สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม!

เคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผ่าแผนเคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม-แบงก์รัฐรวย! ความเหลื่อมล้ำการแข่งขัน เสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวที่กำลังถูกสั่นคลอน
แม้ขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปว่า ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ปี 2555 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้หรือไม่ แต่ภาระการหาเงินชำระหนี้ พร้อมดอกเบี้ยก้อนมหึมาตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ "แบงก์ชาติ" เกือบจะเรียบร้อยแล้ว

ภาระอันหนักอึ้งที่ แบงก์ชาติ ถูกยัดใส่มือนี้ คงไม่ใช่งานง่ายเหมือนที่เคยคาดคิดไว้ในช่วงแรก เพราะเดิมแบงก์ชาติ คิดสูตรเรียกเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ จนได้ตัวเลขค่อนข้างชัดเจนว่า หากเก็บอัตรา 0.55-0.6% จะเป็นอัตราที่ "ปลอดภัย" โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาว่าจะหาเงินจากแหล่งใดมาชำระดอกเบี้ยเพิ่มในปีแรกๆ ที่มีกว่า 6-6.8 หมื่นล้านบาท

แต่ฝั่งกระทรวงการคลังโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ต้องการให้เก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพราะจะไปเพิ่มภาระแก่ผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน รวมถึงผู้ถือหุ้น ...ดังนั้น "โจทย์การหาเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้" จึงถูกย้อนกลับมาที่แบงก์ชาติให้ปวดสมองกันอีก

ปัจจุบันหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) มียอดคงค้างรวม 1.14 ล้านล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่เกือบๆ 6% หรือเฉลี่ยปีละ 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ในจำนวนนี้จะทยอยครบกำหนดชำระ และหนี้ก้อนใหม่ที่จะรีไฟแนนซ์ มีดอกเบี้ยลดลง คาดว่าอยู่ที่กว่า 3%  แต่ต้องขึ้นกับฝีมือของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ด้วยว่าจะบริหารหนี้ล็อตใหม่ที่ออกมารีไฟแนนซ์ และมีดอกเบี้ยถูกลงมากน้อยแค่ไหน

สำหรับปี 2555 จะมีหนี้หรือพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ครบกำหนดชำระ ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งพันธบัตรที่ออกใหม่ คาดว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% เศษ ลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยเดิม เท่ากับปีถัดไปจะช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยลงได้กว่า 8 พันล้านบาท ดังนั้นยอดดอกเบี้ยที่ต้องชำระปีถัดไป ซึ่งเป็นปีแรกที่แบงก์ชาติรับภาระจึงตกอยู่ที่ประมาณ  หมื่นล้านบาท

คำถาม คือ แบงก์ชาติจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายดอกเบี้ย!!?

แน่นอนว่า ถ้าไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ธนาคารพาณิชย์จนส่งผลกระทบกับผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และผู้กู้เงิน ตามโจทย์ที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ แบงก์ชาติก็ต้องเก็บค่าธรรมเนียมอัตราเดิมที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งแก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ 0.4% เพียงแต่จะครอบคลุมไปถึงตั๋วบี/อีด้วย จากเดิมที่ตั๋วบี/อีไม่ถูกนับรวม

จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2554 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มียอดเงินฝากคงค้างรวม  7.75 ล้านล้านบาท ขณะที่ตั๋วบี/อี มียอดคงค้างรวม 1.57 ล้านล้านบาท เมื่อรวมยอดเงินฝากและตั๋วบี/อีเข้าด้วยกันจะมียอดรวม 9.32 ล้านล้านบาท

ดังนั้นหากเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบนฐานเงินนี้ที่ 0.4% เท่ากับว่า แบงก์ชาติจะได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งห่างไกลกับดอกเบี้ยที่ต้องชำระร่วมๆ 2.28 หมื่นล้านบาท ...คำถามที่ตามมาคือ แบงก์ชาติ จะหาเงินจากไหนมาโปะในส่วนที่ขาดตรงนี้

หากดูแหล่งรายได้อื่นๆ ที่แบงก์ชาติเคยส่งสัญญาณไว้ว่า จะนำผลตอบแทนที่ได้จากการบริหารทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ และผลการดำเนินงานของแบงก์ชาติกรณีที่มีผลกำไรมาร่วมจ่ายหนี้ก้อนนี้ด้วย แต่ตามข้อเท็จจริง ผลตอบแทนก็ไม่สูงมาก เช่นกรณี ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ เฉลี่ยปีละ 5 พันล้านบาท โดยมาจากผลตอบแทนเงินปันผลจากหุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ หุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนแหล่งรายได้จากการดำเนินงานของแบงก์ชาตินั้น เป็นแหล่งรายได้ที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนแต่ละปี ซึ่งปีใดที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ปีนั้นแบงก์ชาติจะขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ แต่ถ้าปีใดเงินบาทอ่อนค่าลง แบงก์ชาติจะมีกำไร ดังนั้นรายได้จากแหล่งนี้ จึงเป็นเพียง “ตัวแถม” ที่แบงก์ชาตินำมาใช้ คือ ปีใดมีกำไรก็นำมาใช้ชำระหนี้เงินต้น

โดยสรุป คือ แหล่งรายได้ที่แบงก์ชาตินำมาใช้ชำระดอกเบี้ยจากหนี้ก้อนนี้ น่าจะแค่ รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ภายใต้การดูแลของกองทุนฟื้นฟูฯ และรายได้ค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงิน ดังนั้นถ้าคิดค่าธรรมเนียมที่อัตรา 0.4% ซึ่งจะได้เงินประมาณ 3.72 หมื่นล้านบาท รวมกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 5 พันล้านบาท เท่ากับแบงก์ชาติจะมีรายได้รวมเพียง 4.22 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงไม่พอสำหรับจ่ายหนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามสูตรเดิมที่แบงก์ชาติ เคยวางไว้ว่าจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอัตรา 0.55% กรณีนี้จะได้เงินประมาณ 5.12 หมื่นล้านบาท เมื่อบวกกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 5 พันล้านบาท เท่ากับรายได้รวมจะอยู่ที่ 5.6-5.7 หมื่นล้านบาทใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระที่ 6 หมื่นล้านบาท ...สูตรนี้จึงเป็นสูตรที่แบงก์ชาติวางใจในการหาเงินมาชำระหนี้ รวมทั้งสามารถทยอยปรับลดลงได้ในปีหลังๆ หากฐานเงินฝากและตั๋วบี/อีขยายตัวขึ้น

ทั้งนี้ หลังมีกระแสข่าวว่า นายกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วยหากจะเรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่ม จนกระทบกับผู้ฝาก ผู้กู้เงิน และผู้ถือหุ้นนั้น ทำให้แบงก์ชาติ ต้องปรับสูตรคิดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ใหม่ และเคาะตัวเลขออกมาอยู่ที่ 0.52% หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.12%

สำหรับตัวเลข 0.52% นี้ คำนวณจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนิติบุคคล ที่ภาครัฐลดอัตราจาก 30% เหลือ 23% เมื่อตีมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้ส่วนนี้แล้ว เฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.12% ของฐานเงินฝากและตั๋วบี/อีของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากแบงก์ชาติขอเก็บเพิ่ม จากส่วนต่างจุดนี้ ก็ไม่น่ากระทบกับธนาคารพาณิชย์จนต้องผลักภาระไปยังผู้ฝาก และผู้กู้เงิน
 

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขที่ 0.52% แบงก์ชาติจะมีรายได้ประมาณ 4.84 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมรายได้จากผลตอบแทนของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 5 พันล้านบาท เท่ากับแบงก์ชาติ มีรายได้รวมอยู่ที่ 5.34 หมื่นล้านบาท แต่ยังขาดเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อชำระดอกเบี้ยปีแรกๆ ดังนั้นก็คงไม่ที่กระทรวงการคลังจะช่วยอุดหนุนส่วนที่ขาดตรงนี้ในช่วงปีแรกๆ

สำหรับฝั่งของธนาคารพาณิชย์นั้น เรื่องค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเพิ่ม ดูจะไม่เป็นปัญหาหนักเท่ากับปัญหา "ความเหลื่อมล้ำการแข่งขัน"โดยเฉพาะหากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากรวมถึงตั๋วบี/อี ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยปัจจุบันจ่ายอยู่ 0.4% เฉพาะบนฐานของเงินฝาก ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

กรณีนี้ ฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาพบว่า ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มทุกๆ 0.01% จะมีผลให้เงินฝาก  7 พันล้านบาท ไหลออกจากธนาคารพาณิชย์ไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ดังนั้นถ้าแบงก์ชาติเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 0.15% อาจทำให้ยอดเงินฝากไหลออกจากแบงก์พาณิชย์ 1.05 แสนล้านบาท โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์โตเพียง 5% เท่านั้น

"ปัจจุบันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มากกว่าเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพียง 2.5 เท่า จาก 4 ปีก่อนที่เคยมากกว่าถึง 4.2 เท่า ล้อไปกับดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นจึงใช้พฤติกรรมการไหลออกของเงินฝาก จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาประเมินความเป็นไปได้ที่เงินฝากจะไหลออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ” ฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทยประเมินไว้"
 

แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปถึงดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ หากเครื่องมือเหล่านี้ขาดประสิทธิภาพที่ดี ก็คงหนีไม่พ้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ที่อาจถูกสั่นคลอนได้!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : เคลียร์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แบงก์เอกชนอ่วม

view