สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปลูกป่าปลูกคน แม่ฟ้าหลวงต้นแบบฟื้นฟูต้นน้ำของรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สัมภาษณ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนฟื้นป่าต้นน้ำ
ตามแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำเน้นหนักไปที่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รัฐบาลได้แม่แบบมาจากโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “ปลูกป่าปลูกคน” เน้นให้คนมีจิตสำนึกในความสำคัญของป่า ทำให้คนอยู่กับป่าและช่วยรักษาป้องกันการบุกรุกทำลายป่า

"กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนฟื้นป่าต้นน้ำ

 เขาบอกถึงสาเหตุของปัญหาป่าถูกทำลายมาจากความยากความจน การขาดโอกาส ชาวบ้านจึงต้องบุกรุกป่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าการรุกป่ามีความเสี่ยงจะถูกจับ แม้จะไม่มีใครอยากทำ แต่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีกิน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาป่าไม่ถูกทำลาย จึงต้องกลับมาหาถึงสาเหตุว่าทำไม คนถึงบุกรุก และต้องเข้าแก้ไขตรงนั้น ถ้าไม่แก้ไขที่คน มันก็จะเกาไม่ถูกที่คัน

เมื่อรู้ถึงปัญหาก็จะต้องกลับไปคุย และเรียนรู้จากชาวบ้าน เพื่อรับทราบความต้องการจากเขา แล้วมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เขามีรายได้เพียงพอสามารถเลี้ยงชีวิตและครอบครัว และต้องทำให้เขาเห็นว่าถ้ามาทำกับเราใช้พื้นที่น้อยแล้วมีรายได้เพิ่มเขาถึงจะทำด้วย เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ให้ได้ ที่สำคัญ คือ จะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจนั้นจะต้องสร้างในทุกระดับชั้นตั้งแต่รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น จนถึงระดับชุมชน รวมทั้งจะต้องมีการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสร้างความเข้าใจ เรียนรู้แล้ว ความรู้ก็จะขึ้นมาอีกระดับ แต่อย่าไปคิดว่ารู้หมดไม่มีทาง การเรียนรู้ต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป แต่เราต้องเรียนรู้จากชาวบ้านก่อน

"โครงการตามแนวพระราชดำริมีอยู่สี่พันกว่าโครงการ คนไปดูกันเยอะแยะ แต่ไม่เอาไปปฏิบัติ ตรงนี้ คือ เส้นผมบังภูเขา และส่วนใหญ่เป็นการทำแบบบนลงล่าง แต่ของเราทำจากล่างขึ้นบน ประสานกับรัฐบาลกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น แต่ถ้าปราศจากชุมชน ชุมชนไม่เอากับเราก็ไม่สำเร็จ ถ้าสามด้านอย่างหนึ่งไม่เอามันก็ไม่เกิด"

เมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องกลับไปที่รากหญ้า นำทฤษฎีเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะต่อไปคนจะไม่ซื้อสัตว์ที่เลี้ยงหรือพืชที่ปลูกด้วยสารเคมี เราต้องหนีให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็อยู่รอดอยู่อย่างพอเพียง ปีที่สามปีที่สี่จะอยู่อย่างพอเพียง ที่สำคัญคือหมดหนี้

"โมเดลนี้ต้องดูเรื่องคน ปลูกป่าอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าปลูกป่าอย่างเดียว ก็เท่ากับไปยึดที่ทำกินชาวบ้าน เพราะป่าที่ถูกทำลาย คือ ที่ดินทำกินของชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องทำป่าเศรษฐกิจ ลงไปสำรวจข้อมูล เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรมาเป็นเกษตรกรรับจ้างให้รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ถ้าทำแล้วที่ไหนไม่มีป่าเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องไม่สำเร็จ ต้องมีป่าเศรษฐกิจมารองรับ ซึ่งตามกฎหมายที่มีอยู่ทำได้ แต่อย่าคิดว่าโมเดลแบบนี้ทำได้ทุกแห่ง ไม่ได้ ต้องเอาไปปรับใช้"

ส่วนการผลิตสินค้าก็จะต้องจะดูตลาดเป็นตัวตั้ง เอาราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ย้อนหลังมาพิจารณา เพื่อดูแนวโน้มว่าราคาเป็นอย่างไร ชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบ แล้วให้ชาวบ้านตัดสินใจเอง ว่า อดีตเป็นอย่างนี้ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำแบบนี้ ขายแล้วจะกำไรเท่าไร เมื่อเทียบกับพืชตัวอื่นแล้วเป็นอย่างไร

"คุณเลือกว่าจะปลูกอะไรผมไม่บอกคุณ แต่เราปลูกกันบนกระดาษ เมื่อปลูกกันบนกระดาษ ชาวบ้านจะเห็น แต่ที่ผ่านมา ไม่มีใครเขาไปสอนเขาอย่างนี้ ดังนั้น จะต้องช่วยให้วางแผนการเพาะปลูกด้วย ต้องฉลาดคิดย้อนหลังมองข้างหน้า สถานการณ์ตลาดโลก แล้วเอามาใช้ให้เห็น"

นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนให้ชาวบ้านเข้ามาถือหุ้นก็มีส่วนสำคัญ ต้องทำให้ชาวบ้านรู้ว่าเงินที่ใส่ลงไปไม่ใช่เงินที่ให้ฟรี เมื่อได้กำไรแล้วก็ต้องคืน เพื่อนำเงินไปทำที่อื่นต่อ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้จะประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้มหาศาล อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ มีงบประมาณสำหรับชุมชนที่จะนำไปใช้ในการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้เอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือ

ม.ร.ว.ดิศนัดดา บอกว่า หากสามารถกระจายโรงงานอุตสาหกรรมออกไปที่ชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามาร่วมถือหุ้นในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะนอกจากจะสร้างความเป็นเจ้าของแล้ว ก็ยังนำความรู้ความสามารถของคนในชุมชนมาใช้ด้วย

"เราต้องพูดกับเอกชน ว่า เมื่อคุณซื้อของจากป่าเศรษฐกิจแล้วเอาไปขายมีรายได้เข้ามา ต้องขอให้กันหุ้น 49% ของบริษัทไว้ให้ชุมชนซื้อ เมื่อชาวบ้านขายของได้ มีกำไรแล้วก็เอาเงินมาซื้อหุ้น มานั่งเป็นกรรมการบริษัทในฐานะตัวแทนของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ พ่อค้าอย่าไปกดขี่ชาวบ้าน พ่อค้าต้องสร้างให้คนมีเงิน เราต้องหาพ่อค้าที่คุณธรรมมาร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ"

"ถ้าทำอย่างนี้ได้ ประเทศเราจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกที่แท้จริง ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราอย่าติดแต่ตามก้นฝรั่ง เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เราควรกลับที่พื้นฐานเกษตรกรรม ถ้ากลับได้โอกาสที่จะเป็นมหาอำนาจเรามี"

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ จะต้องนำความรู้จากโลกมาสู่ชุมชน ควบคู่กับการมองสภาพความต้องการของตลาด มาปรับใช้กับการผลิตสินค้าที่ผลิตด้วยมือ ไม่ใช่เครื่องจักร เพราะสาเหตุที่มีการสร้างเครื่องจักรขึ้นมา เพราะต้องการผลิตสินค้าที่มีราคาถูก หากเราจะนำเครื่องจักรมาใช้ก็จะมีปัญหากับคนที่ไม่มีงานทำ รวมทั้งยังแข่งขันกับประเทศจีนไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องไปมองไปที่ตลาดบน และทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมาตรฐานที่ดี

ม.ร.ว.ดิศนัดดา มองว่า ความพึงพอใจของชาวบ้านในการทำโครงการลักษณะนี้ คงสู้กับโครงการที่รัฐแจกไม่ได้ แต่ถ้าทำอย่างจริงจังไม่ถึง 2 ปีก็เห็นผล บางครั้ง 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็เห็นผลแล้ว โดยย้ำว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่ชาวบ้านรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของแล้วลุกขึ้นมาดูแลกันเอง ส่วนชาวบ้านยึดติดในเรื่องประชานิยม รอหวังพึ่งรัฐ

"ไม่ใช่ทุกคนต้องทำแบบนี้เอาวิธีการที่ทำไปขบคิดแล้วปรับใช้กับสังคมนั้นๆ แต่อย่าก๊อบปี้ไป เอาวิธีการ ดูกระบวนการในการคิด ที่เอาชุมชน เอาคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัวเราเป็นตัวตั้ง ต้องศึกษาจากเขาและเรียนรู้จากเขา" เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ย้ำ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ปลูกป่าปลูกคน แม่ฟ้าหลวง ต้นแบบฟื้นฟูต้นน้ำของรัฐ

view