สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุมไฟแก้รัฐธรรมนูญม.309จุดแตกหัก

สุมไฟแก้รัฐธรรมนูญม.309จุดแตกหัก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


เหตุผลที่พรรคเพื่อไทย ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไฮไลท์ ทำไมต้องรื้อ/ล้ม มาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง
มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ช่วงที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญตอนท้ายๆ ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถกกันว่าเป็นการทำลายหลักการสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เพราะการกระทำใดก็ตามที่เกิดขึ้น "ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้" แต่เมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญ ออกมา ผลคือว่า การกระทำอันนั้น แม้จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ก็ไม่มีองค์กรใด ไปตรวจสอบการกระทำนั้นได้

การพิจารณาของ ส.ส.ร.ในมาตรานี้ มี ส.ส.ร.แปรญัตติว่าไม่ควรจะมีมาตรานี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 36 ได้บัญญัติไว้แล้วว่า บรรดาประกาศและคำสั่งของ คปค.ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในชั้นการแปรญัตติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า ต้องมี มาตรา 309 ไว้ เพื่อรับรองการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549 ทำให้ไม่มีสมาชิกผู้แปรญัตติคนใดติดใจ และการประชุม ส.ส.ร.เพื่อพิจารณามาตราดังกล่าวในวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ก็ผ่านโดยไม่มีการอภิปราย

สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เดินสายชี้แจงตามเวทีสาธารณะว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 309 นี้ พูดถึงสิ่งที่ถูกต้องในปี 2549 ให้ถือว่าถูกต้องต่อไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดให้ผิดต่อไป หรือไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดขอให้ถูก

ถามว่าเขียนแบบนี้ผิดตรงไหน มีบทบัญญัติตรงไหนบ้างที่นิรโทษกรรม คมช. การนิรโทษกรรมได้หมดสิ้นไปแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2549 เพราะรัฐธรรมนูญ 2549 ได้นิรโทษกรรม คมช.ไปแล้ว ในทางกฎหมายจึงไม่ต้องนิรโทษกรรม คมช.อีกต่อไป

มาตรา 309 จึงมุ่งอุดช่องว่างของกฎหมายในปัญหากฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ผิดหลักการการปกครอง "ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน"

นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ระบุต้นตอของ "ความขัดแย้ง" เริ่มแรกที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีซุกหุ้นภาคแรก (2544) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งไม่ชอบธรรม เนื่องจากนำเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 เสียง ที่ไม่ได้วินิจฉัยไปในทางว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิดไปรวมเป็นเสียงข้างมากด้วย

มาตรา 309 อธิบายตามหลัก "กฎหมายปกครอง" ที่ใช้กันทั่วโลก ยึดถือหลัก "รัฐฐาธิปัตย์" คือผู้มีอำนาจบริหารประเทศในช่วงนั้นจะกระทำการออกกฎหมายหรือประกาศใดๆ เพื่อบริหารประเทศ เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้บ้านเมืองลงเหว ย่อมถือเป็น "รัฐฐาธิปัตย์"

ด้าน พีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 309 ที่เป็นต้นตอปัญหาทั้งหมด จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

มาตรา 309 นั้น เป็นเหมือนการ "หนามหยอกอก" เจ้าของพรรคเพื่อไทย ตัวจริง เพราะ "การกระทำที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้"  ถือว่า "ชอบด้วยกฎหมาย" หมายถึง การตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ" หรือ คตส.

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธารรมนูญ 2550 ด้วยการหรือยกเลิกมาตรา 309 จะส่งผลดังนี้

"..การกระทำการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.."

หมายความว่า คดีความเก่าๆ ที่ คตส. สอบสวนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอันต้องเป็น "โมฆะ" ไป เท่ากับว่า สถานะ คตส. และสถานะของคณะรัฐประหาร ที่ดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนปัจจุบัน ไม่มี "กฎหมายรองรับ"

เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ เท่ากับว่า คดีที่ คตส. สอบสวนจนฟ้องร้องนักการเมือง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้แต่การ "ส่งคดีต่อ" ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สอบสวนดำเนินคดีต่อ ก็มีอันต้องเป็น "โมฆะ" ไปด้วย

นั่นคือความปรารถนาของ พรรคเพื่อไทย ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพราะจะช่วย "ล้างมลทิน" ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยังมีคดีสำคัญๆ ค้างอยู่ในป.ป.ช. 4 คดี ประกอบด้วย

1.คดีเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท

2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ

4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังรวมถึงคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี  ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมายกร่างพ.ร.บ.ปรองดอง หรือนัยยะที่แท้จริงคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั่นเอง

นี่จึงเป็นจุดแตกหัก ปลุกให้คนที่รักความถูกต้องลูกขึ้นมาต่อต้านนักการเมือง ที่จ้องแก้กฎหมายให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง




สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : สุมไฟ แก้รัฐธรรมนูญ ม.309 จุดแตกหัก

view