สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความผิดพลาดของนิติราษฎร์

ความผิดพลาดของนิติราษฎร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมลงชื่อพร้อมหลักฐาน คือ สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยมิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของคณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 หรือ ครก.แต่อย่างใด และไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ในทุกข้อ เพียงแต่เห็นด้วยในหลักการโดยรวมว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ และเห็นด้วยในหลักการที่จะต้องมีการปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปศาล แต่เมื่อ ได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้วพบว่า กระบวนการดำเนินการของนิติราษฎร์นั้นยังมีความผิดพลาดอยู่ในบางประเด็น คือ

1. นิติราษฎร์มองประเด็นกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเชื่อว่าเมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมายแล้วย่อมสามารถทำได้โดยไม่สนใจประเด็นอื่นๆ ซึ่งนิติราษฎร์อ้างว่าได้จุดชนวนหรือเสนอประเด็นแล้ว การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของ ครก.ไม่ใช่เรื่องของตนเอง (ทั้งๆ ที่บางคนในนิติราษฎร์ก็เป็น ครก.ด้วย) จึงทำให้เกิดผลประหลาด (absurd) ตามมา เช่น ผู้ที่ร่วมลงชื่อในตอนแรกหลายคนออกมาปฏิเสธว่าเห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเซ็นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายพร้อมกับหลักฐาน เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็คือ กรณีของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่หลายคนออกมารุมประณามอย่างเสียๆ หายๆ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะผมเห็นว่าเป็นตัวตนและสิทธิของเสกสรรค์โดยแท้ กอปรกับในการติดต่อขอรายชื่อนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เพราะโดยปกติในกระบวนการขอรายชื่อเพื่อเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหรือเพื่อออกแถลงการณ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอารายชื่อไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากเอาไปทำแถลงการณ์ก็ต้องมีการเวียนเนื้อหาให้ดูก่อน หากจะให้ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขก่อนเผยแพร่ด้วยก็จะยิ่งสมบูรณ์แบบ

ในกรณีเดียวกับเสกสรรค์นี้ยังหมายความรวมถึงอีกหลายๆ คน ซึ่งผมไม่อยากยกมาเป็นตัวอย่างเดี๋ยวเจ้าตัวผู้ที่เล่าให้ฟังจะเคืองกันเปล่าๆ จึงทำได้เพียงแต่มีเสียงบ่นเบาๆ เพราะไม่อยากให้ไปกระทบต่อการเคลื่อนไหวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแถลงข่าวของ ครก.ครั้งล่าสุด ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลานั้น 112 คนในรายชื่อนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ครก.หรือไม่ ที่สำคัญ ก็คือ หากถือว่าเป็นแล้ว 112 รายชื่อนั้นเห็นด้วยแล้วหรือไม่ อย่างไร หากไม่ถือว่าเป็น ครก.แล้ว 112 คนนั้นอยู่ในฐานะอะไรเพราะหลายคนไม่ได้ลงชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการมองเพียงประเด็นทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมองประเด็นอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ประเด็นทางการเมือง

แม้ว่า วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จะออกมาย้ำอยู่เสมอแม้ในครั้งล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ต่อจอมขวัญ หลาวเพชร ในรายการคมชัดลึกว่ามิใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นแต่เพียงการเสนอความเห็นทางวิชาการก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเสนอให้แก้ไข ม. 112 โดยการเปิดเวทีเพื่อระดมรายชื่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเสนอความเห็นในสื่อต่างๆ นั้น คือ "การเมือง" ตามนิยามศัพท์ทางทฤษฎีรัฐศาสตร์อย่างแน่นอน (การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร -  Politics is,who gets "What", "When", and "How- Harold Lasswell") ซึ่งมิใช่เรื่องที่จะต้องออกมาปฏิเสธเพื่อลอยตัวแต่อย่างใด เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้การรองรับของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว และไม่ต้องกลัวว่าความเห็นทางวิชาการจะถูกแปดเปื้อนจากการเมืองแต่อย่างใด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกมองว่า "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันว่าฝ่ายการเมืองนั้น นิติราษฎร์จะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งในทางบวกและลบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ พรรคเพื่อไทยนั้นไม่เอาด้วยอย่างแน่นอนเพราะพรรคเพื่อไทยย่อมเห็นว่าจะกระทบต่อการเกี้ยเซียะระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพและอำมาตย์ทั้งหลาย ทั้งๆ ที่หากปล่อยสถานการณ์ ม. 112 ไปอย่างนี้จะเป็นผลกระทบต่อสถาบัน แต่พรรคเพื่อไทยยังเลือกที่จะไม่ทำอะไรให้เปลืองตัว

2. นิติราษฎร์กำหนดกลยุทธ์หรือจัดลำดับความสำคัญผิด เพราะในสถานการณ์หลังการรัฐประหารกันยา 49 และตุลาการภิวัตน์ ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะเสนอแนวคิดที่จะปฏิรูปกองทัพและศาล ซึ่งจะสามารถหาแนวร่วมได้มากมายมหาศาลจากผู้ที่ได้รับความคับแค้นใจ หรือขุ่นข้องหมองใจจากการแทรกแซงทางการเมืองขององค์กรทั้งสองมาโดยตลอด แต่นิติราษฎร์กลับจัดลำดับความสำคัญแก่ ม. 112 ก่อน จึงเข้าทางของกองทัพและ (โฆษก) ศาลตลอดจนแนวร่วมที่ต่างก็ดาหน้าออกมารุมสหบาทานิติราษฎร์กันอย่างเมามัน

จะเห็นได้ว่าการที่นิติราษฎร์ออกมาแถลงเกี่ยวกับ ม. 112 ก่อน แรงต้านยังไม่ปรากฏเท่าใดนัก แต่พอไปเสนอปฏิรูปกองทัพและศาลตามมาเลยไปเข้าล็อกของฝ่ายที่เสวยสุขจากการรัฐประหารและพวก Ultra Royalist (ผู้เป็นราชายิ่งกว่าพระราชาธิบดี) ทั้งหลายที่พากันออกมารุมยำนิติราษฎร์เสียเละตุ้มเป๊ะ ซึ่งหากนิติราษฎร์ดำเนินการในทางกลับกันโดยเอาประเด็นปฏิรูปกองทัพและศาลขึ้นมาก่อนแล้วทิ้งช่วงไว้สักระยะหนึ่ง พอประเด็นนี้ติดแล้วจึงค่อยเสนอประเด็น ม. 112 ตามมา หากดำเนินดังที่ว่านี้ผลที่ตามมาก็จะไม่ออกมาเช่นนี้ เพราะเหตุผลที่อ้างความจงรักภักดีย่อมฟังดูดีกว่าการอ้างว่าชื่นชอบรัฐประหารอย่างแน่นอน ยกเว้นคนบางคนแถวบ้านพระอาทิตย์ที่ผีเข้าตอนตรุษจีนที่ออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ แต่ก็ไม่พ้นเรื่องการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเหตุผลเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอยู่ดี

ผมเชื่อว่าการปฏิรูปกองทัพและศาลนั้นถึงแม้จะเป็นงานหิน แต่ก็ง่ายกว่าประเด็น ม. 112 แน่นอน การหวังผลความสำเร็จของงานในลักษณะเช่นนี้ย่อมเริ่มจากงานที่ง่ายไปสู่งานที่ยากเป็นลำดับ เพราะผลแห่งความสำเร็จในงานแรกย่อมเป็นพลังอย่างดีที่จะขับเคลื่อนงานที่ตามมาอย่างแน่นอน

หรืออีกนัยหนึ่งในความเป็นจริงซึ่งเมื่อนิติราษฎร์ได้เสนอประเด็น ม. 112 ไปก่อนแล้ว หากเสนอเพียงประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวโดยไม่รีบด่วนเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปกองทัพและศาลในระยะเวลาตามมาเพียง 2 สัปดาห์ โอกาสที่ประเด็น ม. 112 จะถูกต้านผมเชื่อว่าจะน้อยกว่านี้ และโอกาสที่จำนวนรายชื่อจะถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎรมีมากกว่าปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าแนวความคิดที่จะแก้ไข ม. 112 หรือปฏิรูปกองทัพและศาลจะไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าช้าหรือเร็วต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน หากเมื่อใดประชาชนมีความเห็นสอดคล้องต้องกันแล้ว ไม่มีใครสามารถขัดขืนต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน

ผมไม่เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ด้วยระยะเวลาเพียงชั่วข้ามวันข้ามคืนหรือเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทันที เพราะอะไรก็แล้วแต่เมื่อมาเร็วก็ย่อมไปเร็ว ค่อยๆ คิด ค่อยๆ 90 ทำเป็นขั้นเป็นตอน จัดลำดับกระบวนการขับเคลื่อนให้ดี ความสำเร็จย่อมเป็นอันคาดหมายได้อย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ความผิดพลาด นิติราษฎร์

view