สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บิ๊ก มกอช.ป้อง บ.ตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก.เกษตรฯ อ้างเพิ่งตั้งบริษัทหมาดๆไม่สำคัญ!

จากสำนักข่าวอิศรา

“สำนักข่าวอิศรา” - เจาะปมปัญหาความขัดแย้งโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีกระทรวงเกษตรฯ  สื่อไทยในสหรัฐ แฉเงื่อนงำ เปลี่ยนม้ากลางศึก หวั่นกระทบธุรกิจทั้งระบบ วอนรัฐมนตรีตรวจสอบด่วน  ผอ.มกอช. ออกตัวแรงไม่สนปม บ.บัดดี้ โคโคนัท เพิ่งจดทะเบียนไม่กี่เดือนก่อนได้งาน

    ดูเหมือนว่า ปมปัญหา ความขัดแย้งในการคัดเลือก ผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช)  หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ภายในประเทศไทย ที่มีคนรู้ไม่กี่กลุ่ม     

    เพราะนอกจากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ ในโครงการฯ นี้  ซึ่ง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจพบว่า เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554  ก่อนที่จะเข้ามารับงานนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2554 หรือเพียงแค่ระยะเวลา 3 เดือน เท่านั้น ขณะที่ นายธรรศ ทังสมบัติ กรรมการบริษัท ก็มีตำแหน่งเป็นอุปนายกและประธานกลุ่มอาหารทะเล สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานด้านผลไม้แต่อย่างใด 
   

    สื่อไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายฉบับ ได้ติดตามขุดคุ้ยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มาอย่างต่อเนื่อง  โดย THE ASIAN PACIFIC NEWS หนังสือพิมพ์ภาษาไทย ลาว ในสหรัฐ  นำเสนอข้อมูลว่า ปัญหาที่น่าสนใจของเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ มกอช.  ได้ทำการเปลี่ยนแปลงผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ จากเดิม บริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC) มาเป็น บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC) ซึ่งดูเหมือนจะมีประสบการณ์น้อยกว่า 
      

    สยามทาวน์ยูเอส หนังสือพิมพ์ไทย ในลอสแอนเจลิส ระบุว่า การที่ มกอช. เลือก บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  เข้ามาทำหน้าที่แทน บริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC)  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2011 เป็นต้นไป โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ส่งออกผลไม้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล ไม่สมเหตุสมผลหลายประการ เช่น
        1. บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  เป็นบริษัทเอกชนที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ หรือประสบการณ์ในธุรกิจนี้ อีกทั้งเป็นบริษัทที่ผู้บริหารถือหุ้นใหญ่คนเดียวถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ผลกำไรย่อมตกเป็นของผู้บริหารแต่เพียงผู้เดียว ต่างกับระบบเดิม ซึ่งผลกำไรจะเป็นเงินปันผลไปยังผู้ถือหุ้น อันจะมีผลให้ผู้นำเข้า-ส่งออก พยายามเปิดตลาด เพิ่มยอดส่งออกมากขึ้น
       2. แผนบริหารจัดการในเรื่องส่งออกผลไม้ฉายรังสี ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักการทำธุรกิจ
       3. เรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้า โดยให้ผู้ส่งออกประเมินปริมาณการส่งออกผลไม้ทั้งปีเพื่อนำมาคำนวณเงินเรียก เก็บล่วงหน้า และหากไม่สามารถส่งออกได้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ จะถูกริบเงินเก็บล่วงหน้า
      4. ขึ้นค่าบริการฉายรังสี จากเดิมกิโลกรัมละ 8 บาทเป็น 11-13 บาท และกำหนดค่าแรงเข้าร่วมโครงการฯ
      

      “ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้ส่งออกผลไม้ไทยมายังสหรัฐฯ เห็นว่าเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถส่งออกผลไม้สดมายังสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป จึงได้ระงับการส่งออก และหันไปนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากประเทศอื่นแทน ทางสภาหอการค้าไทยฯ เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียหายทั้งต่อนักธุรกิจ เกษตรกร และประเทศชาติ จึงขอความกรุณาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาตรวจสอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย”  สยามทาวน์ยูเอสระบุ         

    สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท พบว่า บริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC)  จดทะเบียน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ตั้งอยู่ที่ 2207 อาคารวีรวรรณ แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร 10120 ประเภทธุรกิจ  ให้บริการตรวจสอบผลไม้และบริการขนถ่ายผลไม้ - บริการ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ปรากฏชื่อ นาย สมโภชน์ วัลยะเสวี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท  มีผู้ถือหุ้นจำนวน 10 ราย ประกอบไปด้วย นายธีรชาติ วีรวรรณ  ถืออยู่ 30%  นายสมโภชน์ วัลยะเสวี ถืออยู่ 30 %  นายบุญรอด พงษ์สุวรรัตน์ 10% บริษัทวัลวีร์ จำกัด 9.99% นายนรินทร์ ใจคง 9.98%  นาง ศรัญญา พรหมพยัด 5 % บริษัท รุ่งเจริญพืชผล จำกัด 4.99%  นาย ธีรชัย จิตต์รุ่งเรืองชัย 0.02% นาย ดำรงภูมิ รัฐมนุญ 0.01% และนาง วิยะดา วัลยะเสวี 0.01% 
     

    นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการ มกอช.  กล่าวยืนยันกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การคัดเลือกบริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)   เป็นผู้ประสานงานเอกชนรายใหม่ภายใต้ โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา เป็นไปด้วยความโปร่งใส ขั้นตอนการคัดเลือกมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการเกือบ 10 คน เป็นผู้คัดเลือก และมีความเห็นร่วมกันว่าบริษัทฯ แห่งนี้ เหมาะสมที่จะเข้ามารับงานนี้ เนื่องจากแผนงานที่เสนอเข้ามา ทั้งเรื่องแนวทางการดำเนินงาน แผนการเงิน ดีกว่า บริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC)  ตัวแทนรายเดิม ที่ยื่นเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงาน มกอช.  ได้ออกประกาศแจ้งให้ผู้สนใจเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่มีเพียง บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  กับ บริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC) ที่เข้ามาเสนอตัว
       

    นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย  กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการตรวจสอบข้อมูลว่า บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่กี่เดือนก่อนเข้ามารับงาน ผมไม่เห็นเอกสารการจดทะเบียน  รวมถึงการที่บริษัทมีผู้บริหารถือหุ้นใหญ่คนเดียวถึง 98 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นข้อมูลจริง ก็ไม่คิดว่า จะเป็นประเด็นอะไรที่สำคัญนัก  เพราะหากพิจารณารายชื่อกรรมการบริษัทแห่งนี้  คือ นายธรรศ ทังสมบัติ ซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงการอยู่แล้ว ว่า มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญงานเรื่องนี้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางบริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC) ก็ได้ร่วมคณะเดินทางกับมกอช. ไปหารือกับทางการสหรัฐ และกลุ่มผู้ส่งออก ในสหรัฐ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนการทำหน้าที่ผู้ประสานงาน ของบริษัท ศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด (TUCC) ในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า มีปัญหาถูกร้องเรียนจากผู้ส่งออกบางกลุ่มด้วย แต่ตนไม่ขอพูดถึง 
     

    ส่วนประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น หลังจากที่ บริษัท  บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC)  เข้ามารับงาน นั้น ผู้อำนวยการ มกอช. ระบุว่า ในขั้นตอนการประสานงานเพื่อส่งผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐ จะมีการเชิญตัวแทนของกระทรวงเกษตรสหรัฐ เข้ามาประจำการในประเทศไทย เพื่อช่วยในเรื่องการตรวจสอบสินค้า เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในขั้นตอนการส่งสินค้าไปสหรัฐ จึงต้องมีการดูแลกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าโรงแรมที่พัก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฉายรังสี
    

    “จำนวนผู้ส่งออกสินค้าผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐ ปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ แต่ในอนาคตถ้ามีจำนวนผู้ส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ที่น่าจะสามารถร่วมตัวกันมาส่งออกสินค้าชนิดนี้ เมื่อมีผู้ส่งออกมากนัก จำนวนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะถูกเฉลี่ยกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ดูเหมือนจะมีจำนวนมาก ลดน้อยลง ไปเอง” 
   

    ผู้อำนวยการ มกอช. ยังกล่าวด้วยว่า เบื้องต้น จึงขอใช้โอกาสนี้ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกสินค้าผลไม้ฉายรังสี มาเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทย มีกำหนดการที่จะเริ่มกลับมาส่งออกผลไม้ฉายรังสีอีกครั้ง ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ หลังจากที่ต้องหยุดชะงักไปในช่วงที่ผ่านมา จากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลทำให้สินค้าของผู้ส่งออกที่เคยเข้าร่วมโครงการอยู่เสียหายจำนวน มาก 
    

    น่าสนใจว่า คำชี้แจงของ ผอ.มกอช. แบบนี้ จึงทำให้ปัญหาเรื่องนี้ ที่กำลังดังข้ามโลก จะยุติ หรือ ร้อนแรงกว่าเดิม !!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : บิ๊ก มกอช. ป้อง บ.ตรวจสอบผลไม้ฉายรังสี ก.เกษตรฯ อ้างเพิ่งตั้งบริษัทหมาด ไม่สำคัญ

view