สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นัยของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ต่อเศรษฐกิจไทย

นัยของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ต่อเศรษฐกิจไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การคลี่คลายปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทในช่วงต่อไป จะมีนัยอย่างยิ่งต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทย
ที่อาจจะทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในระยะยาวได้
 

ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า ถ้าเราดูเร็วๆ เผินๆ ภายใต้ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวง การคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ภาระหลักในการชำระหนี้ดังกล่าว จะตกหนักกับภาคธนาคารพาณิชย์แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่กระทบต่อส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจมากนัก แต่เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมลงไปในรายละเอียด ก็จะพบว่า ท้ายสุดผลกระทบก็จะเกิดต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

ภาระที่ซ่อนเร้นอยู่ 3 ประการ
 

1. ภาระต่อภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจจริง สิ่งที่คนไม่ทันเฉลียวใจประการแรก เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้โดยอาศัยการคิดค่าธรรมเนียมจากภาคธนาคารพาณิชย์นั้น ก็คือ ภาระที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเข้ามาแบกรับนั้น มากกว่าที่ทุกคนคิดไว้
 

สิ่งที่ทุกคนได้ยินมา ทำให้ดูเหมือนกับว่าภาระที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มากนัก เพราะปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องรับภาระจ่ายเงินให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นสัดส่วนประมาณ 0.4% ของฐานเงินฝากอยู่แล้ว การที่รัฐจะขอเก็บในอัตราเดิม หรือขอเก็บเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เพื่อนำมาช่วยจ่ายชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่น่าจะเป็นภาระมากมายอะไร
 

แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ อัตราการจัดเก็บเงินนำส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ 0.4% ในปัจจุบันนั้น ถือเป็นอัตราที่สูงมากของโลก และสูงที่สุดในอาเซียน ซึ่งที่เรายังจัดเก็บในอัตรานี้ก็เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากของเราเพิ่งจัดตั้งได้ไม่กี่ปี และเราต้องการที่จะเร่งสะสมเงินกองทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้มีขนาดที่เหมาะสม ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่น และเกิดความสบายใจว่า หากเกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน มีสถาบันการเงินขนาดกลางล้มในระบบ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะสามารถดูแลปัญหาได้ ซึ่งในปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีเงินในกองทุนอยู่แล้วประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และถ้าเก็บต่อไปอีกเพียง 4-5 ปี เงินจำนวนดังกล่าวก็น่าจะเพียงพอกับความต้องการที่ตั้งใจไว้ และอัตราเงินนำส่งดังกล่าวก็น่าจะลดลงมาได้
 

ด้วยเหตุนี้ ภาระที่แท้จริงของการโอนหนี้ครั้งนี้ก็คือ การที่ภาคธนาคารพาณิชย์จะต้องแบกรับการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปนานถึง 20-30 ปี ซึ่งก็หมายความว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบสถาบันการเงินไทยจะอยู่ในช่วงที่อ่อนแอลง มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งในประเทศอื่นๆ ทำให้ความสามารถในการที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจจริงของไทยออกไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ลดลง ซึ่งท้ายสุด ก็หมายความว่า คนไทย บริษัทไทย ประเทศไทย ก็จะต้องเสียเปรียบคู่แข่งในโลกยุคไร้พรมแดนไปอีกนานจากเรื่องนี้
 

2. ภาระต่อโครงสร้างและประสิทธิภาพของระบบการเงินในประเทศ สิ่งที่น่าสนใจก่อนที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะออกมา ก็คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ของภาครัฐ) มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถขยายฐานเงินฝากได้ประมาณปีละ 20% ต่อเนื่องกัน 3 ปี และปีล่าสุดมีเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่ฐานเงินฝากและ B/E ของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 3 ปีดังกล่าว ขยายตัวได้เพียง 2% 7% 14% เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ หมายความว่า ก่อนที่ภาคธนาคารพาณิชย์จะต้องเข้ามารับภาระชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เงินฝากของประเทศได้วิ่งไปที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่แล้ว
 

การที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมารับภาระในส่วนนี้ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่น่ากังวลใจเช่นนี้ ลุกลามขึ้นจากเดิม และถ้าเราไม่ระวังก็หมายความว่า หนึ่งในผลพวงรอบนี้ก็คือ เรากำลังทำให้ระบบเอียงไปหาสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากยิ่งขึ้น และท้ายสุดสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็จะมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินไทย ในการจัดสรรเงินออมของประเทศไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเราต้องถามตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่า “นี่คือสิ่งที่ประเทศต้องการในระยะยาวจริงหรือ” และ “แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะยาวอย่างไร”
 

3. ภาระต่อโอกาสที่ระบบการเงินไทยจะออกไปแข่งกับต่างประเทศในยุคของ AEC และโลกที่กำลังเปิดขึ้น เท่าที่ได้ยินมา ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน กำลังเตรียมการอย่างขะมักเขม้นที่จะปรับตัวเข้าสู่ช่วงการแข่งขันในยุคใหม่ ที่เน้นการทำตลาดเป็นภูมิภาค ภายใต้แนวนโยบายที่จะเริ่มเปิดตลาดการเงินให้กับสถาบันการเงินในภูมิภาคผ่านกรอบของ Qualified ASEAN Banks ที่แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ จะประกาศเกณฑ์ในปีนี้และเริ่มใช้ในปี 2013 ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญของไทย คือ มาเลเซีย ได้ก้าวไปไกลมากแล้ว โดยธนาคารสำคัญของเขาคือ Maybank และ CIMB ต่างเริ่มขยายกิจการก้าวออกไปสู่การเป็นธนาคารภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของ Maybank CIMB รวมไปถึง OSK ของมาเลเซีย ต่างก็เร่งสร้างเครือข่ายในภูมิภาคเช่นกัน
 

ซึ่งถ้าธนาคารพาณิชย์ไทยมีภาระที่ต้องแบกไว้ในช่วงต่อไปเช่นนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ไทยรวมไปถึงบริษัทลูก (ที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย) จะออกไปแข่งขัน ปักธงในต่างประเทศ รวมถึงรักษาความได้เปรียบของเราในบ้านของเราเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งในช่วงต่อไป ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ท้ายสุด จะส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยพลาดโอกาสที่จะเป็นผู้นำในอาเซียนไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งจะมีนัยต่อประสิทธิภาพของระบบ และขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชนไทยในระยะยาว

 
แล้วทางออกคืออะไร       
 

ทางออกมีไม่มาก เพราะถ้าจะพูดไปแล้ว หนี้ก้อนใหญ่ก็คือหนี้ก้อนใหญ่ ถ้าจะให้คนหนึ่งคนใดรับภาระจ่ายชำระหนี้ก้อนนี้แต่เพียงผู้เดียว ก็จะเกิด Stress ในระบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการที่จะบริหารจัดการผลพวงและภาระที่ซ่อนเร้นอยู่ทั้ง 3 ด้านนั้น มีอยู่ทางเดียว ก็คือ (1) ทุกคนต้องช่วยกัน แบกรับภาระนี้ (เท่าที่เป็นไปได้) เพื่อไม่ให้ปัญหาตกหนักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้การชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไม่ใช้เวลานานจนเกินไป รวมไปถึง (2) การออกนโยบายเพิ่มเติม ที่จะช่วยลดการบิดเบือนต่อโครงสร้างทางการเงินในระยะยาว อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการให้สถาบันการเงินมาเป็นผู้รับภาระหลักในการชำระหนี้ก้อนนี้ให้กับทุกคนไปได้บางส่วน
 

ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน เราก็น่าจะสามารถบริหารจัดการให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศอยู่ในระดับที่รับได้ และอนาคตของเศรษฐกิจไทย สถาบันการเงินไทย บริษัทไทย และคนไทย หลังจากเราได้ช่วยกันชำระหนี้ก้อนนี้ไปแล้ว ยังจะพอสดใสอยู่บ้าง ก็ขอเอาใจช่วยให้เราได้คำตอบที่ดีสำหรับประเทศโดยรวมครับ
 

หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร.กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ   


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : นัยของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เศรษฐกิจไทย

view