได้ทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด เงาะ สับปะรด แก้วมังกร ที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปสหรัฐมีมูลค่าปีละประมาณ 200 ล้านบาท และลดลงมาเหลือ 59 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 การส่งออกหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : พบพิรุธบริษัทคัดเลือก ผู้ประสานงาน ส่งออกผลไม้ฉายรังสี ตั้งใหม่ เพียง3 เดือน

view